“พีทีจี” แข่งสู้ ปตท. แปลงบัตร Max Card เป็น e-Money

“พีทีจี” กางแผนเข้าสู่ธุรกิจการเงินอิเล็กทรอนิกส์ e-Money ให้บริการจากบัตร Max Card ผ่านปั๊มน้ำมันพีทีทั่วประเทศ แง้มสิทธิประโยชน์ใหม่ “แต้มแลกเงิน” ตั้งเป้าผู้ถือบัตร 18 ล้านราย แข่ง ปตท. Q1/64 เร่งต่อจิ๊กซอว์ธุรกิจ nonoil เตรียมเทงบฯอีก 5,000 ล้าน ขยายปั๊มทะลุ 2,300 สาขา

นายพิทักษ์ รัชกิจประการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติให้จัดตั้งบริษัทย่อย 2 บริษัท คือ บริษัท แมกซ์ การ์ด กับบริษัท แมกซ์ โซลูชั่น เซอร์วิส เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า บริษัทกำลังอยู่ระหว่างยื่่นขออนุญาตต่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อให้บริการทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) ผ่านทางบัตร Max Card และคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ในไตรมาส 1/2564

“เป้าหมายของการตั้ง 2 บริษัทสิ่งแรกที่เรามองก็คือ การสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจ หรือ ecosystem เพื่ออำนวยความสะดวกเพิ่มประโยชน์กับลูกค้าที่ถือบัตรสมาชิก Max Card ด้วยการให้บริการการเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Money ซึ่งตอนนี้ก็จะมีพีทีจี กับค่าย ปตท.ที่ดำเนินการอยู่ จากปัจจุบันมีสมาชิกบัตรแล้ว 14.4 ล้านราย คาดว่าถึงสิ้นปีจะมีจำนวน 15 ล้านราย และตั้งเป้าหมายในปี 2564 จะมีสมาชิกเพิ่มจำนวนให้ถึง 18 ล้านราย ส่งผลให้เราเป็นบัตรที่มีผู้ถือมากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากบัตรสมาชิกเดอะวันการ์ด

การดำเนินการด้านธุรกรรมในแต่ละวันสมาชิกมีการสร้างพอยต์คะแนนถึงวันละ 7-8 ล้านแต้ม หรือปีละ 3-4 พันล้านแต้ม การเปิดให้บริการ e-Money และกระเป๋าตังค์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Wallet จะทำให้ลูกค้าที่ถือบัตรสามารถใช้พอยต์ผูกโยงกับเครือข่ายบริการต่าง ๆ ของเรา ซึ่งในอนาคตเราก็มองไปถึงการใช้พอยต์แลกเปลี่ยนเป็นเงิน หรือ e-Curency ของเราเองด้วย แต่เรายังไม่มีสถานะเป็นสถาบันการเงิน” นายพิทักษ์กล่าว

ทั้งนี้ บริษัท แมกซ์ การ์ด มีทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท เป็นผู้ประกอบธุรกิจให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) การให้บริการโอนเงินด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (electronic money transfer) การให้บริการสนับสนุนบริการแก่ผู้รับบัตร (payment facilitating) และการให้บริการรับชำระเงินแทน (bill payment)

ส่วนบริษัท แมกซ์โซลูชั่น เซอร์วิส ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ประกอบธุรกิจให้บริการสนับสนุนบริการแก่ผู้ออกหรือผู้รับบัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือผู้ขายสินค้าหรือบริการเชิงพาณิชย์ ซึ่งสอดรับกับกลยุทธ์การสร้างเครือข่ายสถานีบริการน้ำมัน เพื่อเชื่อมโยงไปสู่ธุรกิจอื่น ๆ ที่ไม่ใช่น้ำมัน

โดยวางเป้าหมายจะกระจายสถานีบริการน้ำมันให้มีเกือบครบทุกอำเภอในประเทศไทย และเชื่อมโยงพันธมิตรที่มีมากกว่า 100 ราย กับผู้ถือบัตร 18 ล้านราย

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายสำคัญของขยายบริการ e-Money ก็คือ การบริหารจัดการงานด้านระบบข้อมูลหลังบ้าน และการปรับเปลี่ยนมาทำธุรกรรมเอง จากเดิมที่เน้นการทำผ่านทางสถาบันการเงิน โดยรูปแบบการให้บริการจะเป็นแบบบัตรแรบบิต ซึ่งจะต้องมีการขออนุญาตตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งจะไม่ใช่การขอเพื่อนำไปใช้ขายข้อมูลแบบบริษัทอื่น แต่จะเป็นลักษณะในการนำไปใช้เชื่อมโยงหรือออกบริการใหม่ ๆ ใช้แต้มแลกเป็นเงิน เพื่อให้ผู้ใช้บัตร Max Card ได้ประโยชน์สูงสุดจากการเป็นสมาชิก

