โมเดล Factory Sandbox ป้องส่งออกอาหารแสนล้าน

ส่งออก

เศรษฐกิจไทยขณะนี้จำเป็นต้องพึ่งการส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศปีละกว่า 1 แสนล้านบาท แต่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในคลัสเตอร์โรงงานอาจจะกระทบต่อการผลิตอาหารเพื่อการส่งออก

สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้จัดกิจกรรมออนไลน์ Share Case Study หัวข้อ “Model ธุรกิจอาหาร และ Factory Sandbox คุมโควิด-ดันส่งออก” เพื่อเป็นแนวทางในการนำไปปรับใช้ในธุรกิจ

ยกระดับ Food Safety Plus

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากแรกเริ่มที่ไทยเผชิญสถานการณ์โควิด มักจะได้รับคำถามจากลูกค้าปลายทางเพื่อยืนยันความปลอดภัย สมาคมต้องสื่อสารให้ต่างประเทศทราบว่าอาหารของไทยปลอดภัย

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา
วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

ขณะเดียวกัน ต้องสร้างมาตรฐานสูงขึ้นเรื่อย ๆ จาก food safety ก็ขยับเป็น food safety plus ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามาตรการ bubble and seal หรือมาตรการโครงการ factory sandbox ล้วนสำคัญต่อระบบการผลิตอาหาร

“factory sandbox เหมาะกับโรงงานขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมและมีกำลังจ่ายสำหรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก เพราะมีจุดเด่นในการตรวจที่แม่นยำด้วย RT-PCR เพื่อคัดแยกคนออกมารักษา ตามด้วยการฉีดวัคซีนให้ครบ 100% นั่นคือความยั่งยืนและควรจะเป็น”

“แต่สำหรับผู้ประกอบการรายเล็กอาจไปไม่ถึง เพราะค่าใช้จ่ายตรวจหาเชื้อแบบ RT-PCR จำนวน 1 ครั้งให้ลูกจ้างทั้งหมด และตรวจแบบ self-ATK (antigen test kit) ทุก 7 วัน ค่าฉีดวัคซีนซึ่งล้วนแล้วแต่เอกชนต้องเป็นผู้จ่ายเอง จึงอยากขอเสนอให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายเพื่อให้มาตรการเป็นไปได้ และเพิ่มศักยภาพการส่งออกอุตสาหกรรมอาหารของไทย”

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โควิดยังไม่คลี่คลายมากนัก อีกทั้งอุตสาหกรรมอาหารไทยยังเผชิญปัจจัยต้นทุนสูง ทั้งค่าระวางเรือยังพุ่งสูง ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ แต่สิ่งที่สะท้อนจุดแข็งอุตสาหกรรมไทยยังคงเป็นตัวเลขการส่งออกสินค้าอาหารเพราะคู่ค้ายังต้องการอาหารจากไทยอย่างมาก

โดยดาวรุ่งการส่งออกอาหารเดือนมกราคม-กรกฎาคมยังคงเป็นผลไม้สด แช่เย็นแช่เเข็งเพิ่มขึ้น 49% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเติบโต 45% เครื่องดื่มเติบโต 6% และยังมีสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงตัวใหม่

บทเรียน “สมุทรสาครโมเดล”

ในฐานะเป็นหนึ่งในพื้นที่สีแดง “นายชาธิป ตั้งกุลไพศาล” ประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า สมุทรสาครเป็นศูนย์กลางอาหารทะเลของประเทศไทย เป็นเมืองโรงงานร้อยละ 90 มีแรงงานราว 6-7 แสนคน และธุรกิจอาหารแทบเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจจังหวัด เมื่อเกิดการระบาดหนักช่วงต้นปีชาวสมุทรสาครและผู้ประกอบการผ่านพ้นวิกฤตมาได้ด้วยแนวทางการแก้ไขการแพร่ระบาดของโควิด-19

ชาธิป ตั้งกุลไพศาล
ชาธิป ตั้งกุลไพศาล ประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร

