EU คุมเข้มสินค้าพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง

แฟ้มภาพประกอบข่าว Pixabay

สหภาพยุโรป (EU) ออกระเบียบควบคุมสินค้าพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single Use Plastic : SUP) ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป

วันที่ 14 พฤษภาคม 2564 นายธัชชญาน์พล อภิมนต์เตชบุตร รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงบรัสเซลส์ รายงานว่า สือบเนี่องจากที่ EU ได้ออกระเบียบ Directive (EU) 2019/904 on the reduction of the impact of certain plastic products on the environment เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2562 สำหรับควบคุมพลาสติก SUP

ธัชชญาน์พล อภิมนต์เตชบุตร

ซึ่งครอบคลุมผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกทั้งหมดหรือบางส่วน เพื่อป้องกันและลดผลกระทบของผลิตภัณฑ์พลาสติกบางชนิดที่ทำลายสิ่งแวดล้อมทางทะเลและสุขภาพมนุษย์ ตลอดจนส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน และมาตรการต่าง ๆ จะเริ่มทยอยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2564 นั้น สรุปได้ ดังนี้

1. ตั้งแต่ 3 กรกฎาคม 2564 :

1.1 ห้ามจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารที่ทำจาก SUP (ส้อม มีด ช้อน ตะเกียบ เป็นต้น)

1.2 กำหนดให้สินค้าผ้าอนามัย ผ้าเช็ดทำความสะอาดแบบเปียก ผลิตภัณฑ์ยาสูบที่มีตัวกรอง แก้วน้ำที่จำหน่ายใน EU ต้องมีข้อมูลหรือสัญลักษณ์เพื่อบอกวิธีกำจัดขยะสินค้าดังกล่าวปรากฏบนบรรจุภัณฑ์หรือผลิตภัณฑ์

1.3 กำหนดให้สินค้าที่มีฝาปิดทำจากพลาสติก โดยต้องมีฝาปิดติดกับภาชนะบรรจุภัณฑ์ในระหว่างการใช้งานจึงจะสามารถวางจำหน่ายได้

1.4 กำหนดให้ประเทศสมาชิก กำหนดมาตรการในประเทศเพื่อลดการใช้แก้วน้ำ และบรรจุภัณฑ์อาหารที่ผลิตจากพลาสติก ให้สอดคล้องกับนโยบายการกำจัดของเสียของ EU และแจ้งให้คณะกรรมาธิการยุโรปทราบ

2. ตั้งแต่ 5 มกราคม 2566 : กำหนดให้ผู้ผลิตสินค้าจากพลาสติก SUP ประกอบด้วย (1) ภาชนะบรรจุอาหาร (2) วัสดุห่ออาหาร (3) ภาชนะบรรจุเครื่องดื่ม (ไม่เกิน 3 ลิตร) (4) แก้วน้ำ (5) ถุงพลาสติก (6) ผ้าเช็ดทำความสะอาดแบบเปียก (7) ลูกโป่ง และ (8) ผลิตภัณฑ์ยาสูบที่มีตัวกรอง จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะจากสินค้าดังกล่าว โดยครอบคลุมค่าขนส่ง ค่าบำบัดของเสีย และค่าใช้จ่ายในการรายงานข้อมูลการจัดเก็บและจัดการของเสีย โดยเริ่มจากสินค้า (8) และสำหรับสินค้า (1) – (7) ผู้ผลิตจะต้องรายงานข้อมูลฯ ภายใน 31 ธันวาคม 2567

3. ตั้งแต่ 3 กรกฎาคม 2567 : กำหนดให้ภาชนะบรรจุเครื่องดื่มที่มีความจุไม่เกิน 3 ลิตร ที่มีฝาปิดทำจากพลาสติกจะต้องยึดฝาติดกับตัวภาชนะระหว่างการใช้งานเท่านั้น จึงจะสามารถวางจำหน่ายใน EU ได้ แต่ไม่รวมถึงภาชนะเครื่องดื่มประเภทขวดแก้วที่มีฝาปิดทำจากโลหะหรือพลาสติก และภาชนะเครื่องดื่มสำหรับใช้ในทางการแพทย์

4. ภายในปี 2568 : กำหนดให้การผลิตขวดพลาสติก (Polyethylene Terephthalate : PET) ต้องมี ส่วนประกอบของพลาสติกรีไซเคิลอย่างน้อย 25% และเพิ่มเป็นอย่างน้อย 30% ในปี 2573

นายธัชชญาน์พลกล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อ 1 มกราคมที่ผ่านมา EU ได้ดำเนินมาตรการคู่ขนานโดยเก็บภาษีขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ไม่สามารถรีไซเคิลจากประเทศสมาชิก เพื่อจูงใจให้เพิ่มการรีไซเคิลขยะพลาสติก ซึ่งภาคเอกชน EU มีการปรับตัวโดยใช้วัสดุที่ทำจากไฟเบอร์หรือเส้นใยธรรมชาติในการผลิตสินค้าแทน

ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ประกอบการไทยควรศึกษาและเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าว และปรับเปลี่ยนสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาด รวมถึงพัฒนาสินค้าทดแทนพลาสติกเพื่อสร้างโอกาสในการขยายตลาดสินค้าดังกล่าวต่อไป โดยสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ http://data.europa.eu/eli/dir/2019/904/oj หรือ QR Code