เวียดนามไล่บี้แข่งแป้งมันไทย แย่งตลาดจีนส่งออกผ่านแดน VAT0%

โรงแป้งโอด ยอดส่งออกครึ่งปีติดลบ 4% เวียดนามจ่อแซง หลังผุด “สมาคมแป้งฯ” อัพเกรดเครื่องจักร 100 โรง ชิงส่งออกผ่านชายแดนเข้าจีน ไม่เสีย VAT 13% สมาคมเร่งเครื่องพัฒนานวัตกรรม-รักษาส่วนแบ่งตลาด

นายบุญมี วัฒนเรืองรอง เลขาธิการ สมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้สถานการณ์การแข่งขันส่งออกแป้งมันสำปะหลังรุนแรงมากขึ้น โดยครึ่งปีแรกปี 2560 ไทยส่งออกแป้งมันได้ 1,583,140 ตัน ลดลง 4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ส่งออกได้ 1,655,761 ตัน เทียบกับคู่แข่งสำคัญอย่างเวียดนาม ซึ่งส่งออกเพิ่มขึ้น 11% ปริมาณ 1,147,221 ตัน จากปีก่อนที่ส่งออกได้ 1,036,620 ตัน โดยตลาดส่งออกหลักของเวียดนามเป็นตลาดเดียวกับไทย เช่น จีน อินโดนีเซีย ไต้หวัน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์

เวียดนามส่งออกได้มากขึ้นผ่านเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่ติดต่อกับจีน ทำให้มีความได้เปรียบ แม้มีการตั้งราคาส่งออกเท่ากับไทย แต่การส่งผ่านชายแดนทำให้ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าเกษตร (VAT) 13% ผู้ซื้อจีนจึงนิยมซื้อจากเวียดนามมากขึ้น เพราะลดต้นทุนไปได้ถึง 40 เหรียญสหรัฐต่อตัน

“หลังจากผู้ส่งออกเวียดนามได้มีการรวมกลุ่ม กันจัดตั้งเป็นสมาคมแป้ง ทำให้มีการพัฒนาแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างผู้ส่งออกมากขึ้น ผู้ประกอบการหลายโรงงานได้ขยายการลงทุนอัพเกรดเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิต มากขึ้น จากเดิมแป้งมันเวียดนามไม่สามารถสู้เรื่องมาตรฐานของไทยได้เลย แต่ตอนนี้เริ่มผลิตได้มากขึ้น โดยเฉพาะแป้งดิบหรือแป้งมันสำปะหลังดิบ (Native Starch) และดึงวัตถุดิบจากกัมพูชาเข้ามาผลิต วัตถุดิบที่ปลูกได้ภายในประเทศเริ่มมีปริมาณไม่เพียงพอ ส่วนแป้งแปรรูปหรือแป้งมันสำปะหลังแปรรูป (Modify Starch) ไทยยังรักษาตลาดไว้ได้ เพราะเวียดนามยังไม่สามารถผลิตได้มาตรฐานเท่ากับไทย” นายบุญมีกล่าวว่า

อย่างไรก็ตาม แนวทางการปรับตัวของผู้ส่งออกไทยในระยะยาว ตอนนี้เริ่มมีการหารือกันในกลุ่มสมาคมว่าจะมีเสนอภาครัฐช่วยส่งเสริมเรื่อง การพัฒนานวัตกรรมอย่างไร เพื่อผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม หนีการแข่งขัน เพราะหลังจากเวียดนามปรับปรุงคุณภาพการผลิตครั้งนี้ ได้กลายเป็นแรงกระตุ้นทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องทำงานมากขึ้น เพราะหากรอช้าความได้เปรียบไทยจะลดลงไปเรื่อย ๆ

สำหรับแนวโน้มการส่งออกแป้งมันสำปะหลังปี 2560 คาดว่ามีโอกาสจะทำให้ภาพรวมพลิกกลับมาขยายตัวเป็นบวก 1% หรือติดลบลดลง จากช่วงครึ่งปีแรกที่ไทยส่งออกแป้งมันลดลง 4% ในด้านราคาขณะนี้ราคาส่งออกแป้งมันเอฟโอบีของไทย ตันละ 320-330 เหรียญสหรัฐต่อตัน ถือเป็นระดับราคาที่ต่ำสุดในรอบ 8-9 ปี

“ปัจจัยสำคัญนอกจากมีปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าขึ้น ประมาณ 3% ทำให้ราคาส่งออกไทยแข่งขันได้ยาก ขณะที่ตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 2 อย่างอินโดนีเซีย มีการหดตัว 36% เพราะอินโดนีเซียสามารถปลูกมันมากขึ้น ทำให้มีซัพพลายเพิ่ม จะทำให้ตลาดที่ไทยส่งออกส่วนนี้หายไปประมาณ 500,000 ตัน”

