เตรียมยกระดับเอฟทีเอ อาเซียน-เกาหลีใต้ เร่งเปิดสินค้าอ่อนไหวเพิ่ม

export-ส่งออก-pcc

กรมเจรจาฯ ร่วมการประชุมคณะกรรมการดำเนินงานความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลีใต้ครั้งที่ 18 เพื่อยกระดับความตกลง AKFTA ให้ทันสมัย หลังอาร์เซ็ปมีผลบังคับใช้ เร่งเปิดตลาดสินค้าอ่อนไหวเพิ่ม และนำระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มาใช้โดยเร็ว

วันที่ 2 สิงหาคม 2564 นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 ได้รับมอบหมายจากให้เป็นหัวหน้าผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการดำเนินงานความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลีใต้ (ASEAN-KoreaFTA – Implementing Committee : AKFTA-IC) ครั้งที่ 18 ผ่านระบบการประชุมทางไกลว่า ที่ประชุมเห็นพ้องในเรื่องการยกระดับความตกลง AKFTA ที่มีผลใช้บังคับมาตั้งแต่ปี 2553 เพื่อให้การเจรจาได้ประโยชน์ต่อการค้าทั้งสองฝ่ายมากที่สุด

โดยเฉพาะหลังจากความตกลง RCEP มีผลบังคับใช้ ที่ประชุมจึงขอให้ฝ่ายเลขาธิการอาเซียนร่วมกับเกาหลีใต้ทำการศึกษาในภาพรวมอีกครั้ง รวมไปถึงการจัดทำข้อเสนอแนะในแนวทางการปรับปรุงข้อบทที่เกี่ยวกับการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน และประเด็นอื่น ๆ ที่จะช่วยให้ความตกลง FTA นี้ มีความทันสมัย ครอบคลุมประเด็นอย่างครบถ้วนทั้งสองฝ่ายสามารถใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงได้อย่างเต็มที่ และสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งตนได้ย้ำว่า การศึกษาดังกล่าวจะต้องไม่ใช้เวลานานเพื่อที่การเจรจาจะสามารถเดินหน้าต่อไปได้โดยเร็ว

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมอบหมายคณะอนุกรรมการว่าด้วยภาษีศุลกากรและกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าเร่งหารือแนวทางการปรับโอนพิกัดศุลกากรของตารางลดภาษีและตารางกฎถิ่นกำเนิดสินค้าเฉพาะรายสินค้าจากระบบฮาร์โมไนซ์ปี 2017 เป็น ฉบับปี 2022 โดยเร็ว เนื่องจากระบบฮาร์โมไนซ์ฉบับปี 2022 จะเริ่มต้นใช้ในปีหน้า อีกทั้งขอให้เร่งหารือความเป็นไปได้ในการพัฒนาระบบการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ความตกลง AKFTA หรือ ใบ CO Form AK แบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยเชื่อมโยงข้อมูลผ่าน ASEAN Single Window ต่อไปเพื่อจะได้อำนวยความสะดวกให้กับภาคธุรกิจ และตอบสนองต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ด้วย

“ภายใต้ความตกลง AKFTA มีการจัดตั้งกองทุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียน-เกาหลีใต้ (ASEAN-Korea Economic Cooperation Fund) หรือ AKEC Fund เกาหลีใต้จะให้การสนับสนุนด้านงบประมาณเพื่อให้ประเทศสมาชิกสามารถจัดทำโครงการที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์จากความตกลงได้อย่างเต็มที่ใน 19 สาขา โดยปีนี้มีโครงการที่ผ่านการพิจารณาเบื้องต้นแล้ว 3 โครงการ

ซึ่งเป็นของไทยถึง 2 โครงการ คือ โครงการลดต้นทุนโดยการเพิ่มประสิทธิภาพของขั้นตอนและกระบวนการทางการค้าผ่านการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลีใต้ โดยกรมการค้าต่างประเทศ และโครงการบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ของยานยนต์ไฟฟ้าในแผนที่นำทางด้านเชื้อเพลิงชีวภาพในประคมอาเซียนโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติซึ่งคาดว่าโครงการทั้งสองของไทยจะได้รับการอนุมัติขั้นสุดท้ายจากเกาหลีใต้และประเทศสมาชิกอาเซียนโดยเร็วต่อไป” นายดวงอาทิตย์ เสริม

ทั้งนี้ ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลีใต้มีส่วนสำคัญที่ทำให้การค้าระหว่างไทยกับเกาหลีใต้ขยายตัวจากปี 2552 ซึ่งเป็นปีก่อนที่ความตกลงมีผลบังคับ เดิมมูลค่า 8,241 ล้านเหรียญสหรัฐเป็น 11,920 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้นถึง 44.6% ในปี 2563 โดยปัจจุบันเกาหลีใต้เป็นคู่ค้าอันดับ 8 ของไทย การค้าระหว่างไทยกับเกาหลีใต้ในช่วง ม.ค.-มิ.ย. 2564 มีมูลค่า 7,799 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้น 33.4% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563

แบ่งเป็นการส่งออก 2,907 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้น 36.5% และการนำเข้า 4,892 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้น 31.6% สินค้าส่งออกสำคัญของไทย คือผลิตภัณฑ์ยางไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม สินค้านำเข้าสำคัญจากเกาหลีใต้ คือ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