ประกอบด้วย 5 มาตรการ คือ

1.การตรวจเชิงรุก

2.FQ factory quarantine

3.bubble and seal

4.FAI factory accommodation isolation หรือโรงพยาบาลสนาม และ CI community isolation หรือศูนย์พักคอยสำหรับแยกกักตัว

และ 5.factory sandbox

นับจากที่การระบาดหนักคลัสเตอร์ตลาดกลางกุ้ง ก็เริ่มเข้าตรวจคัดกรองเชิงรุกกลุ่มแรงงานทั้งไทยและแรงงานต่างด้าว ใช้มาตรการเชิงรุกเดินเข้าไปหากลุ่มเสี่ยงเพื่อคัดกรองว่ามีผู้ติดเชื้อจำนวนเท่าไร เมื่อตรวจพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากก็เริ่มมีปัญหาเตียงไม่เพียงพอจึงทำ FQ โรงงานขนาดใหญ่ กระทั่ง 2 เดือนถัดมาเริ่มยกระดับด้วยแนวทาง bubble and seal ควบคุมการเข้า-ออกพื้นที่ระบาดให้อยู่ในวงจำกัด ดูแลเรื่องอาหารการกินพนักงาน

โดย bubble กับ seal ไม่จำเป็นต้องทำคู่กัน ให้อยู่ในดุลพินิจ ความสมัครใจของผู้ประกอบการ ซึ่งมาตรการนี้ส่งผลให้สมุทรสาครแทบไม่ต้องปิดโรงงานเพิ่ม การผลิตยังเดินหน้าต่อไปได้ จากนั้นจึง FAI ในชุมชน จนวันนี้สมุทรสาครมีเตียงเพียงพอและเหลือรองรับ

นำไปสู่โครงการล่าสุด คือ factory sandbox โดยระยะแรกสมุทรสาครเป็น 1 ใน 4 จังหวัดร่วมกับนนทบุรี ปทุมธานี และชลบุรี ซึ่งหลักการคือใช้วิธีตรวจ รักษา ควบคุม ดูแล โครงการนี้ริเริ่มจากแนวคิดจะทำอย่างไรเพื่อสร้างความเชื่อมั่น ในเมื่อบางจังหวัดยังมีแรงงานที่ได้รับวัคซีนเพียงแค่ 10% ซึ่งต้องแข่งกับเวลา

โดยโรงงานที่เข้าสู่ระบบนี้ต้องมีการสุ่มตรวจด้วย RT-PCR ไม่ต่ำกว่า 25% ทุกสัปดาห์ ซึ่งโรงงานอาหารขนาดใหญ่ที่น่าหยิบยกเป็นกรณีศึกษาคือ “ไทยยูเนี่ยน” ที่มีหลักปฏิบัติ โดยคำนึงถึง 3 ข้อ ชุมชน พนักงาน และลูกค้า อีกทั้งผู้บริหารร่วมมือไปพร้อมกับพนักงาน วางระบบทุกมิติทั้งรถรับ-ส่งพนักงาน แผนผังที่อยู่อาศัย ตลอดจนการสื่อสารที่ชัดเจนกับพนักงาน

อย่างไรก็ตาม จากนี้วัคซีนคงไม่ใช่ทางออกเดียว แต่จะทำอย่างไรที่จะป้องกันให้ดีที่สุด รัฐและผู้ประกอบการต้องสื่อสารกับพนักงาน ชุมชนให้ชัดเจน และสร้างกำลังใจต่อกัน ซึ่งที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าการถูกปิดโรงงานส่วนใหญ่มาจากการสื่อสารที่คลาดเคลื่อน นั่นคือสิ่งที่สมุทรสาครเรียนรู้มาตลอด และจากความร่วมมือกับทุกมาตรการทำให้สมุทรสาครปิดโรงงานไปเพียงแค่ 2-3 โรงงานเท่านั้น

สุดท้ายเราก็เดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งตอนนั้นเราต่างกังวลเพราะธุรกิจอาหารเป็นหัวใจเศรษฐกิจสมุทรสาคร และการพบผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ก็อยู่ในธุรกิจอาหาร จึงเป็นโจทย์ที่เราถือว่าไม่ง่ายเลย แต่ก็ผ่านมาได้