7 บริษัทกลุ่ม ปตท. ขยับลงทุน “ธุรกิจแห่งอนาคต”

ปตท

ภาพผลประกอบการครึ่งแรกปี 2564 กลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) บริษัทพลังงานเบอร์ 1 สามารถทำรายได้จากการขายถึง 1,011,093 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% หรือ 186,201 ล้านบาท จากเกือบทุกกลุ่มธุรกิจ (ตามตาราง)

โดยที่โดดเด่นจะเห็นว่ากลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ และกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ทั้งจากราคาขายเฉลี่ยและปริมาณขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นตามความต้องการ และราคาของผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและปิโตรเคมีที่ปรับตัวสูงขึ้นตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัวจากปีก่อน แม้ทั่วโลกยังอยู่ท่ามกลางภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

เดินหน้าลงทุน

“นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. กล่าวว่า ปตท.จะลงทุนต่อเนื่อง เพื่อเร่งรัดต่อยอด พัฒนา และขยายเข้าสู่ธุรกิจที่มีศักยภาพเติบโตสูงตามทิศทางโลก 6 ด้าน คือ

1.new energy ธุรกิจด้านพลังงานใหม่

2.life sciences ธุรกิจด้านวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับมนุษย์

3.mobility & lifestyle ธุรกิจที่เกี่ยวกับความคล่องตัวและไลฟ์สไตล์

4.high value business พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง

5.logistics โลจิสติกส์

6.AI & robotics การพัฒนาธุรกิจด้านระบบปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ รวมถึงระบบอัตโนมัติต่าง ๆ

ลุยแผนลงทุน 5 ปี

แม้จะอยู่ในสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว แต่ ปตท.ยังวางงบฯเงินลงทุน 865,000 ล้านบาทในช่วง 5 ปีข้างหน้า (2564-2568) เพื่อปรับสัดส่วนการลงทุนตามกรอบวิสัยทัศน์ และให้สอดคล้องกับทิศทางในอนาคต รวมถึงทิศทางเทรนด์พลังงานสะอาด มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งมีเป้าหมายว่าภายในปี 2030 จะเพิ่มสัดส่วนกำไรจากกลุ่มธุรกิจพลังงานในอนาคตเป็น 30%

ขณะเดียวกัน ปตท.ยังเตรียม “งบประมาณเพิ่มเติม” สำหรับการลงทุนที่ “อาจจะ” มีขึ้นในช่วงระยะ 5 ปีข้างหน้า ซึ่งอยู่ระหว่างการประเมินแผนการลงทุนที่ชัดเจน 784,000 ล้านบาทอีกด้วย

OR ธุรกิจใหม่คึกคัก

หากพิจารณาในบรรดาบริษัทกลุ่ม ปตท.ในตลาดหลักทรัพย์ฯทั้งหมด 7 บริษัท อาจเรียกว่าปีนี้ “OR” หรือบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) เป็นน้องใหม่ที่น่าจับตา นับจากการเข้าเทรดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยมีราคาเปิดการซื้อขาย (open price) ปรับขึ้น 47.2% จากราคาจองซื้อ (IPO price) ที่ 18.00 บาท

ถึงวันนี้ “นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ OR เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานครึ่งปีแรกของปี 2564 มีรายได้ขายและบริการ 237,168 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.6% มีกำไรสุทธิ 7,228 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,810 ล้านบาท หรือคิดเป็นกว่า 100% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ปัจจัยหลักมาจากกล่มธุรกิจน้ำมันที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นจากเศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงของการฟื้นตัว ทำให้ราคาขายปรับตัวสูงขึ้นตาม

ในแผน OR ตั้งเป้าลงทุน 5 ปี ด้วยงบฯลงทุน 74,600 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นสัดส่วนการลงทุนของธุรกิจน้ำมัน 34.6% ธุรกิจที่ไม่ใช้น้ำมัน (น็อนออยล์) 28.6% ธุรกิจในต่างประเทศ 21.8% และในกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ อีก 15% ซึ่งแนวทางการลงทุนในอนาคตอาจจะเน้นสัดส่วนไปที่ธุรกิจน็อนออยล์ เนื่องจากมีโอกาสในการเติบโตสูงกว่า

