จิรวุฒิ สุวรรณอาจ 7 โรงงานไทยในเขมรแก้เกมอียูตัด GSP

สัมภาษณ์พิเศษ 

“กัมพูชา” ไม่เพียงเป็นตลาดค้าชายแดนที่สำคัญของไทย แต่ยังเป็นแหล่งลงทุนชั้นยอดที่อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นให้เบนเข็มเข้าไปลงทุนเมื่อหลายปีก่อน เพื่อใช้ประโยชน์จากต้นทุนค่าแรงงานและสิทธิประโยชน์ด้านภาษีในการส่งออกไปยังตลาดชั้นนำอย่างสหภาพยุโรป “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์พิเศษ “จิรวุฒิ สุวรรณอาจ” ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เพื่อประเมินทิศทางการค้ากัมพูชาในปี 2563

อียูตัด GSP กัมพูชา

ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์นี้ สหภาพยุโรปจะประกาศผลการพิจารณาเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษี (GSP) ที่ลดภาษีนำเข้าสินค้าทุกรายการ 0% ยกเว้นสินค้าเกี่ยวเนื่องกับอาวุธ (everything but arms) กัมพูชายังมีปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชน ปัญหาแรงงาน การเมืองภายในประเทศ สหภาพยุโรปจึงพิจารณาทบทวนจีเอสพีดังกล่าว แต่ยังอยู่ระหว่างการคาดการณ์ว่ายุโรปจะตัดจีเอสพีทุกรายการสินค้า กลับไปเก็บภาษีในอัตราปกติทันที หรือการทยอยปรับภาษี และเมื่อมีการตัดสิทธิจีเอสพีแล้ว ทางกัมพูชาจะมีเวลาประมาณ 6 เดือนในการปรับตัว

สินค้ากัมพูชาที่ส่งออกอียู

มูลค่าการส่งออกกัมพูชาไปยุโรปเฉลี่ยปีละ 5,000 ล้านยูโร สินค้าส่วนใหญ่ที่ส่งออกไป เช่น สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า ส่วนข้าวถูกตัดสิทธิจีเอสพีไปนานแล้ว หากเก็บภาษีปกติจะทำให้สิ่งทอต้องเสียภาษีนำเข้า 20% ส่วนรองเท้าเสียภาษีนำเข้า 30%

เอฟเฟ็กต์ต่อ รง.ไทยในกัมพูชา

เอกชนไทยที่ลงทุนในกัมพูชาที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการตัดสิทธิจีเอสพี 7 ราย ผลิตสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า ซึ่งมีสัดส่วนและมูลค่าการส่งออกส่วนใหญ่ส่งออกไปยุโรปเป็นหลัก ประมาณ 90% ของมูลค่าการส่งออกทั้งประเทศส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวไปยุโรป ผลกระทบทันทีเมื่อยุโรปตัดสิทธิ์ มูลค่าการส่งออกจะลดลง เนื่องจากเสียภาษีนำเข้าสูงขึ้น

ผลกระทบทางอ้อม คือ ตลาดแรงงาน เมื่อส่งออกสินค้าไม่ได้จะมีผลต่อค่าจ้าง รวมไปถึงโอกาสที่จะตกงานก็เพิ่มขึ้น เมื่อแรงงานรายได้ลดลง การจับจ่ายซื้อสินค้าของกลุ่มดังกล่าวก็จะหายไปด้วย สำหรับค่าแรงในกลุ่มอุตสาหกรรมนี้อยู่ที่ 192 เหรียญต่อเดือนซึ่งเป็นฐานค่าจ้างในอุตสาหกรรม และพิจารณาให้กับแรงงานตามความเชี่ยวชาญไป