ส่วนการดำเนินการของบริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี (PTG) ในปี 2564 นายพิทักษ์กล่าวว่า จะเน้นให้ความสำคัญกับธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน (nonoil) เพิ่มมากขึ้น “อาจจะถึง 50% จากปัจจุบันที่สัดส่วนรายได้ธุรกิจน้ำมันเป็นธุรกิจหลัก” โดยจะมีการจัดกลุ่มพอร์ตธุรกิจใหม่เป็น energy กับ nonenergy

“พูดง่าย ๆ ก็คือ ธุรกิจที่จุดไฟติดกับจุดไฟไม่ติด” จากสาเหตุที่ว่า หากพิจารณาโครงสร้างกำไรในแต่ละสายธุรกิจแล้ว พบว่ากลุ่ม nonoil โดยเฉพาะ “ธุรกิจกาแฟ” มีสัดส่วนกำไรสูงถึง 60-70% ขณะที่น้ำมันมีกำไรแค่ 1% LPG อาจจะมีกำไรมากกว่าน้ำมัน 3 เท่า ส่วนกลุ่มร้านค้าปลีกมินิมาร์ตอยู่ที่ 20-30%”

โดยภาพรวมรายได้ของ PTG ปีนี้ มั่นใจว่าจะเติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้ หรือขยายตัว 6-10% จากปี 2561 โดยในช่วงไตรมาส 3/2563 ยอดขายน้ำมันปรับตัวดีขึ้น มีปริมาณการขาย 1,232 ล้านลิตร หรือเพิ่มขึ้น 9.1% ส่งผลให้บริษัทมีส่วนแบ่งตลาดทั้งกลุ่มขายปลีกและขายให้ลูกค้าอุตสาหกรรม คิดเป็นประมาณ 14.2% เป็นอันดับ 2 รองจาก ปตท.ที่มีสัดส่วน 39-40%

ปัจจัยหลักมาจากการเติบโตของ “น้ำมันดีเซล” ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 70% และน้ำมันเบนซินสัดส่วน 30% ส่วนเป้าหมายยอดขายในปี 2564 จะขยายตัวเพิ่มขึ้น 8-12% คาดว่าจะมีปริมาณการขายน้ำมันรวมเป็น 5,600 ล้านลิตร เพิ่มส่วนแบ่งตลาดจาก 14.2% เป็น 14.5%

นายพิทักษ์กล่าวถึงงบฯการลงทุนในปีหน้าว่า วางเอาไว้ที่ 4,000-4,500 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่ลงทุนไปแล้ว 3,000 ล้านบาท แบ่งเป็น การขยายในส่วนของสถานีบริการน้ำมัน 150-200 แห่ง งบประมาณ 3,000-3,500 ล้านบาท เพื่อกระจายการลงทุนในทุกภูมิภาค การขยายธุรกิจก๊าซ 50 แห่ง จากภาพรวมในปีนี้ที่มีจำนวนสถานีบริการสะสม 3 ไตรมาสที่ 2,078 แห่ง รองลงมาคือ การลงทุนในธุรกิจ nonoil อีก 1,000 ล้านบาท และธุรกิจอื่น ๆ อีก 500 ล้านบาท

“บริษัทเราเป็นเหมือนรถม้าลำปาง เรามองไปข้างหน้าอย่างเดียวไม่ได้แข่งกับใคร ถามว่าอยากขยับเป็นเบอร์ 1 ไหม ผมว่าตอนนี้ในตลาดน้ำมัน เราเป็นเบอร์ 2 แต่ในใจผู้ใช้บริการ เราเป็นเบอร์ 1” นายพิทักษ์กล่าว

สำหรับแนวโน้มราคาน้ำมันในปีหน้านั้นยังมีโอกาสปรับขึ้น-ลงได้ตามกลไกตลาด ซึ่งจะเป็นผลจากปัจจัยเรื่องโควิดเป็นหลัก แต่สิ่งสำคัญก็คือ PTG จะต้องดูแลเรื่องของ inventory และสต๊อกอย่างเข้มงวด โดยขณะนี้เราลดปริมาณสต๊อกน้ำมันลงจากเดิม 5.5 วัน เหลือ 4.5 วัน และวันนี้เหลือแค่เพียง 4 วัน พร้อมทั้งจะเร่งพัฒนาสาขาแฟลกชิปสโตร์ขนาดใหญ่ในจังหวัดต่าง ๆ ให้มากขึ้นด้วย