หวั่นจีนลงทุน “หลอมอะลูมิเนียม” กระทบไทย

การหลอมอลูมิเนียม ในประเทศเจีน
(file) AFP / China OUT

จีนแห่ตั้งโรงงานหลอมอะลูมิเนียมที่ไทย หลังสงครามการค้ากระทบนำเข้าวัตถุดิบจากอเมริกาไม่ได้ ชุมชนหวั่นมลพิษ วอนรัฐสกรีนเข้ม เอกชนกังวลดัมพ์ราคาไทย ซ้ำรอยเหล็กเส้นต้องคุมกำเนิดตั้งโรงงาน 5 ปี

แหล่งข่าวในภาคอุตสาหกรรมเปิดเผย”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณว่ามีนักลงทุนจีนสนใจลงทุนโรงหลอมอะลูมิเนียมในประเทศไทยมากขึ้นและเร็วกว่าปกติ เนื่องจากจีนไม่สามารถนำเข้าอะลูมิเนียมจากสหรัฐ เพื่อนำมาหลอมได้ ผลจากสงครามการค้าระหว่างทั้ง 2 ประเทศ บวกกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จีนจึงเปลี่ยนแผนการลงทุนโดยเล็งไทยให้เป็นที่ตั้งใหม่ในการหลอมอะลูมิเนียมส่งออกกลับเข้าไปจีนแทนและส่วนหนึ่งขายในประเทศไทย

เพื่อตัดปัญหาที่ไม่สามารถนำเข้าอะลูมิเนียมจากสหรัฐได้ด้วยประเทศไทยมีกำลังการผลิต และความต้องการใช้ยังไม่มาก อาจทำให้รัฐบาลตัดสินใจอนุมัติให้โรงหลอมใหม่จากจีนเข้ามาตั้งในไทยได้ เสี่ยงจะเกิดปัญหาเช่นเดียวกับการย้ายโรงงานเหล็กเส้นจีนเข้ามาตั้งในประเทศไทย ซึ่งบางรายนำเตาหลอมเก่า เช่น เตาหลอมอินดักชั่นมาใช้ ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ

“ที่ผ่านมากลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก และสมาคมเหล็กในประเทศไทย ต่างได้มีความพยายามต่อสู้กันมาโดยตลอดหลายปี เนื่องจากกังวลเรื่องของมลพิษที่จะเกิดในประเทศไทยเอง และการเข้ามาดัมพ์ราคาทำให้ราคาเหล็กตกต่ำลงไปอีก เกิดการแข่งขัน ทำให้เหล็กล้นตลาด จึงเป็นที่มาของคำสั่งประกาศห้ามตั้งหรือขยายโรงงานผลิตเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต หรือเหล็กแท่งเล็กสำหรับเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตทุกขนาดทุกท้องที่ในราชอาณาจักร เป็นเวลา 5 ปีนับจากเมื่อปี 2562 และมีการพิจารณาถึงโรงงานเหล็กลวดด้วยเช่นกัน ล่าสุดเหตุการณ์ดังกล่าวกำลังจะเกิดขึ้นซ้ำรอยอีกครั้งกับโรงงานหลอมอะลูมิเนียม แม้ว่าไทยจะใช้อะลูมิเนียมยังไม่มาก แต่แน่นอนว่าความกังวลเรื่องมลพิษก็จะตามมา”

รายงานข่าวระบุว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ชุมชนรอบโรงงานหลอมอะลูมิเนียม จ.ชลบุรี ได้ร้องเรียนว่าโรงงานดังกล่าวสร้างมลพิษและปล่อยของเสียรอบชุมชน ซึ่งจากการที่กระทรวงอุตสาหกรรมลงพื้นที่ดังกล่าวพบว่า โรงงานมีใบอนุญาต รง.4 ดำเนินการตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม จึงได้กำชับให้โรงงานดูแลจัดการของเสียทั้งเศษฝุ่นจากอะลูมิเนียม และตะกรัน

นายธีรพันธุ์ พิมพ์ทอง ประธานกลุ่มอะลูมิเนียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปัจจุบันอะลูมิเนียมมี 2 ประเภท มีกำลังการผลิตรวม 550,000 ตัน/ปี มูลค่า 60,000 ล้านบาท คือ อะลูมิเนียมชนิดเส้น (ผลิตกรอบประตู หน้าต่าง) ซึ่งมีกำลังการผลิต 290,000 ตัน/ปี มูลค่าตลาด 33,000 ล้านบาท ส่งออก 60,000 ตัน นำเข้า 40,000 ตัน และอะลูมิเนียมชนิดแผ่น (กระป๋องน้ำอัดลม เบียร์) กำลังการผลิต 260,000 ตัน/ปี มูลค่าตลาด 27,000 ล้านบาท

“อะลูมิเนียมชนิดเส้น และชนิดแผ่นถูกสินค้าจีนเข้ามาดัมพ์ราคาต่ำกว่าไทย10-20% ล่าสุดพบว่ามีนักลงทุนจีน 1 รายได้รับการอนุมัติลงทุนผลิตอะลูมิเนียมชนิดเส้นในพื้นที่ภาคตะวันออกมีกำลังการผลิตถึง 30,000 ตัน ยิ่งตอกย้ำให้สถานการณ์ของอะลูมิเนียมแย่ลงไปอีก ไม่ต่างจากเหล็กเส้นและเหล็กลวด ทางกลุ่มอยู่ระหว่างหารือกับภาครัฐเพื่อหาแนวทางป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต”

นายวิโรจน์ โรจน์วัฒนชัย ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ทางประธานกลุ่มอะลูมิเนียม ส.อ.ท. ได้ขอให้รัฐช่วยกันแก้ปัญหา ด้วยมีความกังวลเรื่องการทุ่มตลาดอะลูมิเนียมในประเทศไทย ซึ่งเป็นวิกฤตเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมเหล็กเส้นและเหล็กลวด

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ปัจจุบันมีโรงงานหลอมอะลูมิเนียมที่ได้รับใบอนุญาต รง.4 ทั้งหมด 20 โรง มีเงินลงทุน 139.24 ล้านบาท เป็นการประกอบกิจการหล่ออะลูมิเนียมเป็นเครื่องใช้ เครื่องเรือน โดยส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคกลาง