บ้านปู เพาเวอร์ โชว์ EBITDA เฉียด 3 พันล้าน ครึ่งปีแรกฝ่าโควิดฉลุย

บ้านปู เพาเวอร์ โชว์ EBITDA เฉียด 3 พันล้าน ครึ่งปีแรกฝ่าโควิดฉลุย เตรียมรับรู้รายได้ไฟฟ้าลมเวียดนามเพิ่มในไตรมาส 4 พร้อมลุยขายไฟเชิงพาณิชย์อีก 3 โรงไฟฟ้าในจีน-เวียดนาม-ญี่ปุ่น 451 MW

นายกิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งปีแรกปี 2563 มีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ที่ 2,829 ล้านบาท และมีกำไรจากการดำเนินงาน 2,222 ล้านบาท จากการที่โรงไฟฟ้าทุกแห่งที่สามารถรักษาเสถียรภาพในการจ่ายไฟและตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องแม้จะมีวิกฤติการณ์โควิด-19

โดยคาดว่าจากนี้บริษัทจะขยายกำลังผลิตให้ถึงเป้าหมาย 5,300 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568 จะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในจีนและเวียดนามเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) รวมถึงการลงทุนเพิ่มในโรงไฟฟ้าที่สามารถสร้างกระแสเงินสดได้ทันที อย่างโรงไฟฟ้าพลังงานลมเอลวินหมุยยิน (El Wind Mui Dinh) ในจ.นินห์ถ่วน ซึ่งมีรายได้แล้ว อีกทั้งยังเป็นทำเลที่เหมาะแก่การลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนในเวียดนาม

“ในครึ่งแรกของปี 2563 แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สร้างความท้าทายต่อการดำเนินธุรกิจ แต่บ้านปู เพาเวอร์ฯ ยังสามารถรักษาการเติบโตธุรกิจ ด้วยระบบการบริหารจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจ (BCM) ที่มีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถรักษากระแสเงินสด เห็นจากรายได้จากปริมาณขายไฟฟ้าที่สูงขึ้นจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมในจีน และส่วนแบ่งกำไรจากโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีและหงสา”

ขณะเดียวกัน เรายังขยายพอร์ตการลงทุนให้ได้กำลังผลิตตามเป้าหมาย ล่าสุดก็มีกำลังผลิตเพิ่มขึ้นอีกจากโรงไฟฟ้าพลังงานลมในเวียดนามที่ดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว คาดว่าจะรับรู้รายได้ในไตรมาสที่ 4 ปีนี้

และภายในสิ้นปี 2563 จะมีโรงไฟฟ้า COD เพิ่มอีก 3 แห่ง ได้แก่ โรงไฟฟ้าซานซีลู่กวงในจีน กำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุน 396 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่น 2 แห่ง รวมอีก 25 เมกะวัตต์ ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานลมหวินเจา ระยะที่ 1 ในเวียดนาม กำลังผลิต 30 เมกะวัตต์จะเลื่อนไป COD ในไตรมาส 1/2564 เนื่องจากได้รับผลกระทบเรื่องการขนส่งอุปกรณ์ก่อสร้างจากสถานการณ์โควิด-19

สำหรับผลประกอบการในไตรมาส 2/2563 บ้านปู เพาเวอร์ฯ มีรายได้รวมจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมทั้ง 3 แห่งในจีน 1,061 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อน เป็นผลมาจากปริมาณการขายไฟฟ้าและไอน้ำในเขตพื้นที่ที่โรงไฟฟ้าตั้งอยู่ และจากการปรับตัวลงของราคาต้นทุนถ่านหินในจีน ทำให้บริษัทฯ สามารถรักษากำไรขั้นต้นที่ 12% ได้

โดยราคาต้นทุนถ่านหินเฉลี่ยในไตรมาสนี้อยู่ที่ 540 หยวนต่อตัน ลดลง 11% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีก่อนหน้าที่ราคาถ่านหินเฉลี่ยอยู่ที่ 605 หยวนต่อตัน บริษัทฯ รับรู้ส่วนแบ่งกำไร 806 ล้านบาท

