หวั่นรถ EV ไม่โตตามคาดสถานีชาร์จรอเก้อ “กองทุนอนุรักษ์พลังงานฯ” จ่อปิดโครงการหนุนลงทุน

หวั่นรถ EV ไม่โตตามคาดสถานีชาร์จรอเก้อ “กองทุนอนุรักษ์พลังงานฯ” จ่อปิดโครงการหนุนลงทุน ใช้สิทธิ boi ดีกว่า

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการสนับสนุนการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้า(Charging Station) สำหรับหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจและเอกชนรองรับยานยนต์ไฟฟ้า(EV) ภายใต้การสนับสนุนงบจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ว่า ตั้งแต่เปิดรับสมัครผู้ประกอบการเข้าโครงการเมื่อเดือน ต.ค.2559 จนถึงปัจจุบันมีจำนวนสถานีมากพอแล้ว จึงเตรียมจะปิดรับสมัครเร็วๆ นี้ เพราะเอกชนสามารถลงทุนติดตั้งสถานีได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องของบสนับสนุนจากรัฐ หรือขอรับสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) แทน

“ตั้งแต่เปิดรับสมัครเข้าโครงการ 6 รอบมีผู้สนใจยื่นขอรับเงินสนับสนุนประมาณ 80 -81 หัวจ่าย แม้จะต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 100 หัวจ่ายในปีนี้ ซึ่งปรับลดลงจากเป้าหมายเริ่มต้นโครงการตั้งไว้ที่ 150 หัวจ่าย แต่เมื่อจบการเปิดยื่นให้รอบที่ 6 ในปีนี้ ก็จะไม่เปิดโครงการรอบใหม่ ดังนั้นงบประมาณส่วนที่เหลือคงจะต้องส่งคืนกองทุนฯ”

ทั้งนี้ ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย PDP 2018 (ปี 2561-2580) มีแผนจัดหาไฟฟ้ารองรับรถยนต์ EV ที่คาดจะมี 1.2 ล้านคันตลอดแผน ซึ่ง สนพ.ยังคงติดตามจำนวนรถ EV อย่างใกล้ชิดว่าจะเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใดในแต่ละปี เพื่อให้การจัดหาไฟฟ้ารองรับได้ทัน รวมทั้งจะมีการทบทวนแผน PDP ทุก 3-5 ปี

นายยศพงษ์ ลออนวล นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า สมาคมฯ ได้รับมอบหมายให้ดำเนินโครงการส่งเสริมให้หน่วยงานรัฐและเอกชนจัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าด้วยงบสนับสนุนจากกองทุนอนุรักษ์ฯ โดยในส่วนของหน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจจะได้รับเงินสนับสนุน 100% เอกชนได้รับการสนับสนุนแบ่งเป็น 3 รอบ รอบแรกสนับสนุน 70% ของวงเงินลงทุน รอบ 2 สนับสนุน 50% และรอบ 3 สนับสนุน 30% โดยจากการเปิดดำเนินการตั้งต.ค.59-พ.ค. 62 ได้เปิดให้ยื่นรวม 6 รอบรวมคาดว่าจะได้ทั้งหมดประมาณ 80-81 หัวจ่าย รวมเงินสนับสนุนประมาณ 46 ล้านบาท จากเงินที่ได้รับสนับสนุนทั้งสิ้น 47 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาได้ทยอยก่อสร้างสถานีตรวจรับแล้วกว่า 50% เร็วๆ นี้จะเร่งให้เสร็จทั้งหมด

“จากการประเมินภาพรวมขณะนี้พบว่าสถานีชาร์จรถอีวีเป็นการลงทุนของทั้งเอกชนและรัฐเกินกว่า 500 หัวจ่าย เทียบกับปริมาณรถยนต์อีวีที่ยังมีหลักหมื่นถือว่าเกินไปมาก ดังนั้นการลงทุนส่วนนี้เริ่มมีปัญหา หากปริมาณรถยนต์อีวียังคงไม่ขยายตัวมากนัก การเติบโตของสถานีชาร์จรถอีวีเองก็จะไม่สามารถไปต่อได้ ดังนั้นรัฐจำเป็นต้องกระตุ้นให้มีการใช้และผลิตเพิ่มขึ้น”

นายมนู เลียวไพโรจน์ ประธานบริหาร บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย(ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่ายูบีเอ็ม ยังร่วมกับ สนพ. จัดงาน ASEAN Sustainable Energy 2019 ครั้งที่ 29 ขึ้นระหว่างวันที่ 5-8 มิ.ย.2562 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา เพื่อจัดแสดงนวัตกรรมพลังงานใหม่ๆ อุตสาหกรรมพลังงานาทางเลือก พร้อมเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ทันสมัยกว่า 1,200 แบรนด์ชั้นนำของโลกจาก 45 ประเทศ และ 8 พาวิลเลียนนานาชาติ ได้แก่ เยอรมัน สวิสเซอร์แลนด์ สหรัฐ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไต้หวัน จีน และเกาหลี คาดจะมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 25,000 คน โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มภูมิภาคอาเซียน