เกษตรหนุน “สุพัฒนพงษ์” กางแผนปลูกพืชพลังงาน

เกษตรรับลูก “สุพัฒนพงษ์” ตั้งคณะทำงานจัดทำแนวทางสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนเกษตรกร เล็งเป้าหมายจัดหาพื้นที่ปลูกไม้เศรษฐกิจโตเร็ว “กระถินเทพา ยูคาลิปตัส กระถินณรงค์ สน ไผ่” ป้อนพลังงาน ด้านสภาเกษตรกรฯ ดันรัฐบาลหนุนเกษตรกรปลูกไผ่นำร่อง ชี้โตเร็วเหมาะกับสภาพประเทศ เสริมนโยบายพืชพลังงานชีวมวล

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า วันที่ 14 ม.ค. 2564 ที่ผ่านมา นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีการประชุมฐานะประธานการประชุมคณะทำงานจัดทำแนวทางสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนให้แก่เกษตรกรด้วยโรงไฟฟ้าชีวมวล

เพื่อสร้างโอกาสในการเพิ่มรายได้และเป็นทางเลือกใหม่ในการปลูกพืชของเกษตรกร ตามนโยบายหลักตลาดนำการผลิตโดยการขับเคลื่อนเพื่อสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนให้แก่เกษตรกรด้วยโรงไฟฟ้าชีวมวล

โดยการประชุมดังกล่าวเป็นการขับเคลื่อนอย่างบูรณาการร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคการศึกษา อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ธ.ก.ส. สภาเกษตรกรแห่งชาติ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อแก้ไขปัญหาการปลูกพืชที่ไม่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ส่งผลให้ได้รับผลตอบแทนต่ำไปสู่พืชทางเลือกใหม่ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และมีตลาดรองรับที่แน่นอน เช่น โรงไฟฟ้าชีวมวลของชุมชน

ซึ่งในหลายพื้นที่ของประเทศไทยมีพื้นที่ที่มีศักยภาพในการปลูกไม้เศรษฐกิจโตเร็ว อาทิ กระถินเทพา ยูคาลิปตัส กระถินณรงค์ สน ไผ่ ซึ่งสามารถใช้เป็นวัตถุดิบป้อนเข้าสู่โรงไฟฟ้าชีวมวลตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน ที่ประชุมจึงได้พิจารณาสั่งการให้ดำเนินการจัดทำแนวทางส่งเสริมการปลูกพืชพลังงานชีวมวลในพื้นที่ที่เหมาะสมกับการปลูกพืชเป้าหมาย พร้อมทั้งพิจารณากรอบแนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสมต่อไป

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า สภาเกษตรกรแห่งชาติเห็นด้วยกับนโยบายส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชทางเลือก โดยเฉพาะเพื่อส่งเสริมพลังงานชีวมวล ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด โดยที่ผ่านมาได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกไผ่ ซึ่งจัดเป็นพืชที่โตเร็ว สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดีและรวดเร็ว

ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์
ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ

ซึ่งนอกจากจะใช้ทำเป็นอาหารและเครื่องใช้สอยแบบดั้งเดิมแล้ว ปัจจุบันยังได้ถูกพัฒนาไปใช้งานด้านต่าง ๆ ตลอดจนพัฒนาใช้ในอุตสาหกรรมพลังงาน เช่น ถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่ พลังงานทดแทน พลังงานชีวมวล รวมทั้งการป้องกันการเผาป่า การลดหมอกควัน การดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ และการสร้างออกซิเจน โดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5

ดังนั้น หากมีการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นแล้ว ไผ่ในประเทศไทยจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้อย่างมหาศาล ประกอบกับพื้นที่ของประเทศไทยเป็นเขตร้อนชื้น มีความเหมาะสมต่อการปลูกไผ่หลายชนิดในทุกพื้นที่

ทั้งนี้ เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่ได้มีช่องทางรายได้จากเศษพืชที่เหลือใช้ในกิจกรรมการเกษตรขายให้กับโรงไฟฟ้าชีวมวล และสอดรับกับนโยบายสร้างโรงไฟฟ้าชุมชน ซึ่งสภาเกษตรกรฯได้ผลักดันวิสาหกิจชุมชนไผ่เพชรล้านนา อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง ซึ่งเป็นศูนย์เรียนรู้การขยายพันธุ์ไผ่ครบวงจรในภาคเหนือ

มีตัวอย่างสวนไผ่ที่เหมาะสมต่อการส่งเสริมเป็นพืชพลังงานและพืชเศรษฐกิจ อยากให้ทุกฝ่ายช่วยกันสนับสนุนแนวทางการผลักดันนโยบายนี้ให้เกิดขึ้นจริง เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีช่องทางรายได้
จากเศษพืชที่เหลือใช้ในการเกษตรขายให้กับโรงไฟฟ้าสะอาดชีวมวล และยังช่วยลดปัญหาฝุ่นควัน และไฟป่าที่ลุกลามจากการเผาพืชไร่อีกทางหนึ่ง

“พืชที่สามารถใช้ทำพลังงานชีวมวลสภาเตรียมมานานแล้ว แต่หลายหน่วยงานยังไม่ค่อยมั่นใจ ขอให้เดินหน้าต่อ เพราะเรามีไผ่หลายพันไร่พร้อม ส่วนกระถินณรงค์ ไม้โตเร็วที่คาดว่าจะส่งเสริมนั้น ดีแต่อาจจะโตช้าไป ขอบคุณรัฐบาลที่ยังเดินหน้านโยบาย ผมมองว่าหลายพื้นที่มีศักยภาพเหมาะสม เราอยู่ระหว่างดำเนินการ เป็นนโยบายเกี่ยวกับโรงไฟฟ้า ทั้งซังข้าวโพด และอื่น ๆ ต่อติดมาหลายปีแล้ว และเคยเสนอเรื่องนี้มาหลายปี ขออยากให้เกิดขึ้นจริงสักที”

รายงานข่าวระบุว่า โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากอยู่ระหว่างการหารือของหน่วยงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เกี่ยวกับเงื่อนไขการปลูกพืชเพื่อผลิตไฟฟ้า และคาดว่าภายในเดือน มี.ค. 2564 นี้ จะออกระเบียบและประกาศดังกล่าวได้ พร้อมทั้งเปิดรับฟังความเห็นประชาชน 15 วัน

ทั้งนี้ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน กำชับว่าโครงการดังกล่าวต้องตอบโจทย์ให้ประโยชน์เกษตรกร โดยต้องเป็นโรงไฟฟ้าใหม่ที่ส่งเสริมการปลูกพืชพลังงานใหม่เพื่อเพิ่มการสร้างงานสร้างรายได้ นำร่อง 100-150 เมกะวัตต์

โดยจะต้องเป็นโรงไฟฟ้าใหม่ และมีการปลูกพืชพลังงานใหม่เกิดขึ้น เช่น หญ้าเนเปียร์ กระถินณรงค์ เป็นต้น ไม่เช่นนั้นก็จะไม่ตอบโจทย์การสร้างงานหรือสร้างอาชีพ อย่างไรก็ดี กระทรวงพลังงานต้องหารือกับทุกภาคส่วนอย่างรอบด้าน เบื้องต้นเชื้อเพลิงจะต้องปลูกไม้โตเร็ว และก๊าซชีวภาพที่มาจากพืชพลังงานเท่านั้น ส่วนของเดิมที่ให้ผสมผสานกับพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์)