“พาณิชย์” เผยให้รง.สกัดรับซื้อผลปาล์มสดจากเกษตรกรในราคากิโลกรัมละ 3-3.25 บาท ตั้งแต่ 9 มี.ค.

“พาณิชย์” เผยให้โรงงานสกัดรับซื้อผลปาล์มสดจากเกษตรกรในราคากิโลกรัมละ 3-3.25 บาท ตั้งแต่ 9 มี.ค. ให้ครบภายใน 2 เดือน ตามเป้าหมายซื้อปาล์มน้ำมัน 1.6 แสนตันให้กับโรงไฟฟ้า หลังได้เอกชน 31 รายทำการซื้อขายกับโรงไฟฟ้า

 

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ภายใต้โครงการรับซื้อผลผลิตปาล์มน้ำมันให้กับโรงไฟฟ้า ขณะนี้ได้จำนวนผู้เสนอขายน้ำมันปาล์มดิบปริมาณ 1.6 แสนตัน เพื่อให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำไปผลิตไฟฟ้าครบแล้ว โดยมีผู้เสนอขายรวมทั้งสิ้น 31 ราย มากสุดจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี รองลงมา คือ กระบี่ ตรัง ปัตตานี ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ และชลบุรี โดยโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มที่เสนอขายน้ำมันปาล์มดิบทั้งหมด จะต้องเข้าไปรับซื้อผลปาล์มสดจากเกษตรกรตามสัญญาที่ทำไว้กับ กฟผ. ในราคาที่กำหนดกิโลกรัม (กก.) ละ 3-3.25 บาท ซึ่งจังหวัดที่รับซื้อราคาสูงสุด คือ สุราษฎร์ธานีและชุมพร ที่ 3.25 บาทต่อกก. และให้รับซื้อให้ครบตามสัญญาภายใน 60 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค.2562 ที่ผ่านมา

“ปริมาณน้ำมันปาล์มดิบ 1.6 แสนตัน เมื่อทอนเป็นผลปาล์มสดที่จะต้องซื้อจากเกษตรกร จะมีปริมาณสูงถึง 8.8 แสนตัน และปริมาณดังกล่าว คิดเป็น 70% ของปริมาณผลผลิตที่กำลังออกสู่ตลาด ซึ่งจะส่งผลให้ราคาผลปาล์มดิบปรับตัวสูงขึ้นจากราคา 2.70-2.80 บาทเพิ่มขึ้นเป็นไปตามราคาเป้าหมายกก.ละ 3-3.25 บาทได้”นายวิชัยกล่าว

ทั้งนี้ ผลจากการตัดสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบออกจากระบบ 1.6 แสนตัน จะทำให้สต๊อกปัจจุบันคงเหลือ 2.1 แสนตัน ซึ่งใกล้เคียงกับสต๊อกปกติที่ควรจะมีอยู่ที่ประมาณ 2-2.5 แสนตัน และหากมีการเร่งการใช้ B20 ได้เพิ่มมากขึ้น ก็จะยิ่งช่วยดูดซับปริมาณน้ำมันปาล์มดิบออกจากระบบ โดยปัจจุบันรถบรรทุก รถเมล์ ขสมก. ได้ใช้น้ำมัน B20 เกือบ 100% แล้ว กำลังจะผลักดันให้รถปิกอัพมีการใช้เพิ่ม ซึ่งการเติมน้ำมันก็ไม่ยาก ล่าสุดมีปั๊มที่จำหน่ายแล้วเกือบ 500 ปั๊ม ทั้งปตท. บางจาก เซลล์ ซัสโก้ และพีที และผู้เติมยังได้ส่วนลดจากราคาน้ำมันดีเซลสูงถึงลิตรละ 5 บาท

สำหรับมาตรการดูแลราคาผลปาล์มสดในระยะยาว จะต้องเร่งเพิ่มสัดส่วนการใช้ B20 ให้ได้เพิ่มขึ้น เพราะปัจจุบัน ไทยมีการผลิตน้ำมันปาล์มดิบได้ปีละ 3 ล้านตัน บริโภคในประเทศ 1.2 ล้านตัน และหากใช้ทำพลังงานทดแทน 1.5 ล้านตันตามเป้าหมาย ก็จะทำให้สต๊อกคงเหลืออยู่ระดับปกติประมาณ 2 แสนกว่าตัน ซึ่งจะไม่มีปัญหาในด้านราคา

โดย กรมฯ ยังได้ทำหนังสือถึงผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และห้างสรรพสินค้า ให้จำหน่ายน้ำมันปาล์มบรรจุขวดให้สอดคล้องกับราคาผลปาล์มดิบ เพราะราคาเพาดานอ้างอิงที่ขวดละ 42 บาทในปัจจุบัน ไม่เหมาะสมกับราคาวัตถุดิบ จึงจะไม่มีการกำหนดเพดานราคาจำหน่ายปลีกแนะนำน้ำมันปาล์มอีกต่อไปจนกว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนแปลง ทำให้ผู้ประกอบการต้องจำหน่ายน้ำมันปาล์มในราคาที่เหมาะสม และไม่ควรใช้เพดานราคาดังกล่าวเป็นราคาอ้างอิง แล้วมาระบุว่าเป็นการจัดโปรโมชั่นเพื่อลดราคา โดยควรจะใช้ราคาตามต้นทุนจริง ซึ่งราคาที่เหมาะสมในขณะนี้ควรอยู่ที่ขวดละ 30 บาท เป็นต้น

“กรมฯ ได้จัดทำโครงสร้างการคำนวณราคาประมาณการตั้งแต่ผลปาล์มน้ำมัน น้ำมันปาล์มดิบ และน้ำมันปาล์มบรรจุขวด 1 ลิตร เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ราคาจำหน่ายที่ควรจะเป็นให้สะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริงและสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว โดยจะมีการพิจารณาทบทวนเป็นประจำทุกเดือนหรือทุกครั้งที่ต้นทุนมีการเปลี่ยนแปลง และจะประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ราคาจำหน่ายที่เหมาะสม”