ลูกจ้างรอเก้อ! บอร์ดค่าจ้างกลางเลื่อนเคาะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำออกไป ปลาย เม.ย.62

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานผลการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างกลาง ที่มีนายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน เพื่อพิจารณาและหารือถึงการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2562 ที่จะขอปรับขึ้นตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการ วันที่ 13 มีนาคม 2562 ว่า ที่ประชุมมีมติไม่เห็นชอบการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามที่อนุฯ วิชาการเสนอ

@เลื่อนเคาะค่าจ้างขั้นต่ำปลายเม.ย.

และให้คณะอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด จำนวน 46 จังหวัด ที่ไม่ได้เสนอตัวเลขการขอปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำกลับไปพิจารณา ทบทวน และส่งตัวเลขที่จะขอปรับขึ้นค่าจ้างกลับมาที่อนุวิชาการกลั่นกรองอีกครั้งหนึ่ง จากนั้นจะนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการค้าจ้างช่วงปลายเดือนเมษายน 2562

ทั้งนี้ การที่บอร์ดไตรภาคีตีกลับบัญชีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอัตราใหม่ ให้ 46 จังหวัดเสนอตัวเลขค่าแรงขั้นต่ำที่เห็นควรปรับจากเดิมยังไม่ได้เสนอ นอกจากต้องรอการจัดทำบัญชีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรอบใหม่จากทั้ง 46 จังหวัดแล้ว และต้องให้คณะอุนกรรมการฝ่ายวิชาการกลั่นกรองอีกครั้งหนึ่งแล้ว ยังต้องรอบรรจุเข้าที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างกลางครั้งปลายเดือนเมษายน 2562

@ลูกจ้างรอเก้อ

เท่ากับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำถูกเลื่อนออกไปหลังเดือนเมษายน ซึ่งเป็นช่วงที่จะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และมีรัฐบาลชุดใหม่จากการเลือกตั้ง จึงยังไม่แน่นอนว่าการพิจารณาขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้จะดำเนินการให้เสร็จเรียบร้อยในรัฐบาลชุดนี้ หรือต้องรอดูนโยบายรัฐบาลชุดใหม่ เพราะแม้โดยหลักการการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะเป็นอำนาจของบอร์ดไตรภาคี แต่ในทางปฏิบัติปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องได้รับไฟเขียวจากฝ่ายนโยบายคือรัฐบาลก่อน

@โผเดิม กทม.-ภูเก็ต-ปากน้ำขึ้นสูงสุด

ก่อนหน้านี้คณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการเพื่อพิจารณาได้พิจารณาตัวเลขที่คณะกรรมการค่าจ้างจังหวัด 28 จังหวัดเสนอ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้วิเคราะห์จากปัจจัยต่าง ๆ แล้ว มีมติเสนอบอร์ดค่าจ้างให้ปรับขึ้นค่าจ้างในอัตรา 2-10 บาท/วัน และ 49 จังหวัดที่คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดไม่เสนอให้ปรับขึ้นค่าจ้าง เห็นควรให้ปรับขึ้นในอัตรา 2 บาท/วัน

ที่ได้รับการเสนอให้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำสูงสุดที่ 10 บาท/วัน ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, ภูเก็ต และสมุทรปราการ ปรับขึ้น 7 บาท/วัน ได้แก่ ชลบุรีและระยอง ให้ปรับขึ้น 5 บาท

@โยนลูกรัฐบาลชุดใหม่พิจารณา

ด้าน ผศ.ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ ที่ปรึกษาคณะกรรมการค่าจ้าง กล่าวว่า กระแสข่าวตัวเลขการปรับขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่คณะอนุกรรมการค่าจ้างฝ่ายวิชาการได้เสนอบอร์ดค่าจ้างกลางให้ปรับขึ้นในอัตราที่ไม่สูงมากนัก เฉลี่ยอยู่ที่ 2-10 บาทนั้น โดยส่วนตัวแล้วมองว่าน่าจะเป็นเพราะปัจจุบันสภาวะเศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น หากมีการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างต่ำอย่างรวดเร็ว อาจจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก อีกด้านหนึ่งด้วยสภาวะทางการเมืองที่จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคมนี้ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในครั้งนี้ถือว่าไม่ได้เป็นคุณมากนักต่อฝ่ายรัฐบาล เนื่องจากอาจจะถูกมองว่ามีความเชื่อมโยงหรือเกี่ยวข้องกับคะแนนเสียงการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม คิดว่าถ้าตัวเลขที่คณะอนุกรรมการค่าจ้างฝ่ายวิชาการเสนอบอร์ดค่าจ้างกลางไม่สูงมากนัก อาจจะนำเอาอัตราที่เสนอมานี้เก็บสะสมไว้ จากนั้นเมื่อมีรัฐบาลชุดใหม่ค่อยพิจารณาปรับค่าจ้างขั้นต่ำอีกครั้งหนึ่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรอบบัญชีที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ประกาศเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2561 มีทั้งหมด 7 อัตรา ตั้งแต่ 8-22 บาท โดย 3 จังหวัดปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสูงสุดเป็น 330 บาท/วัน ได้แก่ ภูเก็ต, ชลบุรี และระยอง ปรับขึ้นเป็น 325 บาท 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ, นครปฐม, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร และฉะเชิงเทราปรับเป็น 320 บาท 14 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี, สุพรรณบุรี, สระบุรี, พระนครศรีอยุธยา, หนองคาย, ลพบุรี, ตราด, ขอนแก่น, สงขลา, สุราษฎร์ธานี, กระบี่, เชียงใหม่, นครราชสีมา และพังงา และที่ปรับขึ้นต่ำสุดที่ 308 บาท ได้แก่ นราธิวาส, ยะลา และปัตตานี เฉลี่ยรวมอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศปัจจุบันอยู่ที่ 315.97 บาท

 

คลิกอ่าน >>>> ลูกจ้างรอเก้อ! บอร์ดค่าจ้างกลางยืดเวลาขึ้นค่าแรงขั้นต่ำออกไป คาดพิจารณาใหม่ปลาย เม.ย.62

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!