“สุริยะ” สั่งแบนพาราควอตต่อ ส้มหล่น “กลูโฟซิเนต” ยอดพุ่ง 3 เท่า

แบน3สารเคมี

หลังคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติให้ “แบน” พาราควอต-คลอร์ไพริฟอสต่อไป ล่าสุดพบมีการนำเข้าสารเคมีทดแทนทุบสถิติ “กลูโฟซิเนต” 8 เดือนยอดพุ่งเป็น 3 เท่าตัว ด้านวงการค้าสารเคมีให้จับตากรมวิชาการเกษตรเข็นร่างหลักเกณฑ์วัตถุอันตราย เปิดทางนำระบบโควตานำเข้ามาใช้โดยอาศัยมาตรฐาน ISO ปิดทางผู้ค้ารายอื่น

แม้ว่าคณะกรรมการวัตถุอันตรายจะมีมติให้ “แบน” สารเคมีทางการเกษตรที่มีอันตรายร้ายแรงทั้ง “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส” ด้วยการปรับระดับการควบคุมวัตถุอันตรายจากชนิดที่ 3 มาเป็นชนิดที่ 4 ห้ามผลิต-นำเข้า-ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง ในขณะที่สารเคมี “ไกลโฟเซต” หลังจากที่ถูก “แบน” มาได้ระยะเวลาหนึ่งก็กลับถูก “ถอน” จากบัญชีควบคุมชนิดที่ 4 กลับมาอยู่ในบัญชีควบคุมชนิดที่ 3 ให้ใช้มาตรการจำกัดการใช้ตามแรงกดดันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่อ้างว่า ยังไม่สามารถหาสารเคมีใดมาทดแทนได้

ล่าสุดได้มีความพยายามที่จะขอยกเลิกการ “แบน” สารเคมีการเกษตร “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส” อีกครั้ง โดยมีการนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา โดยผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ที่ประชุมมีมติไม่เห็นด้วยกับการ “ทบทวน” มติยกเลิกการใช้สารเคมีทั้ง 2 ประเภท ด้วยคะแนนเสียง 20 ต่อ 4 (กรรมการเข้าร่วมประชุม 25 คน จากทั้งหมด 27 คน) ส่งผลให้ยังคงมีการแบนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสต่อไป ตามมติเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2563 “มติครั้งนี้ถือเป็นไฟนอลแล้ว ถือเป็นที่สิ้นสุด” นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตรายกล่าว

ส่วนการจัดหาสารทดแทนนั้น นายอภัย สุทธิสังข์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรยังไม่สามารถจัดหาสารทดแทนได้ แต่มีสารทางเลือกซึ่งต้นทุนสูงกว่าและกระบวนการทางเกษตรอินทรีย์ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯจะร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ หาแนวทางและมาตรการทางการตลาด จูงใจให้เกษตรกรหันมาทำเกษตรอินทรีย์ เลิกใช้สารเคมี

ทั้งนี้ สารทางเลือกที่มีราคาและต้นทุนแพงกว่าพาราควอต-คลอร์ไพริฟอส ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในตลาดก็คือ สารกลูโฟซิเนต ที่มียอดจำหน่ายและยอดนำเข้าที่สูงมากในขณะนี้

กลูโฟซิเนต ยอดพุ่ง 3 เท่า

รายงานข่าวจากกรมศุลกากรเปิดเผยถึงปริมารการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในกลุ่มกลูโฟซิเนต โดยนับจากการแบนสารเคมีพาราควอต+คลอร์ไพริฟอสว่า ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ “ไม่มีการนำเข้าพาราควอต-พาราควอตไดคลอไรซ์-คลอร์ไพริฟอส” ขณะที่สารไกลโฟเซตที่มีการนำมาตรการจำกัดการใช้ มียอดการนำเข้าสะสม 920 ตัน มูลค่า 44.1 ล้านบาท โดยเป็นการนำเข้าในช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม ก่อนที่มติคณะกรรมการวัตถุอันตรายจะมีผลบังคับใช้ ส่วนในช่วงหลังจากเดือนมิถุนายนเป็นต้นมาก็ยังไม่ได้มีการนำเข้าแล้ว