“กุ้ง-ไก่” ผวาถูกเบียดด้วย

ในที่สุดความน่ากลัวของคู่แข่งอย่าง “เวียดนาม” ก็ฉายภาพชัดเจน วันนี้หลายสินค้าเกษตร ทั้งมัน กุ้ง ไก่เริ่มเบียดไทยแล้ว

นางสาว พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากสำนักงานการค้าระหว่างประเทศนครโฮจิมินห์ ระบุว่า การส่งออกของเวียดนามในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2560 มีมูลค่า 115,200 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 18.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นยอดส่งออกจากบริษัทผู้ผลิตเวียดนาม 32,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 14.6% และเป็นการส่งออกโดยบริษัทต่างชาติที่เข้าไปลงทุนในเวียดนามถึง 83,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 20.3%

โดยตลาดส่งออกสำคัญที่สุด ได้แก่ สหรัฐ เพิ่มขึ้น 9.9% สหภาพยุโรป (อียู) เพิ่มขึ้น 12.8% จีน เพิ่มขึ้น 42.6% อาเซียน เพิ่มขึ้น 27.1% ญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น 20.6% และเกาหลีใต้ เพิ่มขึ้น 26.4%

ขณะที่การนำเข้าเวียดนามมีมูลค่า 118,300 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 20.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการนำเข้าโดยบริษัทของเวียดนาม มูลค่า 46,900 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 18.4% และบริษัทต่างชาติในเวียดนาม 71,400 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 28.1% แหล่งนำเข้าหลัก คือ จีน เพิ่มขึ้น 15.8% เกาหลีใต้ เพิ่มขึ้น 50.8% อาเซียน เพิ่มขึ้น 19.7% ญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น 11.6% สหภาพยุโรป เพิ่มขึ้น 14.8% และสหรัฐ เพิ่มขึ้น 22.7%

ทั้งนี้ ปัจจุบันเวียดนามเป็นคู่ค้าอันดับ 7 ของไทย มีมูลค่าการค้า 6,196.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวขึ้น 25.7% โดยสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง เพิ่มขึ้น 334.1% รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ลดลง 2.88% เม็ดพลาสติก เพิ่มขึ้น 16.82% เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ลดลง 9.40% และน้ำมันสำเร็จรูป เพิ่มขึ้น 59.12%

ผู้เลี้ยงกุ้งวางแผนรับมือ

นาย บรรจง นิสภวาณิชย์ ประธานสมาพันธ์เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีนี้เวียดนามเลี้ยงกุ้งทะเลไม่น่าเกิน 2 แสนตัน หากมีการส่งออกมากกว่าการผลิตแสดงว่ามีการนำเข้ากุ้งจากประเทศต่าง ๆ ไปแปรรูปส่งออกไปตลาดอียู สหรัฐ ที่เวียดนามได้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) รวมทั้งได้สิทธิพิเศษภาษีต่ำจากประเทศที่มีเขตแดนติดกับจีน แต่ขณะนี้เริ่มมีปัญหา เพราะจีนสงสัยเวียดนามนำเข้ากุ้งจากประเทศอื่นมาแปรรูปส่งเข้าจีน ทำให้ได้เปรียบไทย และเวียดนามประกาศตัวเป็นเทรดเดอร์ และตั้งเป้าส่งออกกุ้งแปรรูปในปี 2568-2570 ถึง 1 ล้านตันต่อปี โดยจะเพิ่มพื้นที่การเลี้ยงกุ้งแทนปลูกข้าวที่ได้ราคาต่ำด้วย ดังนั้น ไทยต้องเตรียมตั้งรับให้ดี

แหล่งข่าวจากวงการกุ้งเปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีการส่งออกกุ้งไทยไปยังเวียดนาม เพื่อแปรรูปส่งออก จำนวนมาก เพราะหลังจากเกิดปัญหาโรคอีเอ็มเอส ผู้เลี้ยงเวียดนามยังไม่ฟื้นตัวได้เร็วเหมือนผู้เลี้ยงไทย

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมอาหารเวียดนามเป็นประเทศที่น่ากลัวมาก เพราะเติบโตมาทีหลังไทย แต่วันนี้เท่ากับไทยแล้ว โดยเวียดนามนำเข้าข้าวโพดจากต่างประเทศปีละ 5 ล้านตัน เพราะยังปลูกไม่ได้ ตอนนี้เร่งปลูกและใช้ข้าวโพดตัดแต่งพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) ขณะนี้โรงงานไก่เวียดนามได้รับใบอนุญาตจากญี่ปุ่นแล้ว และค่าจ้างแรงงานเวียดนามเพียง 1 ใน 3 ของไทย นี่คือสิ่งที่คุกคามธุรกิจ !