6 บริษัทพี่ ขยับแผนลงทุน

อย่างไรก็ตาม อีก 6 บริษัทรุ่นพี่ก็ปรับแผนการลงทุนที่โดดเด่นไม่แพ้น้องใหม่ OR

โดยเฉพาะการขยับรับ “กระแสสุขภาพและสิ่งแวดล้อม” ที่ดูจะมีความชัดเจนเกือบทุกค่าย ไม่ว่าจะเป็น IRPC ที่ประกาศวิสัยทัศน์ใหม่ จะสร้างสรรค์นวัตกรรมการใช้วัสดุและพลังงานเพื่อชีวิตที่ลงตัว ต่อยอดความเชี่ยวชาญด้านปิโตรเคมีและการกลั่นน้ำมันสู่ธุรกิจทางการแพทย์ผลิตเม็ดพลาสติกต้นน้ำ ผลิตหน้ากากอนามัย N95 ชุด PPE ครบวงจรถึงปลายน้ำรายแรกของไทย

“PTTGC” ที่ใช้กลยุทธ์ step out ซื้อกิจการ Allnex Holding GmbH ซื้อหุ้นบุริมสิทธิใน Allnex Holding Germany II GmbH (Holding II) 148,417 ล้านบาท เป็นบิ๊กดีลแห่งปี เป้าหมายเพื่อรุกธุรกิจกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงด้วยการเพิ่มสัดส่วนกำไรจากกลุ่มธุรกิจที่มีมูลค่าสูง high value business ตามกลยุทธ์กลุ่ม ปตท. คาดสรุปได้ในเดือนธันวาคมนี้

ขณะที่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP ได้เข้าร่วมลงทุนในบริษัท PT Chandra Asri Petrochemical Tbk (CAP) ประเทศอินโดนีเซีย ใช้เงินลงทุนมูลค่า 1,183 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อก้าวเข้าสู่ธุรกิจโอเลฟินส์ จากเดิมที่ TOP มีธุรกิจสายอะโรเมติกส์อยู่แล้วช่วยทำให้โครงสร้างธุรกิจมีความสมบูรณ์ มีข้อได้เปรียบในการต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มสำหรับผลิตภัณฑ์ขั้นปลายที่หลากหลายมากขึ้น คาดสรุปได้ในเดือนกันยายนนี้

ส่วน GPSC เพิ่งคิกออฟโรงงานผลิตหน่วยกักเก็บพลังงานด้วยเทคโนโลยี กระบวนการผลิตขั้นสูงแบบ Semisolid ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ถือเป็นแห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน มีกำลังการผลิตเริ่มต้น 30 MWh (เมกะวัตต์ชั่วโมง) ต่อปี ช่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมพลังงานของกลุ่ม ปตท.เตรียมพร้อมเพื่อยานยนต์ไฟฟ้าแห่งอนาคต

เตรียมเปลี่ยนผ่านแหล่งเอราวัณ

ปิดท้ายด้วย PTTEP ที่ดำเนินแผนกลยุทธ์ execute and expand ครึ่งปีแรกลงทุนในโครงการโอมาน แปลง 61 เสร็จสิ้นเร็วกว่าที่คาด และยังผลิตและส่งก๊าซธรรมชาติได้เต็มกำลังการผลิตที่ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

รวมถึงการเร่งการผลิตก๊าซธรรมชาติในโครงการมาเลเซีย-แปลงเอชเพิ่มขึ้น กระทั่งปรับเป้าปริมาณขายปี 2564 จาก 405,000 เป็น 412,000 บาร์เรล เทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน และการสำรวจค้นพบก๊าซธรรมชาติและน้ำมันบริเวณนอกชายฝั่งในประเทศมาเลเซีย รวมทั้งแหล่งลัง เลอบาห์ ซึ่งจะช่วยสร้างการเติบโตระยะยาว

ส่วนครึ่งปีหลังจะยังต้องเร่งเตรียมพร้อมเปลี่ยนผ่านสิทธิการเข้าเป็นผู้ดำเนินการของแปลง G1/61 (แหล่งเอราวัณ) ซึ่งขณะนี้บริษัทยังไม่ได้รับการยินยอมให้เข้าพื้นที่ อาจจะทำให้การผลิตตามสัญญาปี 2565 เป็นไปได้ยาก PTTEP จึงเตรียมแผนสำรองก๊าซธรรมชาติเสริมจากแหล่งบงกช-อาทิตย์ทดเเทน

จะเห็นได้ว่า ปตท.และบริษัทในเครือยังเดินหน้าลงทุนต่อเนื่องตามแผนงาน เพื่อขับเคลื่อนผลักดันธุรกิจฝ่าวิกฤตโควิด และรักษาสถานะความเป็นผู้นำในธุรกิจพลังงานและเทรนด์ธุรกิจใหม่ ๆ ในอนาคตข้างหน้าอย่างแข็งขัน