‘ปตท.’ กางแผนลงทุนแก้แล้ง ปรับน้ำเค็มเป็นน้ำจืดผุดธนาคารน้ำใต้ดิน

แล้งไม่สะเทือน ปตท. “ชาญศิลป์” กางแผนศึกษาน้ำเค็มเป็นน้ำจืด จ่อดึงงบฯจากแผนลงทุน 2 แสนล้าน หลัง “GC-ไทยออยล์” นำร่องนำน้ำเค็มทำน้ำจืดก่อน ด้าน IRPC ถก ปตท.สผ.ศึกษาไอเดียพัฒนาธนาคารน้ำใต้ดิน พร้อมเตรียมแผนรับมือน้ำแล้งนิคมใหม่บ้านค่าย ร่วมกับ WHA ก่อนเปิดขายปี’64

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงรอบ 14 ปี ในภาคตะวันออก ส่งผลกระทบรุนแรงต่อทุกภาคส่วนไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจพลังงานและปิโตรเคมี โดยข้อมูลสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ตามโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและการจัดการทรัพยากรน้ำรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (ปี 2563-2580) ระบุว่า EEC มีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำ จากการวิเคราะห์และประเมินความต้องการใช้น้ำในพื้นที่ EEC พบว่า ในอนาคตปี 2580 EEC จะมีความต้องการใช้น้ำ 3,089 ล้าน ลบ.ม. จากปัจจุบันที่คาดว่าจะสามารถเพิ่มแหล่งน้ำอยู่ที่ 2,400 กว่าล้าน ลบ.ม.เท่านั้น เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ราว 670 ล้าน ลบ.ม. จึงจำเป็นต้องมีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพิ่มเติม และต้องขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรม โดยเร็ว ขณะเดียวกันก็ได้รณรงค์ภาคเอกชนให้ขับเคลื่อนเรื่องการประหยัดน้ำคู่ขนานกันไปด้วย 

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท.อยู่ระหว่างศึกษาแผนและพร้อมเข้าร่วมทุนโครงการผลิตน้ำอุตสาหกรรมจากน้ำทะเล หรือนำน้ำทะเลมาทำเป็นน้ำจืด โดยอาจจะอยู่ในส่วนหนึ่งของแผนจัดเตรียมงบฯลงทุนในอนาคต จำนวน 203,583 ล้านบาท 

ทั้งนี้ หากอนาคตรัฐบาลดำเนินโครงการป้องกันปัญหาภัยแล้ง โดยน้ำเพื่ออุตสาหกรรมในภาคตะวันออก ควรพัฒนาแหล่งน้ำด้วยรูปแบบการร่วมลงทุนกับเอกชน (PPP) จะสามารถสร้างความมั่นคงแก่ภาคอุตสาหกรรมได้ในพื้นที่ EEC ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีบริษัทในเครือ อาทิ โรงกลั่นของ บ.ไทยออยล์ และ GCมีการผลิตด้วยระบบนี้ประมาณร้อยละ10-20%  

“ภัยแล้งปีนี้อาจกระทบเกษตรบ้าง แต่ยังไม่กระทบต่ออุตสาหกรรมของเรา เราได้วางแผนทำน้ำบาดาลไว้รองรับ และอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางการนำน้ำเค็มมาผลิตเป็นน้ำจืด เนื่องจากกระบวนการกลั่น อุตสาหกรรมปิโตรเคมีใช้น้ำเยอะ และน้ำมีหลายประเภท น้ำอุตสาหกรรมต่าง ๆ นำมารีไซเคิล ปัจจุบันภาคตะวันออกเรารับน้ำจากบ่อของ ปตท.เอง รวมถึงประแสร์ ดอกกราย หนองปลาไหล และวังโตนด รวมถึงการลดการใช้น้ำลงร้อยละ 20 โดยในส่วนของ GCมีโรงงาน 29 แห่งใน จ.ระยอง มีการวางแผนรับมือมาก่อนหน้านี้แล้วและมีแหล่งน้ำสำรอง มีการรีไซเคิลน้ำที่ใช้แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งเป็นนโยบายของ GCอยู่แล้ว”

นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวว่า บริษัทยังคงเดินหน้าการรีไซเคิลน้ำที่ใช้แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ รวมทั้งผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล ทำให้ประหยัดน้ำได้ถึงร้อยละ 30 มุ่งมั่นในการผลิตเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีเป้าหมายชัดเจนในด้านการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประกอบกับเดินหน้านโยบาย Circular Living เพื่อรักษาทรัพยากร

นายนพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีโรงงานอยู่ใน จ.ระยอง กล่าวว่า ปีนี้รัฐบาลได้เตรียมสำรองน้ำจากวังโตนดมาใช้ใน จ.ระยอง เป็นมาตรการดูแลในช่วง 3 เดือน ก่อนที่ฝนจะมามีท่อเชื่อมต่ออ่างเก็บน้ำต่าง ๆ เพิ่มขึ้นซึ่งถ้าหากเทียบสถานการณ์น้ำปีนี้กับปี 2548 เปลี่ยนไปมาก การบริหารจัดการมีเสถียรภาพมากขึ้น อีกทั้งหลาย ๆ บริษัทมีระบบการนำน้ำทะเลมาทำให้เป็นน้ำจืด เช่น ไทยออยล์และจีซี ซึ่งหากมีการวางแผนการซัพพลายมองข้ามชอตเชื่อมโยงให้เป็นพูลจะส่งผลดี เพราะ
เรื่่องการทำน้้ำเค็มเป็นน้ำจืดมีต้นทุน

“ในระยะยาวการวางแผนกักเก็บน้ำเป็นสิ่งสำคัญ เพราะปัจจุบันน้ำฝนที่ตกลงมาไหลลงทะเล 80-90% ซึ่งเรามีกรรมการบอร์ดท่านหนึ่งเสนอแนวคิดในเรื่องการเก็บน้ำใต้ดิน ทำธนาคารน้ำใต้ดิน ทางเราได้นำไปหารือกับ ปตท.สผ.เพราะเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญในเรื่องการขุดเจาะ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของแนวคิดนี้ร่วมกัน”

นอกจากการเตรียมแล้ว ทางบริษัทยังมีนโยบายมุ่งใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่า โดยนำหลัก 3R มาใช้ หรือ การลดการใช้ (reduce) นำกลับมาใช้ซ้ำ (reuse) และการนำกลับมาใช้ใหม่ (recycle)ก็สามารถประหยัดได้พอสมควร 

นายนพดลกล่าวว่า บริษัทได้ร่วมลงทุนนิคมอุตสาหกรรมกับบริษัท WHA 2 พันไร่ บริเวณ อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ไปก่อนหน้านี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการทำผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่าจะพัฒนาและเปิดขายให้นักลงทุนในต้นปีหน้า ซึ่งนิคมนี้จะเน้นดึงการลงทุนในอุตสาหกรรมประเภทไฮเทคโนโลยีต่าง ๆ
และในแผนการพัฒนานิคมนี้ เราได้วางมาตรการดูแลเรื่องน้ำแล้งไว้ด้วย ต้องมีแผน ปกติทาง IRPC จะมีท่อรับน้ำจากโรงกรองน้ำบ้านค่าย มาใช้ในพื้นที่โดยตรง และมีบ่อน้ำสำรองในพื้นที่นิคมช่วยบรรเทาผลกระทบได้ระดับหนึ่ง”