โรงไฟฟ้าบีแอลซีพียังมีผลการดำเนินงานที่ดี มีอัตราความพร้อมจ่ายกระแสไฟฟ้า ( EAF) ที่ 100% โดยรายงานส่วนแบ่งกำไร 489 ล้านบาท ซึ่งรวมผลขาดทุนจากการแปลงค่าสกุลเงินแล้ว 120 ล้านบาท และผลบวกจากภาษีเงินได้รอตัดบัญชี 44 ล้านบาท

ส่วนโรงไฟฟ้าหงสาหน่วยผลิตที่ 3 มีการหยุดเดินเครื่องในช่วงระหว่างปลายเดือนเมษายนถึงเดือนสิงหาคม หลังพบความผิดปกติของบางอุปกรณ์ในเครื่องจักร จึงปรับแผนซ่อมบำรุงใหญ่ เพื่อประสิทธิภาพและเสถียรภาพของการเดินเครื่องในระยะยาว ทำให้รับรู้ส่วนแบ่งกำไรทั้งสิ้น 407 ล้านบาทซึ่่งรวมผลขาดทุนจากการแปลงค่าสกุลเงินแล้ว

ส่วนธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีพลังงาน โดยบริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด รายงานส่วนแบ่งขาดทุน 90 ล้านบาท

“บริษัทฯ ยังคงดำเนินมาตรการอย่างรัดกุมเพื่อความปลอดภัยและสุขอนามัยของพนักงานในทุกประเทศ ทั้งนี้นอกจากการพัฒนาและก่อสร้างโรงไฟฟ้าในจีน ญี่ปุ่น และเวียดนามให้ COD ได้ตามแผนแล้ว บ้านปู เพาเวอร์ฯ ยังคงมองหาโอกาสขยายการลงทุนเพื่อการเติบโตบนพื้นฐานการบริหารงบลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในและต่างประเทศ”

พร้อมกันนี้มุ่งผนึกพลังร่วมกับกลุ่มบ้านปูฯ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งในการวางแผนและพัฒนาธุรกิจผลิตไฟฟ้า โดยเฉพาะการศึกษาความเป็นไปได้การผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติในสหรัฐอเมริกา และโครงการไฟฟ้าจากพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไปที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมก้าวสู่การเป็นผู้นำธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม เพื่อเพิ่มมูลค่าที่ยั่งยืน

ทั้งนี้ นายกิรณ เพิ่งเข้าดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบ้านปู เพาเวอร์ฯ เดือนเมษายน 2563 แต่ก่อนหน้านี้นายกิรณเข้าร่วมงานกับบ้านปูฯ ตั้งแต่ปี 2552 โดยมีส่วนสำคัญในการวางแผนกลยุทธ์การลงทุนของ กลุ่มบ้านปูฯ จากนั้นในปี 2556 นายกิรณได้รับตำแหน่ง Executive Director ที่ Banpu Australia Co Pty Ltd ประเทศออสเตรเลีย เพื่อดูแลการดำเนินธุรกิจถ่านหินให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและลดต้นทุนได้อย่างมีนัยสำคัญ

ก่อนที่ในช่วงปลายปี 2558 จะเข้าดำรงตำแหน่ง President Director ที่ PT Indo Tambangraya Megah Tbk บริษัทลูกของ บ้านปูฯ ที่ประเทศอินโดนีเซีย ช่วยทำรายได้ให้กับบริษัทฯ ที่ 1,600 ล้านเหรียญสหรัฐเฉลี่ยต่อปีทุกปี รวมทั้งกำไรสุทธิกว่า 750 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลอดช่วงเวลา 4 ปีที่ดำรงตำแหน่งนี้

นอกจากนี้ บ้านปู เพาเวอร์ฯ ยังได้นางสาวเบญจมาศ สุรัตนกวีกุล มารับตำแหน่งผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร-การเงิน จากที่เคยร่วมวางรากฐานการเงินให้ธุรกิจบ้านปูฯ ในประเทศจีน มองโกเลีย สิงคโปร์ และ สปป.ลาว ตั้งแต่ปี 2549