บอร์ดแข่งขันฯหวั่นโครงการท่อร้อยสายใต้ดิน โดยกรุงเทพธนาคม อาจเข้าข่ายผูกขาด เตรียมประสาน กสทช.วางมาตรการกำกับดูแล

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า กรณีโครงการท่อร้อยสายใต้ดินของกรุงเทพมหานคร ตามที่ปรากฎเป็นกระแสข่าวในสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อออนไลน์ กรณี “โครงการท่อร้อยสายใต้ดินของกรุงเทพมหานคร” ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบการดำเนินการตามโครงการดังกล่าวเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2562

โดยกรุงเทพมหานครได้มอบให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ซึ่งเป็นวิสาหกิจของกรุงเทพมหานครที่มีหน้าที่
ในการดำเนินธุรกิจสาธารณูปโภคด้านระบบขนส่ง ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านสังคม เป็นผู้ดำเนินโครงการดังกล่าว ในลักษณะให้เอกชนรายเดียวเป็น “ผู้ดำเนินการบริหารจัดการท่อร้อยสายใต้ดิน” ระยะเวลา 30 ปี เข้าลักษณะเป็นการผูกขาด กีดกันการแข่งขันทางการค้า

ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า กล่าวว่าในแง่มุมของการแข่งขัน
ทางการค้าการดำเนินการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ ซึ่งมีลักษณะเป็นการผูกขาดโดยธรรมชาติ ต้องใช้จำนวนเงินลงทุนสูง เช่นเดียวกับสาธารณูปโภคพื้นฐานอื่นๆ เช่น ระบบไฟฟ้า ระบบประปา ระบบขนส่งสาธารณะ โดยปกติเป็นหน้าที่ของรัฐต้องพึงจัดหาให้แก่ประชาชน เนื่องจากเป็นบริการสาธารณะที่มุ่งให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมเป็นสำคัญ

ดังนั้น ในกรณีที่กรุงเทพมหานครได้ให้เอกชนเพียงรายเดียวได้รับสิทธิ์ในการบริหารจัดการเป็นระยะเวลายาวนานถึง 30 ปีโดยยังไม่มีเงื่อนไขใดๆ ในการกำกับดูแลนั้น ตามหลักของการแข่งขันจะเป็นการสร้างอำนาจตลาด (Market Power) และอำนาจต่อรอง (Bargaining Power) ที่จะส่งผลกระทบต่อการเข้าสู่ตลาด การเข้าถึงบริการ และราคาค่าบริการของท่อร้อยสายใต้ดิน ในระยะยาว

“หากไม่มีการบริหารจัดการที่เหมาะสม ก็จะทำให้เกิดปัญหาเชิงโครงสร้างและเชิงพฤติกรรมที่กระทบต่อความเป็นธรรมในการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่มีอยู่ จะนำไปสู่การผูกขาดตลาดในธุรกิจดังกล่าวได้”

สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าของประเทศ จึงเห็นว่าการดำเนินการของกรุงเทพมหานครควรจะต้องพิจารณาว่าการให้เอกชนเพียงรายเดียว
ซึ่งเป็นผู้ให้บริการในตลาดกิจการโทรคมนาคม และมีความได้เปรียบในการให้บริการ ทั้งความได้เปรียบเชิงศักยภาพและเชิงพื้นที่ โดยสามารถดำเนินกิจการได้นานกว่า 30 ปีนั้น จะสร้างทางเลือกในการใช้บริการและทางเลือกด้านราคามากน้อยเพียงใด กรณีจะเป็นการจำกัดและสร้างอุปสรรคในการแข่งขันระหว่างผู้ใช้บริการรายอื่นที่อยู่ในตลาดเดียวกันหรือไม่

นอกจากนี้จะต้องคำนึงถึงผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายว่าจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากการดำเนินการดังกล่าวโดยไม่ถูกจำกัด กีดกัน หรือกำหนดเงื่อนไขทางการค้าหรือราคาที่เป็นอุปสรรคต่อการแข่งขันอย่างไร โดยควรจะต้องกำหนดเงื่อนไขการให้สิทธิ์ที่ชัดเจน ป้องกันมิให้เกิดลักษณะพฤติกรรมที่อาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนการแข่งขันทางการค้า

ทั้งนี้ สขค.จะประสานงานอย่างใกล้ชิดกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ในการกำกับดูแล เพื่อป้องกันมิให้เกิดพฤติกรรมทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมในการดำเนินโครงการการบริหารท่อร้อยสายดังกล่าวต่อไป