รพ.เอกชน เก็บค่ารักษาโควิดแพงเกินจริง? “สภาองค์กรของผู้บริโภค” จี้ตรวจสอบ

โควิด 2019

สภาองค์กรของผู้บริโภค เรียกร้อง กรมการค้าภายใน-กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เร่งตรวจสอบ พร้อมกำกับควบคุมราคาค่าบริการ ค่ารักษา และค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวกับการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ของโรงพยาบาลเอกชน หลังพบกรณีที่อาจเข้าข่ายการตั้งราคาที่สูงเกินสมควร

วันที่ 13 พ.ค. 2564 สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ออกมาเรียกร้องให้กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ตรวจสอบข้อมูลเรื่องร้องเรียนของประชาชนที่ ถูกเก็บค่ารักษาพยาบาลโควิด – 19 สูงถึง 2 ล้านบาท และมีการให้ข่าวของโรงพยาบาลเอกชน ว่า คนไข้โควิด – 19 ที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน หากพบว่ามีค่าใช้จ่ายที่สูงเกินกว่ารัฐกำหนดราคาไว้ ผู้ป่วยจะต้องออกค่าใช้จ่ายส่วนต่างทั้งหมด

เหตุการณ์เช่นนี้ อาจจะสื่อได้ว่ารัฐจ่ายในอัตราที่ต่ำเกินไป หรือเอกชนมีการเรียกเก็บสูงเกินไปโดยเฉพาะในกรณีหลังพบว่ามีข้อมูลการเรียกเก็บที่อาจเข้าข่ายการตั้งราคาที่สูงเกินสมควร เช่น ผ้าก๊อซ ที่ราคาต้นทุน 10 บาท ถูกโรงพยาบาลเอกชนเรียกเก็บราคา 800 บาท ชุดป้องกันเชื้อ (PPE) ราคาที่ยอมรับร่วมกัน 144 บาท แต่กลับถูกเรียกเก็บถึง 401.61 บาท หรือหน้ากาก 3M รุ่น 1870 ราคาขายในท้องตลาดชิ้นละ 65 – 70 บาท แต่โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งคิดราคาถึงชิ้นละ 185 บาท สูงกว่าราคาตลาดถึงร้อยละ 226 – 282 

ซึ่งการตั้งราคาในลักษณะนี้อาจเป็นที่มาของการเรียกร้องให้เพิ่มค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จนกลายเป็นภาระของรัฐบาลและประชาชน เป็นการสร้างวิกฤติในวิกฤติอีกชั้น

ทั้งนี้ สภาองค์กรของผู้บริโภค จึงเรียกร้องให้กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับควบคุมราคาสินค้าและบริการ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 เร่งดำเนินการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว หากพบว่ามีมูลความจริงว่ามีการตั้งราคาสูงเกินสมควรก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายทันที ทั้งนี้เพื่อไม่เป็นการสร้างวิกฤติในวิกฤติ รวมทั้งสร้างภาระให้กับรัฐบาลเกินสมควร

รวมทั้งขอเรียกร้องให้ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับควบคุมสถานพยาบาลเอกชน ตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 และพระราชบัญญัติสถานพยาบาล (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2559 ตรวจสอบการกระทำของโรงพยาบาลเอกชนดังกล่าว รวมทั้งมีหลายกรณีซึ่งอาจเข้าข่ายไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมของสถานพยาบาล เป็นการค้ากำไรเกินสมควรจากสถานการณ์วิกฤติการระบาดของโควิด – 19 เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคตามกฎหมาย เป็นการพิสูจน์ว่ารัฐมีความรับผิดชอบในการจ่ายค่าใช้จ่ายกับสถานพยาบาลเอกชนอย่างความเหมาะสมหรือไม่ และเป็นเหตุสมควรที่จะเพิ่มอัตราค่าใช้จ่ายให้กับสถานพยาบาลเอกชนหรือไม่

อนึ่ง สภาองค์กรของผู้บริโภค จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 46 และพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 มีอำนาจตามกฎหมายในการให้ความคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค รวมทั้งเสนอแนะนโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคต่อคณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานของรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนและดำเนินการ ตรวจสอบ ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาสินค้าและบริการ แจ้งหรือโฆษณาข่าวสารหรือเตือนภัยเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ที่อาจกระทบต่อสิทธิของผู้บริโภค หรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือเกิดความเสื่อมเสียแก่ผู้บริโภค