Buy American ฟาดส่งออก เหล็ก-รถยนต์กระทบหนัก

รถยนต์-เหล็ก
PHOTO : PIXABAY (ภาพประกอบข่าวเท่านั้น)

ไทยตั้งรับ Buy American “ไบเดน” ชูนโยบายจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ-เศรษฐกิจสีเขียว กระทบ ราคาพลังงาน-อุตสาหกรรมยานยนต์ ปรับเปลี่ยนสู่รถไฟฟ้า เหล็ก-อะลูมิเนียม แนะส่งออกไทยลดการปล่อยคาร์บอน-ติดฉลากสีเขียว หวั่นเก็บภาษี ส่วนสินค้าเกษตร-สิ่งทอจะได้รับผลดี เหตุสหรัฐเน้นผลิตสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง หวังยกระดับค่าแรง ไม่ตั้งโรงงานที่ต้องใช้แรงงานในประเทศ

รองศาสตราจารย์ ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ให้ความเห็นถึงนโยบายเพื่ออเมริกา หรือ Buy American ของประธานาธิบดีไบเดน ว่าจะเข้มข้นมากกว่านโยบายอเมริกามาก่อน หรือ America First ของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์แน่นอน โดยนโยบายเหล่านี้ก็เพื่อมุ่งที่จะให้อเมริกากลับมาเป็นที่ 1 เป็นผู้นำโลก หลังจาก 4 ปีของทรัมป์แสดงให้เห็นแล้วว่า ไม่สามารถไปถึงเป้าหมายได้ แต่กลับก่อสงครามทางการค้ากับจีน มีการตั้งกำแพงภาษีระหว่างกัน แต่สุดท้ายแล้ว สหรัฐก็ยังนำเข้าสินค้าจากจีน คิดเป็นสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 23 เปอร์เซ็นต์ของสินค้านำเข้าทั้งหมดอยู่ดี การดึงดูดการลงทุนให้กลับเข้ามาที่อเมริกาก็ไม่ประสบผลสำเร็จตามที่ตั้งเอาไว้

สมัยของประธานาธิบดีไบเดน จากพรรคเดโมแครต สหรัฐเห็นแล้วว่า การใช้นโยบายแบบทรัมป์ (America First) ไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจและนำพาสหรัฐให้กลับมาเป็นที่ 1 ในเวทีโลกได้ ไบเดนและพรรคเดโมแครตจึงเสนอนโยบายด้วยการใช้เศรษฐกิจสีเขียว หรือ Green New Deal (นโยบายสิ่งแวดล้อมแบบทะเยอทะยาน) ผสมเข้ากับ Buy American ซึ่งจะใช้จ่ายเงินถึง 600,000 ล้านเหรียญ “เป็นการสร้างเศรษฐกิจ สร้างตำแหน่งงานใหม่ ๆ จากพลังงานทางเลือก/พลังงานสะอาด และมุ่งไปที่เทคโนโลยีดิจิทัลชั้นสูง การปรับเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) การสนับสนุนสตาร์ตอัพ ค่าแรงขั้นต่ำจะปรับเพิ่มขึ้นจาก 7.25 เหรียญ เป็น 15 เหรียญ ได้ด้วยนโยบายนี้”

กระทบไทย 3 เรื่อง

Green New Deal จะเป็นทางเลือกใหม่ ล่าสุดมีการประกาศออกมาแล้วว่า นโยบายต่างประเทศกับความมั่นคงของสหรัฐในสมัยของไบเดน จะต้องไปพร้อม ๆ กันกับเศรษฐกิจสีเขียว ข้อตกลงแบบพหุภาคีที่ถูกถอนตัวไปในสมัยทรัมป์จะกลับมา ไม่ว่าจะเป็น Paris Agreement หรือข้อตกลงทางการค้าต่าง ๆ “ไบเดนได้ลงนามในคำสั่งพิเศษนำสหรัฐเข้าสู่ภาคีในความตกลงปารีส เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ นั้นแสดงให้เห็นว่า สหรัฐให้ความสำคัญในเรื่องของสิ่งแวดล้อมมาก ดังนั้น หากมองไปถึงบริบททางการค้าในอนาคต การใช้มาตรการที่มิใช่ภาษี หรือ NTB เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ก็จะกลับมาในการค้าโลก” ดร.สมภพกล่าว

