ไทยหนุนตั้งคณะทำงานพิเศษ เวที “อมาฟ” ดัน “นโยบายประมงอาเซียน”

ไทยดันตั้งคณะทำงานพิเศษ เวที”อมาฟ” ดัน”นโยบายประมงอาเซียน”พร้อมไฟเขียวยกระดับมาตรฐานสินค้าอาเซียน ชู “ASEAN GAP คู่มือมาตรฐานเกษตรอินทรีย์อาเซียนฉบับใหม่ พร้อมส่งไม้ต่อเวียดนามเจ้าภาพปี’61

​พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ 39 หรือ อมาฟ และการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ กับรัฐมนตรีประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ครั้งที่ 17 หรือ อมาฟบวกสาม ณ โรงแรมเลอเมอริเดียน จ.เชียงใหม่ ว่าการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ สมาชิกทั้ง 10 ประเทศได้เห็นชอบร่วมกันในการยกระดับการผลิตสินค้าเกษตร เพื่อการทำการเกษตรอย่างยั่งยืนในภูมิภาค โดยได้มีมติเห็นชอบรับรองการกำหนดมาตรการด้านสุขอนามัยพืชให้เป็นแนวทางเดียวกันในอาเซียนให้มีความชัดเจนเป็นรูปธรรมมากขึ้น ประกอบไปด้วย พืชสวนอาเซียน อีก 4 ชนิด คือ ข้าวโพดฝักอ่อน ถั่วแขก เห็ดหูหนู และมันเทศ จากในปัจจุบันดำเนินการแล้ว 51 รายการ

การกำหนดค่าสารพิษตกค้างสูงสุดของอาเซียนเพิ่มเติม 7 ชนิด รวมถึงเครื่องมือต่างๆ จะเป็นกลไกในการปฏิบัติงานด้านมาตรฐานสินค้าอาเซียน เช่น การใช้เครื่องมือการประเมินการดำเนินการผลิตทางการเกษตรหรือ ASEAN GAP จัดทำคู่มือมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของอาเซียนที่ประเทศสมาชิกจะได้ยึดเป็นแนวทางเดียวกัน และการกำหนดมาตรการควบคุมการระบาดศัตรูพืชของอาเซียน ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการประเทศเพื่อนบ้านด้วย เป็นต้น

นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนฯ เห็นชอบ คือ การขับเคลื่อนโยบายประมงอาเซียนที่ไทยได้เสนอในการประชุมเมื่อปี 2559 ที่ประเทศสิงคโปร์ โดยในปีนี้ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมเพื่อหารือการศึกษากรอบแนวทางหลักเกณฑ์นโยบายประมงอาเซียน โดยจะใช้กลไกคณะทำงานด้านประมงอาเซียนคณะพิเศษ ซึ่งถือว่าเป็นความสำเร็จก้าวแรกในการผลักดันให้ประเทศภูมิภาคอาเซียนให้ความสำคัญกับการทำประมงยั่งยืนและสร้างความเชื่อมั่นกับประเทศคู่ค้าสินค้าประมงในกลุ่มภูมิภาคอาเซียน ที่เป็นแหล่งผลิตและส่งออกสินค้าประมงที่สำคัญของโลก อาเซียน 10 ประเทศ ผลิตสินค้าประมงได้ประมาณ 20 % ของโลก โดยเอฟเอโอ คาดการณ์ว่าความต้องการสัตว์น้ำในอนาคตจะเพิ่มขึ้น และผลผลิตสัตว์น้ำของเอเชียจําเป็นต้องเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 60 เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภคในปี 2030 ดังนั้น จึงเป็นความจำเป็นต้องมีความร่วมมือกันอย่างจริงจังในการพัฒนาความร่วมมือด้านการประมงของอาเซียน ให้การทำประมงของอาเซียนเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน และสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้กับภูมิภาคและของโลกได้ตามเจตนารมณ์ของอาเซียน

​สำหรับผลการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนฯ กับประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ หรืออาเซียนบวกสาม ที่ประชุมมีมติรับทราบผลการดำเนินงานร่วมกัน โดยรับทราบความก้าวหน้าในการดำเนินงานตามความตกลงของการสำรองข้าวฉุกเฉินของประเทศอาเซียนบวกสาม และสนับสนุนการระบายข้าวแบบให้เปล่าโดยประเทศสมาชิกจะบริจาคเป็นข้าวสารหรือเงินสดต่อไป นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้เริ่มดำเนินงานภายใต้การทำสัญญาซื้อขายข้าวล่วงหน้าด้วย

​ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมืออาเซียนบวกสามด้านอาหาร การเกษตร และป่าไม้ ปี 2559-2568 เพื่อเป็นกรอบความร่วมมือด้านอาหาร การเกษตร และป่าไม้ เพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านอาหาร ส่งเสริมการบริหารจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรและป่า ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ของประชาคมอาเซียน ปี 2568 รวมถึงเห็นชอบให้จัดการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ครั้งที่ 40 และการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้กับรัฐมนตรีของจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 18 ณ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ในปี 2561 อีกด้วย