ส่วนสารเคมีทดแทนอย่าง “กลูโฟซิเนต” ที่ถูก “ปลดล็อก” ให้นำกลับมาผลิต-นำเข้า-ส่งออก และจำหน่ายได้ ด้วยมาตรการจำกัดการใช้นั้น กลับมียอดนำเข้าสะสมถึง 4,224 ตัน คิดเป็นมูลค่า 461.3 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3 เท่า จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีการนำเข้า 1,308 ตัน มูลค่า 190.8 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่า เป็นสารเคมีกำจัดวัชพืชที่ได้รับความนิยม “ตีคู่” มากับสารเคมีไกลโฟเซตเลยทีเดียว

โดย นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย กล่าวว่า การแบนสารเคมีไม่ได้เป็นไปเพื่อความปลอดภัยของเกษตรกร แต่เป็นไปตามเป้าหมายของกลุ่มทุนเป็นหลัก โดยแหล่งนำเข้าสารเคมีทดแทนหลักยังคงมาจากจีน มีบริษัทยักษ์ใหญ่ 1-2 ราย ที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายการเมืองเป็นผู้นำเข้า แต่ทั้งนี้ หากให้เปรียบเทียบทั้งคุณสมบัติของกลูโฟซิเนตกับ 3 สารเคมียังไม่สามารถทดแทนกันได้ เรื่องราคาถึงจะแพงกว่าก็ไม่เป็นไร หากทดแทนกันได้จริง ๆ “ไกลโฟเซตมีฤทธิ์ดูดซึมดี เกษตรกรจึงมักจะใช้ฉีดนอกแปลงเพื่อป้องกันไม่ให้พืชดูดซึมเข้าไป พาราควอตใช้สู้ไกลโฟเซตไม่ได้ แต่เป็นสารที่มีประสิทธิภาพดีสุดเพราะพืชไม่ดูดซึมเข้าไป และไม่มีสารตกค้าง ส่วนกลูโฟซิเนตมีคุณสมบัติก้ำกึ่ง ใช้ในแปลงก็ดูดซึม ส่วนฤทธิ์การเผาไหม้สู้พาราควอตไม่ได้”

ล่าสุดมีรายงานข่าวจากวงการสารเคมีการเกษตรเข้ามาว่า ขณะนี้ได้มีความพยายามจากฝ่ายการเมืองที่จะ “กดกัน” ให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายออกมาตรการ “นำเข้า” ไกลโฟเซตอย่างมีเงื่อนไข หรืออาจเรียกได้ว่า จะมีการกำหนดโควตานำเข้า โดยอ้างมาตรการจำกัดการใช้ที่มีมติออกมาก่อนหน้านี้ โดยให้ผู้ประสงค์จะนำเข้าไกลโฟเซต ต้องยื่นขออนุญาตนำเข้าในปริมาณที่ใช้ในแต่ละปี ประมาณ 13,000 ตัน แต่วิธีการนี้ยังไม่มีการกำหนดเป็น “ทีโออาร์” ออกมาบังคับใช้

แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าล่าสุด ในการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายครั้งที่ผ่านมานี้ กรมวิชาการเกษตรได้เสนอ ร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการในการผลิต การนำเข้า การส่งออก และการมีไว้ในครอบครอง ซึ่งวัตถุอันตรายที่กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. คณะกรรมการพิจารณาแล้วมีข้อสังเกตเกี่ยวกับมาตรา 15 และกำหนดให้มีระบบมาตรฐาน ISO ประกอบกับมีผู้แสดงความคิดเห็นต่อร่างประกาศทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเป็นจำนวนมาก จึงมีมติมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรนำข้อสังเกตดังกล่าวของคณะกรรมการไปพิจารณาทบทวน และให้แจ้งผลการทบทวนในประเด็นที่มีผู้แสดงความไม่เห็นด้วยให้ฝ่ายเลขานุการทราบ เพื่อนำเสนอคณะกรรมการต่อไป

“มีการวิพากษ์วิจารณ์ในวงการค้าสารเคมีการเกษตรว่า หากวาระที่เสนอโดยกรมวิชาการเกษตรผ่านก็จะเป็นการบล็อกให้มีบริษัทที่สามารถขออนุญาตนำเข้าสารเคมีเหลือเพียง 3 รายที่มีมาตรฐาน ISO ส่วนรายอื่นก็จะไม่สามารถขอโควตานำเข้าได้ จึงต้องจับตามองว่าจากนี้ กรมวิชาการเกษตรจะดำเนินการอย่างไรต่อไปอีก”