สำหรับผลกระทบที่ประเทศไทยจะได้รับหลังการประกาศใช้ Buy American นั้น ดร.สมภพมองไปที่ 3 เรื่อง คือ การจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาลที่ให้ซื้อสินค้าจากผู้ผลิตในสหรัฐเพิ่มมากขึ้น การใช้พลังงานทางเลือก ที่รัฐบาลไทยยังให้การอุดหนุนอยู่ (subsidy) อาจจะกระทบกับราคาพลังงานในอนาคต และอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วน ที่ประเทศไทยยังเป็นฐานการผลิตรถยนต์แบบเครื่องยนต์สันดาปที่ใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลอยู่ “จะกระทบกับการส่งออกสินค้าไทยแน่ ทั้งรัฐบาลและผู้ส่งออกจะต้องหันกลับมาดูว่า สินค้าที่ตนเองผลิตนั้นมีการปล่อยคาร์บอนมากน้อยแค่ไหน กระทบสิ่งแวดล้อมหรือไม่ การส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายและอนาคต (S-curve) กระบวนการผลิตสินค้าและตัวสินค้าเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ จะต้องกลับมาทบทวนดู เนื่องจากตลาดสหรัฐเป็นตลาดส่งออกสินค้าอันดับหนึ่งของไทยอยู่ในขณะนี้” ดร.สมภพกล่าว

เหล็ก-อะลูมิเนียมกระทบหนัก

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า นโยบาย Buy American เป็นนโยบายที่ให้ภาครัฐเพิ่มการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการภายในประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเหล็กกับอะลูมิเนียมที่จะเป็นวัตถุดิบสำคัญ ซึ่งอาจสร้างแรงกดดันต่อการส่งออกสินค้าประเภทดังกล่าวจากไทยไปยังสหรัฐได้ โดยสินค้าที่มีความเสี่ยงคือ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์

ส่วนนายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้วิเคราะห์นโยบาย Buy American แล้วเห็นว่า นโยบายนี้สนับสนุนให้มีการผลิตในสหรัฐ โดยเฉพาะสินค้าที่มีเทคโนโลยีสูง หรือสินค้าที่มีความจำเป็น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการจ้างงานและรายได้เพิ่มมากขึ้น ทำให้มีกำลังซื้อและมีความต้องการสินค้ามากขึ้น โดยหากนักลงทุนสหรัฐย้ายฐานการผลิตกลับไป สินค้าที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิต (supply chain) จะได้อานิสงส์การส่งออกในระยะยาว “บางอุตสาหกรรมที่สหรัฐดึงกลับจะเป็นพวกใช้เทคโนโลยี-สินค้าสุขอนามัย ไทยก็ต้องปรับตัวไม่ใช่อยู่กับที่ ในการวิเคราะห์ก็ควรดูหลาย ๆ ด้าน ทางนี้มองถึงการจ้างงานในประเทศที่จะมากขึ้น สร้างรายได้ มีกำลังซื้อ”

ด้านนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) และนายกสมาคมอาหารสำเร็จรูปแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สรท.ได้วิเคราะห์ 4 นโยบายด่วนของไบเดนแล้วพบว่า นโยบาย Buy American เป็นการเร่งรัดการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการในประเทศมากขึ้น ซึ่งในแต่ละปีสหรัฐมีการจ่ายงบประมาณสำหรับการจัดซื้อจัดจ้างเฉลี่ย 600,000 ล้านเหรียญ แต่อย่างไรก็ดี นโยบายนี้มีช่องที่ทำให้มีการผ่องถ่ายมายังบริษัทต่างชาติที่เป็นผู้ผลิตสินค้า

“ผลเสียที่จะเกิดกับไทยจากนโยบาย Buy American ก็คือ อาจจะมีการลดการนำเข้าสินค้าสำเร็จรูปจากไทย แต่จะใช้สินค้าที่ติดฉลากผลิตโดยสัญชาติอเมริกันแทน และอาจจะกระทบสินค้ากลุ่มเหล็ก-อะลูมิเนียม แต่อีกด้านหนึ่งหากมีการผลิตสินค้าในสหรัฐมากขึ้นก็จะส่งผลดีต่อสินค้ากลุ่ม raw material และ semiproduct ของไทยที่ส่งไปขายให้ผู้ผลิตสหรัฐ เช่น กลุ่มอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า แผงวงจรไฟฟ้า แผงสวิตช์ และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า” นายวิศิษฐ์กล่าว

