เลือกตั้งปลุกลงทุนคึก บิ๊กธุรกิจ SCG-WHA เทเงินสู่เศรษฐกิจ

โรดแมปการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นครั้งแรกในรอบ 8 ปีของไทย เป็นปัจจัยบวกหลักที่หนุนความมั่นใจของนักธุรกิจไทยและต่างชาติ นำมาสู่การขับเคลื่อนแผนการลงทุน ซึ่งเป็น 1 ใน 4 เครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจไทยในปี 2562 ให้เติบโตไม่ต่ำกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลมองไว้

อานิสงส์สงครามการค้า

ในมุม “จรีพร จารุกรสกุล” ประธานคณะกรรมการบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) บิ๊กธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ฉายภาพว่า WHA วางแผนการเติบโตในปีนี้ไว้ค่อนข้างสูง เนื่องจากได้เดินหน้าแผนการลงทุนระยะ 5 ปี (2561-2565) และแม้ว่าเศรษฐกิจโลกอาจชะลอตัวจากสงครามการค้า แต่ประเด็นนี้กลับเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม เพราะขณะนี้นักลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วน โดยเฉพาะจีนเริ่มเข้ามาลงทุนกับ WHA อย่างต่อเนื่องกว่า 41% รวมถึงนักลงทุนไต้หวัน แต่ยังไม่สามารถโค่นลูกค้าญี่ปุ่นที่ยังครองเบอร์ 1 ได้

WHA ลุยลงทุน 4.5 หมื่นล้าน

สำหรับแผนการดำเนินงาน 5 ปีนี้ (2561-2565) วางงบฯลงทุนรวม 45,000 ล้านบาท โดยในปีེ จะมีการลงทุนประมาณ 10,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการขยายทุกกลุ่มธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ธุรกิจบริการสาธารณูปโภคและพลังงาน และธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์ม พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) หากสำเร็จตามแผนตั้งเป้าว่าจะมีรายได้เติบโตเฉลี่ย 15% ต่อปี

และที่พิเศษคือทิศทางธุรกิจในปีนี้ 2562 บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโต 70% จากปีที่ผ่านมามูลค่า 11,000 ล้านบาท จากปัจจัยการลงทุนพื้นที่ EEC ทั้งในและนอกนิคมอุตสาหกรรมใหม่ (S-curve) ช่วงไตรมาสแรกปีนี้จะลงทุนร่วมกับ “กัลฟ์” และยังตั้งเป้ายอดโอนที่ดินในปีนี้ไว้ที่ 1,300 ไร่ ขณะเดียวกัน บริษัทก็มีแผนจะเปิดตัวนิคมอุตสาหกรรมในประทศไทยเพิ่มอีก 1 แห่ง ซึ่งจะทำให้ WHA มีนิคมที่ดำเนินการแล้วรวม 11 แห่ง ในจำนวนนี้นิคม 9 แห่งอยู่ในพื้นที่ EEC และอีก 1 แห่งนอกอีอีซี และยังมีการลงทุนนิคมที่เวียดนามอีก 1 แห่ง

ปักหมุดพลังงาน “SPP 1”

ไฮไลต์คือในเดือนกุมภาพันธ์นี้ WHA จะสรุปแผนจัดทำข้อมูลเข้าซื้อบริษัท โกลว์ เอสพีพี 1 จำกัด ซึ่งจากนโยบายแผนพัฒนากำลังการผลิตประเทศ หรือ PDP ฉบับใหม่ภาครัฐ ทำให้บริษัทยังคงเดินหน้าตามแผน โดยปีนี้จะมุ่งเน้นลงทุนพลังงานพร้อมกับร่วมทุนกับพันธมิตร ได้แก่ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) บมจ.โกลว์ พลังงาน (GLOW) และ บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) และยังมีความร่วมมือกับมิตซุยและโตเกียวแก๊สในด้านธุรกิจการจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติที่จะเข้ามาเสริมเป็นบริการใหม่สำหรับลูกค้าของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป รวมถึงเป็นแหล่งรายได้ให้กับบริษัท ส่วนเทคโนโลยีที่ใหม่ ๆ ยังอยู่ภายใต้การศึกษา ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทกริด ระบบการจัดเก็บพลังงานโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซ โซลาร์เซลล์ลอยน้ำ และโรงไฟฟ้าขยะ

