งานสัมมนาอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร-การปรับตัวสู่นวัตกรรม 4.0 ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม

งานสัมมนา “อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร : การปรับตัวสู่นวัตกรรม 4.0” จัดโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เพื่อเผยแพร่บทวิเคราะห์แนวโน้มเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร สาขาอุปกรณ์การแพทย์ ชี้จุดแข็ง จุดอ่อน และโอกาสทางธุรกิจ รวมถึงกระตุ้นให้ผู้ประกอบการตระหนัก ถึงความสำคัญของการสร้างนวัตกรรมต่อยอดจากข้อมูลสิทธิบัตร เมื่อวันจันทร์ที่ 25 กันยายน 2560 ที่ผ่านมาประสบความสำเร็จ มีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมแสดงความเห็นอย่างล้นหลามกว่า 289 คน แบ่งเป็นกลุ่มผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์50 คน ผู้แทนจากโรงพยาบาล19 คน ผู้แทนจากหน่วยงานวิจัยที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร 89 คน และผู้สนใจทั่วไป 131 คน

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์) กล่าวว่า จากแนวโน้มอุตสาหกรรมระดับโลกในอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร พบว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านการแพทย์ในปัจจุบันได้พัฒนาเพิ่มมากขึ้นอย่างมาก ทั้งในด้านความรู้ทางการแพทย์ที่มีการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เทคนิควิธีในการรักษาใหม่ เครื่องมือ และเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่ ประกอบกับกระแสการส่งเสริมสุขภาพและรักษาสุขภาพ รวมถึงเป้าหมายเชิงนโยบายส่งเสริมสุขภาพขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป้าหมายการพัฒนาสุขภาพอย่างยั่งยืนของโลกปี 2030 (The Sustainable Development Goals (SDGs) of the 2030 Agenda) ซึ่งมุ่งบูรณาการ 3 มิติหลัก ได้แก่ มิติด้านเศรษฐกิจ มิติด้านสังคม และมิติสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดให้ประเด็นสุขภาพเป็นประเด็นหลักของการพัฒนาอย่างยั่งยืนในส่วนของประเทศไทย รัฐบาลมีแผนที่จะผลักดันและสนับสนุนให้เป็น Medical Hub ของอาเซียนภายในปี 2568 โดยให้ความสำคัญในเรื่องหุ่นยนต์ทางการแพทย์และเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงระบบทางการแพทย์ซึ่งคาบเกี่ยวกับอุตสาหกรรมดิจิตัล โดยนำระบบดิจิตัลมาบริหารจัดการโรงพยาบาล การรักษาทางไกล การติดตามดูแลผู้ป่วย เป็นต้น

การวางแผนเพื่อการวิจัยพัฒนาให้ถูกทิศถูกทางโดยอาศัยข้อมูลเชิงประจักษ์ (evidence based) เพื่อให้ได้ผลงานนวัตกรรมที่ตรงตามความต้องการของตลาด เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำเป็นขั้นแรก กรมทรัพย์สินทางปัญญาจึงได้จัดตั้งศูนย์ IP IDE เพื่อให้คำปรึกษาด้านทรัพย์สินทางปัญญาและนวัตกรรมอย่างครบวงจร โดยเฉพาะมีการวิเคราะห์แนวโน้มเทคโนโลยีจากฐานข้อมูลสิทธิบัตรทั่วโลก สามารถตอบโจทย์ความต้องการของทั้งผู้ประกอบการ และนักวิจัย ในการที่จะได้ข้อมูลสำคัญเพื่อการจัดทำแผนกลยุทธการวิจัยพัฒนาเพื่อให้ได้ผลงานการวิจัยที่ตอบโจทย์ ไม่ซ้ำซ้อนกับสิ่งที่ได้มีผู้อื่นวิจัยพัฒนาไว้ และสามารถนำเข้าสู่กระบวนการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้งานวิจัยของประเทศไทย กรมทรัพย์สินทางปัญญาจึงขอเชิญชวนให้ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ 10 อุตสาหกรรม และนักวิจัย ได้เข้ามาใช้บริการของศูนย์ IP IDE ซึ่งตั้งอยู่ที่ ชั้น 4 กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ โทรศัพท์ 02 -547-5026 หรือสายด่วน 1368