มาตรการรับมือ

ผู้ประกอบการไทยที่เข้าไปลงทุน ไม่ได้ส่งออกไปตลาดยุโรปทั้งหมด มีส่งออกไปประเทศอื่นด้วย สำหรับผู้ส่งออกไปตลาดยุโรปต้องปรับตัวเพิ่มสัดส่วนการส่งออกไปตลาดอื่นทดแทนการถูกตัดสิทธิ์ ทางรัฐบาลกัมพูชาอยู่ระหว่างการพิจารณาออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว ทั้งด้านการลดต้นทุนต่าง ๆค่าธรรมเนียม โลจิสติกส์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ อย่างน้อยให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวก่อนถูกตัดสิทธิพิเศษ

นอกจากนี้ยังพบว่า กัมพูชาอยู่ระหว่างเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) กับประเทศจีน เป็นการเฉพาะ จากเดิมมีเอฟทีเออาเซียน-จีน เป็นการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับประเทศ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการหารือ คาดว่าจะเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้นภายในปีนี้ ส่วนรายละเอียดของสินค้าและบริการที่เปิดเจรจา ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มสินค้าเกษตร เช่น ผลไม้ ข้าว ที่ขอให้จีนเปิดตลาดให้เพิ่มเติม เช่น จีนให้โควตาส่งออกข้าวกัมพูชาประมาณ 400,000 ตันต่อปี แต่ยังใช้ไม่เต็ม นอกจากนี้ มีเอฟทีเอกับประเทศอื่น ๆ เช่น เวียดนาม เกาหลีใต้ เป็นต้น

กัมพูชามีเป้าหมายที่จะเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้นให้ได้เฉลี่ยต่อปี 10% โดยสินค้าเกษตรสำคัญของกัมพูชา เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มะม่วงแก้วขมิ้น เป็นต้น ฤดูการผลิตเก็บเกี่ยวใกล้เคียงกัน ตลาดส่งออกสำคัญ เช่น จีน ไทย เวียดนาม เกาหลีใต้ ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

แนะทางออกเอกชนไทย

หากกัมพูชาถูกตัดสิทธิจีเอสพี ผู้ประกอบการไทยอาจต้องเจรจาเจ้าของแบรนด์ที่รับผลิต เพื่อรักษาสัมพันธ์ทางการค้าไว้ รวมไปถึงมองหาตลาดใหม่ทดแทน เช่น แอฟริกา เป็นต้น อย่างไรก็ตาม กัมพูชาก็ยังเป็นตลาดสำคัญ คาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้ จีดีพีขยายตัว7% การลงทุนจากต่างประเทศขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มอสังหาริมทรัพย์จากนักลงทุนจีนมาลงทุนทั้งคอนโดมิเนียม ห้างสรรพสินค้ากาสิโน เป็นต้น เห็นจากราคาที่ดินสูงขึ้น 10-20% คนที่มาซื้อส่วนใหญ่ก็เป็นคนจีน การท่องเที่ยวก็มีการเติบโต

สินค้าไทยยังเป็นที่นิยมของชาวกัมพูชาทั้งอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องแต่งกาย สำนักวางเป้าหมายส่งออกตลาดนี้ว่าจะขยายตัว 5% โดยมุ่งเน้นกิจกรรมส่งเสริมแบรนด์ไทยท็อปไทยแบรนด์ซึ่งจัดต่อเนื่องมา 5 ปี เป็นการเปิดโอกาสให้เอสเอ็มอีได้ทดลองทำตลาดจริง ผลการจัดงานที่ผ่านมาก็ประสบผลสำเร็จ สร้างคำสั่งซื้อ นอกจากนี้มีกิจกรรมอื่น เช่น เปิดเจรจาการค้าระหว่างผู้นำเข้า-ส่งออก กิจกรรมร่วมกับห้างสรรพสินค้า และผลการขยายตัวกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ก็เป็นโอกาสของกลุ่มก่อสร้าง ของตกแต่งบ้าน แต่ไทยก็ต้องคำนึงถึงเรื่องการก๊อบปี้เครื่องหมายการค้าด้วย

แนะนำว่าก่อนทำตลาดควรจะสำรวจตลาดและจดเครื่องหมายการค้า เพื่อจะดำเนินการทางกฎหมายได้ทันทีที่พบการละเมิด