ขณะที่ธุรกิจที่เป็นจุดแข็งของ WHA อย่างระบบโลจิสติกส์ก็ยัง “ไม่ทิ้ง” ในปีนี้มีแผนเพิ่มคลังระดับพรีเมี่ยมอีก 2 แสนตารางเมตร เป็น 2.5 ล้านตารางเมตร จากปีก่อน 2.3 ล้านตารางเมตร เพื่อรองรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ การบินและอากาศยาน ควบคู่ไปกับการสร้างมูลค่าสูงขึ้นโดยอาศัยการนำเทคโนโลยีอัจฉริยะและนวัตกรรมเข้ามา ดังนั้น คาดว่า 3 โครงการ อาทิ อีคอมเมิร์ซพาร์ค จ.ฉะเชิงเทรา ดับบลิวเอชเอ-เจดี อี-คอมเมิร์ซ เซ็นเตอร์ จะเสร็จสิ้นเฟสแรกและส่งมอบได้ภายในเดือนกันยายนนี้ รวมถึงขยายการลงทุนไปยังกลุ่ม CLMV เน้นไปที่เวียดนามอย่างเต็มตัว เพราะเวียดนามใต้มีศักยภาพสูง ประกอบกับรัฐบาลเวียดนามให้สิทธิประโยชน์เต็มที่ รวมถึงยังมองอินโดนีเซียด้วย

SCG อัดงบฯลงทุนนวัตกรรม

ขณะที่บิ๊กธุรกิจอีกราย “นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย (เอสซีจี) มองว่า ในปี 2562 จะมีการเติบโตของรายได้ประมาณ 3-5% จากปี 2561 ที่มีรายได้ 478,438 ล้านบาท เป็นผลเนื่องมาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจเติบโตจากภาคการลงทุน ซึ่งในปีนี้ SCG ตั้งงบฯลงทุนรวม 60,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ประมาณ 46,000 ล้านบาท เน้นการลงทุนในธุรกิจสตาร์ตอัพในไทย จีน อินโดนีเซีย และดิจิทัลที่สหรัฐ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจในเครือ ทั้งกลุ่มธุรกิจแพ็กเกจจิ้ง อีคอมเมิร์ซ งานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการลูกค้า โดยจะมีการลงทุนโครงการด้านปิโตรเคมี 20,000 ล้านบาท ด้านธุรกิจแพ็กเกจจิ้งที่ประเทศฟิลิปปินส์ประมาณเกือบ 5,000 ล้านบาท ในช่วง 2-3 ปีจากนี้ไป

โดยจะนำ “เทคโนโลยี” เข้ามาพัฒนาสินค้าสร้างนวัตกรรมใหม่ และเพิ่มศักยภาพในกลุ่มธุรกิจเคมิคอลและแพ็กเกจจิ้งให้มากขึ้น แม้หนทางจะลำบากแต่เชื่อว่าจะได้รับการตอบสนองที่ดีได้ในอนาคต ส่วนกลยุทธ์ในการทำการตลาดจะมีการเพิ่มโซลูชั่นใหม่ ๆ ให้บริการลูกค้ากลุ่มเคมิคอล เช่น การให้บริการสารเคลือบเตาเผาเพื่อประหยัดพลังงานสำหรับอุตสาหกรรม การให้บริการโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบครบวงจร อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าปัจจัยลบเรื่องราคาน้ำมันและวัตถุดิบที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อราคา บริษัทจึงต้องลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุด

หลังจากนี้ ต้องรอดูบทพิสูจน์ว่า SCG จะผลักดันยอดขายโต 3-5% ตามเป้าหมายได้หรือไม่ และ WHA จะขับเคลื่อนแผน 5 ปีไปสู่เป้าหมายได้อย่างไร ซึ่งการขยับของบิ๊กธุรกิจเหล่านี้สะท้อนภาพความมั่นใจของนักลงทุน ส่งสัญญาณบวกของเครื่องยนต์เศรษฐกิจและรายได้ในอนาคต

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!