คน.บอกปัดคุมข้าวโพดนำเข้า 3:1 ดีแล้ว – ส.พืชไร่หวั่นถูกพม่าสวมสิทธิ

สมาคมการค้าพืชไร่ รอเก้อ “พาณิชย์” เมินเสียงร้อง “ข้าวโพดเมียนมาถล่มไทยตามกรอบ AFTA-ACMECs”  ยืนตามมติคณะกรรมการนโยบายอาหาร ปัดยังไม่มีคิวทบทวนมาตรการนำเข้าข้าวโพด คาดทั้งปียอดนำเข้าทะลัก 1 ล้านตันแน่ 

แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน  (คน.) ได้มีหนังสือถึงนายกสมาคมการค้าพืชไร่ เพื่อตอบกรณีที่สมาคมได้มีหนังสือร้องมายังรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ขอให้กำหนดมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาราคาและการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้านตามกรอบการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) หลังจากที่พบปัญหาว่ามีข้าวโพดจากเมียนมาทะลักข้ามมาขายในชายแดนแม่สอด จ.ตาก ประมาณ 1-2 ล้านตัน และมีราคาถูกกว่าข้าวโพดไทย กก.ละ 1-2 บาท จึงเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อราคาผลผลิตข้าวโพดหลังนาที่กำลังจะออกสู่ตลาด 

ทั้งนี้ กรมการค้าภายในระบุว่า การพิจารณาอนุญาตให้นำเข้าข้าวโพดเป็นไปตามมติของคณะกรรมการนโยบายอาหาร ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 1/2560 ไปเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2560 เห็นชอบนโยบายและมาตรการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ (กากถั่วเหลือง ปลาป่น และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) คราวละ 3 ปี ตั้งแต่ปี 2561-2563 ทุกกรอบความตกลงการค้าเสรี ไม่ใช่เฉพาะ AFTA แต่ยังรวมถึงความร่วมมือภายใต้ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECs) ซึ่งได้กำหนดภาษีนำเข้า 0% ไว้ จากนั้นกระทรวงได้ออกประกาศเรื่องการนำเข้าข้าวโพดที่ใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์เข้ามาตามกรอบ AFTA ปี 2561-2563 ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2561 แล้ว โดยกำหนดให้นำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ได้รับสิทธิพิเศษทางด้านภาษีศุลกากรต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของกระทรวง กล่าวคือ

1) หากเป็นการนำเข้าโดยองค์การคลังสินค้า (อคส.) ต้องนำเข้าระหว่างวันที่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค.ของแต่ละปี และต้องจัดทำแผนการจัดซื้อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ด้านการผลิต การตลาด ภาวะราคา และความต้องการใช้ เพื่อไม่ให้กระทบต่อราคาผลผลิตในประเทศ

หรือกรณีที่ 2) ผู้นำเข้าทั่วไปต้องนำเข้าระหว่างวันที่ 1 ก.พ.-31 ส.ค.ของแต่ละปี และต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านมาตรฐานควบคุมการนำเข้าตาม พ.ร.บ.ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ปี 2558 ซึ่งเหตุผลสำคัญที่เปิดให้นำเข้าในช่วงเวลาดังกล่าวเพื่อไม่ให้การนำเข้านั้นส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพด้านราคาและเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดของไทย 

“หากจะมีการปรับเปลี่ยนช่วงเวลาการนำเข้าและการแก้ไขระเบียบการนำเข้านั้น ทางคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพด (นบขพ.) และคณะกรรมการนโยบายอาหารจะเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา” 

ขณะที่นายวัฒนศักดิ์ เสือเอี่ยม รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า กรณีที่ทางสมาคมการค้าพืชไร่ยื่นข้อเสนอในการดูแลข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายในประเทศนั้น ทางกรมการค้าภายในได้รับหนังสือข้อเสนอแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาและพิจารณาถึงมาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องและความเป็นไปได้ที่จะดำเนินการ 

“ขณะนี้ยังไม่สามารถให้คำตอบหรือชี้แจงว่าแนวทางในการดูแลหรือมาตรการที่เหมาะสมจะเป็นอย่างไร เนื่องจากข้อเสนอต่าง ๆ ล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องและผลกระทบในหลายภาคส่วน ดังนั้น จึงต้องทำการศึกษาข้อเสนอต่าง ๆ ให้ครบถ้วนและเหมาะสม โดยจะให้ความสำคัญว่าจะไม่ให้กระทบต่อทุกฝ่ายหรือทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง”

อย่างไรก็ดี ภายหลังจากการศึกษาถึงแนวทางการดูแลและมาตรการเป็นไปได้ ซึ่งมั่นใจว่าจะเป็นมาตรการที่เหมาะสมและเข้มข้นขึ้น หลังจากนั้นจะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุม นบขพ. ซึ่งมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานพิจารณาเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมต่อไป  

สำหรับประเด็นที่ทางสมาคมเสนอ ประกอบด้วย 1) ขอให้ภาครัฐตรวจสอบสต๊อกผู้ผลิตก่อนนำเข้าป้องกันปัญหาการลักลอบนำข้าวโพดเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิ์เป็นข้าวโพดไทยเพื่อใช้ประโยชน์ในการคำนวณโควตาซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วน เพื่อนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน (3 ต่อ 1) ซึ่งจะทำให้ปริมาณการนำเข้าข้าวสาลีสูงเกินความเป็นจริง และถูกนำมาเวียนจำหน่ายให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์รายเล็ก 2) ขอลดระยะเวลาที่เปิดนำเข้าข้าวโพดจากอาเซียนตามกรอบ AFTA จาก 7 เดือน ให้เหลือ 5 เดือน เริ่มจาก เม.ย.-ส.ค.

และขอให้ “ขยาย” มาตรการดูแลสัดส่วนการนำเข้า 3 ต่อ 1 จากเดิมที่ใช้เฉพาะข้าวสาลี ให้ครอบคลุมวัตถุดิบทดแทนชนิดอื่น ๆ ทั้งข้าวบาร์เลย์ ข้าวไรซ์ กากข้าวโพด (DDGS) และ 3) มาตรการด้านภาษีนำเข้าวัตถุดิบทดแทน ควรปรับให้สอดรับกับฤดูการผลิต (ตามซีซั่น) ตั้งแต่ 10-27% เช่น ช่วงใดไทยมีผลผลิตข้าวโพดมากก็ให้ใช้อัตราภาษีสูง 27% ส่วนช่วงใดไทยไม่มีผลผลิตข้าวโพดก็ค่อยปรับลดอัตราภาษีลงมาเหลือ 10% และ 4) กรมปศุสัตว์กำหนดมาตรฐานวัตถุดิบอาหารสัตว์ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนในประเทศ