เกษตรฯเจียดงบ 712 ล้านบ. ขุดบ่อในไร่นาเพิ่มอีก 4 หมื่นแห่ง เป้า 1 ล้านไร่ แก้ท่วมแล้ง

กรมพัฒนาที่ดิน ทุ่ม 712 ล้านบาท  ขุดบ่อเพิ่ม 4 หมื่นบ่อ ในปี’63 รอรับน้ำฝน  หลัง 5 แสนบ่อก่อนหน้า เก็บน้ำได้กว่า 524 ล้านลบ.ม.  พื้นที่ได้รับประโยชน์มากกว่า 1 ล้านไร่

ภัทราภรณ์ โสเจยยะ รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน

นางสาวภัทราภรณ์ โสเจยยะ รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า  ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มอบหมายให้กรมพัฒนาที่ดิน จัดทำโครงการแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน โดยการขุดสระน้ำไร่นา ขนาด 1,260 ลูกบาศก์เมตร หรือบ่อจิ๋ว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในพื้นที่ทำการเกษตรนอกเขตชลประทาน และในพื้นที่ระบบส่งน้ำไปไม่ถึง ถือเป็นการเพิ่มผลผลิตและรายได้แก่เกษตรกร

อีกทั้งยังเป็นการบรรเทาปัญหาภัยแล้งให้กับเกษตรกร โดยใช้งบประมาณ ปี 2563 มีเป้าหมายในการขุดสระน้ำไร่นา 40,000 บ่อทั่วประเทศ มูลค่ากว่า 712 ล้านบาท ทั้งนี้ กรมพัฒนาที่ดินจะจ่ายให้เกษตรกร 17,800 บาทต่อบ่อ โดยเกษตรกรมีส่วนร่วมในการออกค่าใช้จ่ายสมทบ 2,500 บาทต่อบ่อ ซึ่งขณะนี้ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการครบตามเป้าหมาย 40,000 รายแล้ว

ทั้งนี้ การขุดเจาะบ่อดังกล่าวจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนฤดูฝน โดยหลังจากนี้ทางกรมฯ จะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปสำรวจความต้องการของเกษตรกรคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 2-3 เดือน ซึ่งจากคำขอทั้งหมดทั่วประเทศพบว่าส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมีการยกเว้นคำขอในพื้นที่ภาคกลาง 11 จังหวัด ส่วนนโยบายการโอนที่สาธารณะที่มีความสามารถในการกักเก็บน้ำไม่เกิน 2 ล้านลูกบากศ์เมตร (ลบ.ม.) ให้โอนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดูแล ซึ่งมีการโอนพื้นที่สาธารณะไปกว่า 300 แห่งทั่วประเทศ โดยหลังจากนี้จะไม่มีการขุดสระในพื้นที่สาธารณะอีก ซึ่งจะเลือกขุดในพื้นที่ของเกษตรกรที่มี โฉนดที่ดิน นส.3 และส.ป.ก. เท่านั้น

สำหรับ โครงการก่อสร้างแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน ดำเนินการตั้งแต่ปี 2548-2562 มีจำนวนมากกว่า 500,000 บ่อ ความสามารถก็บกักน้ำได้ 524 ล้านลบ.ม. พื้นที่ได้รับประโยชน์มากกว่า 1 ล้านไร่ มีครัวเรือนได้รับประโยชน์มากกว่า 500,000ครัวเรือน ซึ่งที่ผ่านมากรมพัฒนาที่ดินได้มอบหมายให้สถานีพัฒนาที่ดินทั่วประเทศ ชี้แจงทำความเข้าใจให้ความรู้กับเกษตรกรและสำรวจความต้องการของเกษตรกร ส่วนในปี 2564 คาดว่าจะมีการขุดสระน้ำไร่นาไม่น้อยกว่า 40,000 บ่อ ซึ่งกรมพัฒที่ดิน จะให้การสนับสนุนด้านปัจจัยการผลิตทางการเกษตรตามความเหมาะสม

นอกจากนี้ วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และ ดร. อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยการใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศเพื่อพัฒนานวัตกรรมในด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและโครงการด้านน้ำของประเทศ

โดยนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. เปิดเผยว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาในด้านต่าง ๆ รวมไปถึงด้านการบริหารจัดกรทรัพยากรน้ำด้วย สทนช. และ GISTDA เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้ จึงได้มีความคิดตรงกันที่จะร่วมกันบูรณาการความร่วมมือในการศึกษา ออกแบบ และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ในการวางแผนการบริหารจัดการด้านน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการวางระบบบริหารจัดการน้ำ ให้สอดคล้องตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580)

อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ GISDA

ด้าน ดร. อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ GISDA กล่าวเพิ่มเติมว่า การลงนาม MOU ในวันนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมระหว่าง 2 หน่วยงาน ในการนำองค์ความรู้ของทั้งสองฝ่ายในด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศและด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ มาประยุกต์ใช้ในการวางแผนการบริหารจัดการโครงการด้านน้ำ ซึ่งต่อไปนี้ ภารกิจหลักของ GISTDA จะเป็นรูปแบบของการขับเคลื่อนเชิงนโยบายมากขึ้น โดยได้มีโครงการความร่วมมือกับบริษัทแอร์บัส จากประเทศฝรั่งเศส ออกแบบและพัฒนาแพลตฟอร์มกำหนดนโยบายแบบอัจฉริยะ หรือ AIP (Actionable Intelligence Policy) โดยใช้เทคโนโลยีที่มีศักยภาพและเกิดประโยชน์อย่างสูงสุด