“สศอ.” ชี้อุตฯรถ น้ำตาล ปิโตรเลียม ท่องเที่ยว ดันดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ม.ค.62 แตะ 107.99 โต 0.18% เศรษฐกิจไทยยังสดใส

นายณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมกราคม 2562 อยู่ที่ระดับ 107.99 ขยายตัว 0.18% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนส่งผลให้ MPI เติบโตต่อเนื่อง 4 เดือนติดต่อกัน และยังเป็นค่าดัชนีสูงสุดในรอบ 10 เดือนนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2561 สอดรับกับอัตราการใช้กำลังผลิตเดือน ม.ค.2562 อยู่ที่ 70.47% สูงสุดในรอบ 7 เดือน บ่งชี้สัญญาณเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยที่ยังคงมีการขยายตัว โดย สศอ.ยังคงคาดการณ์อัตราการเติบโตทั้ง MPI และ GDP ภาคอุตสาหกรรมปี 2562 จะขยายตัว 2-3%

เป็นผลมาจากการขยายตัวต่อเนื่องของอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ MPI ม.ค.2562 มีการเติบโต 8.69% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมาจากรถปิกอัพ 1 ตัน รถยนต์นั่งขนาดกลาง และรถยนต์ขนาดเล็ก ตามการขยายตัวของตลาดในประเทศเป็นหลักโดยเป็นผลจากการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่, เครื่องปรับอากาศ MPI ขยายตัวเพิ่มขึ้น 15.94% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศขนาดเล็กประหยัดพลังงาน โดยตลาดในประเทศขยายตัว 23.81% และตลาดต่างประเทศขยายตัว 9.98% ซึ่งเป็นผลจากการขยายตลาดในประเทศอิรัก เวียดนาม และอินโดนีเซีย

อุตสาหกรรมน้ำตาล MPI ขยายตัว 3.56% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุมาจากโรงงานทุกแห่งเร่งผลิตให้ทันกับปริมาณอ้อยที่เข้าหีบ อุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัว 1.59% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนจากน้ำมันอากาศยาน แก๊สโซฮอล์ 95 ซึ่งมาจากการท่องเที่ยวที่เติบโต และอุตสาหกรรมยาที่เติบโต 9.51% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลิตภัณฑ์ประเภทยาเม็ด ยาน้ำ และยาครีม เป็นต้น

ส่วนอุตสาหกรรมที่ส่งผลลบ ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ MPI การผลิตหดตัว 5.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการส่งออก HDD ที่ลดลงจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าที่การผลิตหดตัว 7.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากการที่ราคาไม่สามารถแข่งขันกับเหล็กนำเข้าได้ เป็นต้น

“สิ่งที่ต้องจับตาคืออัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทของไทยที่มีทิศทางแข็งค่าเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งทางการค้า รวมถึงกรณีที่สหรัฐประกาศเลื่อนการขึ้นภาษีศุลกากรสินค้านำเข้าจากจีนเดิมวันที่ 1 มี.ค.62 มูลค่า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐเลื่อนออกไป ซึ่งจะเป็นผลดีต่อไทยแต่จะต้องติดตามว่าที่สุดจะเป็นอย่างไรด้วย” นายณัฐพลกล่าว

สำหรับความคืบหน้าของบริษัทรถยนต์ที่ตอบรับการเข้าร่วมผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ทุกคนให้เป็นมาตรฐานยูโร 5 ภายในปี 2564 ล่าสุดมีบริษัทรถยนต์ตอบรับการเข้าร่วมดำเนินการนโยบายดังกล่าวรวมแล้ว 10 ยี่ห้อ โดยล่าสุดที่ตอบเข้าร่วม คือ นิสสัน จากก่อนหน้านี้มี 9 ยี่ห้อ คือ บีเอ็มดับบลิว จีเอ็ม อีซูซุ มาสด้า เมอร์ซิเดสเบนซ์ มิตซูบิชิ เอ็มจี ซูซูกิ และโตโยต้า