ยุทธศาสตร์ข้าวไทย หนุนทำตลาด 7 สายพันธุ์

FILE PHOTO: REUTERS/ Athit Perawongmetha

ภาพรวมการส่งออกไทยในช่วงครึ่งปีแรกที่หดตัว 32% จนทำให้สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยปรับลดคาดการณ์การส่งออกข้าวในปี 2563 จาก 7.5 เหลือ 6.5 ล้านตันซึ่งจะถือเป็นอัตราต่ำสุดในรอบ 20 ปี สร้างแรงกดดัน “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลที่กำกับดูแลกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องขับเคลื่อนการทำงานอย่างรวดเร็ว เพื่อกู้วิกฤตอุตสาหกรรมข้าวไทยครั้งนี้

นายจุรินทร์จึงได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชนผู้เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ส่งออกข้าว โรงสี และกลุ่มเกษตรกร เร่งหาข้อสรุปการจัดทำ “ยุทธศาสตร์ข้าวไทย” เพื่อเสนอสู่คณะอนุกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ข้าวไทย ซึ่งตนเองเป็นประธาน คาดว่าจะมีการประชุมภายในเดือนสิงหาคม 2563 นี้

ในการจัดทำยุทธศาสตร์ข้าวครั้งนี้จัดทำภายใต้แนวคิด “ตลาดนำการผลิต”ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่จะจัดทำยุทธศาสตร์ข้าวไทย โดยใช้การตลาดเป็นตัวกำหนดการผลิต วางกรอบยุทธศาสตร์ไว้ 3-5 ปีข้างหน้า

ลดเวลาขึ้นทะเบียน

โจทย์ใหญ่ของยุทธศาสตร์ข้าว คือ ทำอย่างไรให้ไทยสามารถแข่งขันในตลาดได้ โดยเฉพาะพันธุ์ข้าวขาวพื้นนุ่มที่เป็นที่ต้องการของตลาด แต่ปัจจุบันไทยยังมีข้าวขาวพื้นนุ่มจำนวนน้อย เทียบกับคู่แข่งที่มีสายพันธุ์ที่หลากหลายกว่า ทำให้ผู้ซื้อหันไปซื้อข้าวพื้นนุ่มกับคู่แข่งมากขึ้น ไทยจึงสูญเสียส่วนแบ่งตลาดนี้ไป

ปัญหาและอุปสรรคสำคัญของการพัฒนาพันธุ์ คือ การรับรองพันธุ์ยังล่าช้า ทำให้เสียโอกาสทางธุรกิจ ดังนั้น จะทำอย่างไรให้เรื่องนี้เกิดความชัดเจน คล่องตัว สามารถเร่งระยะเวลาการรับรองพันธุ์ข้าวใหม่ให้รวดเร็วมากขึ้นกว่าปัจจุบันที่ต้องใช้เวลา 1 ปี หากสามารถดำเนินการได้เชื่อว่าจะทำให้ไทยมีพันธุ์ข้าวใหม่ ๆสามารถแข่งขันได้มากขึ้น

สำหรับชนิดข้าวที่จะส่งเสริมนั้น จะเน้นการผลิตข้าวเพื่อสนองความต้องการของตลาดใน 7 ชนิด คือ ข้าวหอมมะลิ, ข้าวหอมไทย, ข้าวพื้นนุ่ม, ข้าวพื้นแข็ง, ข้าวนึ่ง, ข้าวเหนียว และข้าวคุณภาพพิเศษที่มีตลาดเฉพาะ โดยจะแบ่งตลาดข้าวทั้ง 7 ชนิดออกเป็น 3 ตลาด คือ ตลาดพรีเมี่ยมสำหรับส่งออกข้าวหอมมะลิ และข้าวหอมไทย, ตลาดทั่วไป สำหรับข้าวพื้นนุ่ม ข้าวพื้นแข็ง และตลาดเฉพาะ สำหรับข้าวเหนียว และข้าวคุณภาพพิเศษ รวมถึงจะมุ่งเน้นวิจัยและพัฒนาข้าวสายพันธุ์ใหม่ ๆ ให้มากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของตลาด

ปั้นมาตรฐานข้าวขาวพื้นนุ่ม

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า เรื่องการจัดทำมาตรฐานข้าวขาวพื้นนุ่ม เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ข้าว ที่กรมอยู่ระหว่างการเร่งผลักดันให้เกิดขึ้น เพื่อให้มีมาตรฐานในการซื้อ-ขายชนิดนี้ได้ในอนาคต โดยปัจจุบันได้หารือไปแล้ว 2 ครั้งวางกรอบการทำงานว่าจะต้องให้ความสำคัญเรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์ต่าง ๆ เช่น ด้านเคมีและด้านกายภาพ ควรใช้ค่าอะไรบ้าง เกณฑ์ที่ใช้เป็นมาตรฐานในการวัดควรมีอะไร ซึ่งยังต้องดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดจำนวนมาก เช่น สี ความยาว ลักษณะเมล็ด รวมถึงองค์ประกอบคณะกรรมการที่จะเข้ามาดูแลว่าต้องมาจากส่วนใดบ้าง

“ขณะนี้กรมการข้าวอยู่ระหว่างพิจารณารับรองพันธุ์ข้าว กข 79 ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปี เนื่องจากมีเรื่องของขั้นตอนจำนวนมาก ทั้งยังมีเรื่องความเสถียรในการเพาะปลูก ปริมาณผลผลิตด้วย”

ลดต้นทุนโลจิสติกส์

นอกจากนี้ กรมยังเตรียมเสนอ มาตรการการลดต้นทุนค่าขนส่งในสินค้าข้าว เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ข้าวด้วย เนื่องจากค่าขนส่งถือเป็นต้นทุนสำคัญในการแข่งขันในการส่งออกข้าวซึ่งในอนาคตไทยต้องลดต้นทุนการขนส่งสินค้าเกษตรทั้งระบบไม่ใช่เฉพาะข้าว

“การลดต้นทุนค่าขนส่งและโลจิสติกส์ กระทรวงพาณิชย์ต้องผลักดันโดยอาศัยความร่วมมือกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลเรื่องการขนส่ง ทั้งยังมีคณะกรรมการโลจิสติกส์ระดับชาติ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องผลักดัน ไม่เพียงมุ่งลดต้นทุนการขนส่งทางบกแต่รวมไปถึงทางเรือ ทางอากาศด้วย”