ขณะที่นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม หลังสหรัฐกลับสู่การเข้าเป็นภาคีในความตกลง Paris Agreement มีความเป็นไปได้ที่สหรัฐจะรื้อฟื้นโครงการ BCA หรือ Border Carbon Adjustment ซึ่งจะมีการเก็บภาษีคาร์บอน (carbon tax) กลับมาใช้ใหม่ นอกจากนี้อาจจะเพิ่มมาตรการเรื่องเกี่ยวกับการผลิตสินค้าที่ต้องมีฉลาก carbon footprint, food lost food waste โดยอาจจะส่งผลเสียต่อสินค้ายานยนต์ อาจจะมีการเรียกเก็บภาษีจากรถยนต์ที่ใช้เครื่องสันดาปมากกว่ารถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้ (EV) และสินค้าอุปกรณ์ชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไทยพึ่งพาตลาดสหรัฐเป็นอันดับ 6

กระทบรถยนต์ต้องมองยาว

ด้านนายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เห็นว่า ในระยะสั้นอาจจะยังไม่เห็นผลกระทบที่ชัดเจนมากนักสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ ในส่วนของรถยนต์ไทยส่งไปสหรัฐ “ไม่ได้เยอะมากนักเมื่อเทียบกับประเทศส่งออกอื่น ๆ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการส่งออกอุปกรณ์และชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งจะยังไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้ โดยไทยมีการส่งรถยนต์นั่ง-รถอีโคคาร์ไปจำหน่ายในสหรัฐอยู่ในอันดับที่ 12 (ปี 2562 มูลค่า 195.58 ล้านเหรียญสหรัฐ ปี 2563 มูลค่าลดลงเหลือ 128.62 ล้านเหรียญ) ส่วนรถปิกอัพนั้นไม่ได้มีการส่งออก เนื่องการใช้งานของรถปิกอัพเป็นคนละประเภทกัน”

สำหรับนโยบาย Buy American ที่ต้องการสนับสนุนให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในสหรัฐทั้งหมด ในส่วนของชิ้นส่วนสำคัญที่ใช้กับรถยนต์ไฟฟ้านั้น “ยังคงต้องนำเข้าจากแหล่งผลิตอื่น ๆ อยู่” โดยเฉพาะแหล่งผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดของโลกอยู่ที่ “จีน” ซึ่งหมายถึงยังต้องใช้ระยะเวลาอีกพอสมควร “ผลกระทบที่อาจจะเกิดกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะยังไม่เห็นผลในทันที และยังต้องใช้ระยะเวลาอีกพอสมควรในการศึกษารายละเอียดต่าง ๆ เงื่อนไขต่าง ๆ ในอนาคต อาจจะเป็นปัญหาสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่จะส่งไปยังสหรัฐ โดยเฉพาะเรื่องของ local content ที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อน”

เสื้อผ้า-เกษตรส่งออกฉลุย

ส่วนสินค้าส่งออกประเภทเครื่องนุ่งห่มและสินค้าเกษตรนั้น นายยุทธนา ศิลป์สรรวิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวว่า นโยบายเศรษฐกิจของไบเดน “น่าจะเป็นผลดีกับการส่งออกเครื่องนุ่งห่มไทย” นโยบาย Buy American ประเมินเบื้องต้นว่า ไม่ค่อยกระทบ เพราะสินค้าเครื่องนุ่งห่มไม่ได้มีฐานผลิตในประเทศสหรัฐ แต่ปกติสหรัฐนำเข้ามากกว่า 95%

ด้าน ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า สหรัฐเป็นตลาดข้าวหอมมะลิเบอร์ 1 ของไทย มีการนำเข้าจากไทยปีละประมาณ 500,000 ตัน “ข้าวไทยไม่ได้ขายเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง แต่อาจจะมีผู้นำเข้าข้าวจากไทยบางรายที่นำไปขายให้กับหน่วยงานภาครัฐของสหรัฐ ดังนั้น Buy American จะไม่กระทบต่อการส่งออกข้าว”