ลุยต่อ “โรงไฟฟ้าชุมชน”

“นายนที สิทธิประศาสน์” รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ส.อ.ท. มองว่า โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเป็นนโยบายที่ให้ประโยชน์ต่อเศรษฐกิจอย่างมาก ต้องเดินหน้านำร่อง 150 เมกะวัตต์ ประเด็นสำคัญคือไม่ควรลดปริมาณรับซื้อต่ำกว่า 1,933 เมกะวัตต์

ส่วนการดำเนินการควรใช้ระบบการคัดเลือก และจับสลากเข้าร่วมโครงการแทนการประมูล และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ควรจัดเก็บเงินส่งเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อนำไปใช้ลดค่าไฟฟ้าให้ชาวบ้านรอบโรงไฟฟ้าชุมชน โดยไม่ควรให้ผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชนจัดเก็บเอง

“โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมักมีปัญหา ทั้งจากปัญหาความคิดเห็นชุมชนและความไม่คุ้มค่า เราเคยเจอปัญหาการประมูลมาในราคาต่ำเกินไป สุดท้ายเกษตรกรคือผู้เสียผลประโยชน์ เพราะฉะนั้นมองว่าการคัดเลือกคุณสมบัติจับสลากจะแฟร์ที่สุด”

ต่อข้อเรียกร้องดังกล่าว “นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ” อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า ในเร็ว ๆ นี้จะจัดประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนของประชาชน ส่วนหลักเกณฑ์เงื่อนไขโครงการอยู่ระหว่างหารือรายละเอียด และสามารถเปิดประกาศรับซื้อไฟฟ้าได้ในเดือน ม.ค. 2564 แน่นอน

เนื่องจากกรมเตรียมเพิ่มกรอบรับซื้อไฟฟ้าเป็น 150 เมกะวัตต์ จากเดิมสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอที่ 100 เมกะวัตต์ ส่วนวิธีการคัดเลือกโครงการนั้น ทางกระทรวงพลังงานลงความเห็นว่า จะใช้วิธีการเปิดประมูลแข่งขันราคา เพราะต้องไม่กระทบกับราคาวัตถุดิบของเกษตรกร พร้อมทั้งให้ 2 ประเภทเชื้อเพลิง คือ ชีวมวล และชีวภาพ แยกกันเพื่อความเป็นธรรม

“การจับสลากเพื่อคัดเลือกคุณสมบัติ ยุ่งยากกว่าการประมูลและอาจล่าช้าในกรณีต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันในอัตราที่สูงมากถึง 4,000-8,000 บาทต่อไร่ พูดง่าย ๆ คือต้องไม่ confirm เล่น”

Advertisment