รัฐเปิดทางเอกชนเสนอโครงการก่อน ครม.สัญจร รอบต่อไป

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์
สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์

“สุพัฒนพงษ์” พร้อมรับฟังเอกชนทุกเรื่อง แนะหอการค้าจัดกลุ่มจังหวัด เร่งทำเสนอโครงการพัฒนาเศรษฐกิจ รัฐพร้อมพิจารณางบให้ทันทีใน ครม.สัญจร ครั้งถัดไป ชูโมเดลภูเก็ตแซนด์บอกซ์ต้นแบบ ดึงการท่องเที่ยวกลับมาทำโมเมนตั้มเศรษฐกิจไทยขยับได้เร็ว ชี้แนวทางประเทศไทย ตั้งเป้าสู่พลังงานสะอาด EV สร้างอุตสาหกรรมใหม่ BCG

วันที่ 20 พฤศจิกายน 2564 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนท่ามกลางความท้าทาย (BCG,พลังงาน)” ในงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 39 “Connect the Dots : Design the Future รวมพลัง… สร้างสรรค์อนาคต” ว่า การพัฒนาประเทศในช่วงที่ผ่านมาท่ามกลางเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไทยได้เร่งการฉีดวัคซีนตามเป้าหมายระยะเเรกไปแล้ว 50 ล้านโดสในเดือน ต.ค. 2564 และกำลังจะถึง 70% ในสิ้นปีนี้

รวมถึงเป้าหมายการบูสเข็ม 3 อีก 120 ล้านโดสได้ในปี 2565 ซึ่งเป็นทั้งการลดการแพร่ระบาด สร้างภูมิคุ้มกัน เป็นหลักประกันว่าธุรกิจจะสามารถเดินหน้าต่อไปได้ นี่จึงเป็นสิ่งสำคัญมันเป็นทางออกที่เราได้เดินหน้าสู่การเปิดประเทศ การผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ซึ่งได้ส่งผลเชิงบวกทางด้านเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ต้องยอมรับว่ามันเกิดขึ้นจากความร่วมมือของรัฐและภาคเอกชน โดยรัฐได้เตรียมความพร้อมไว้ให้ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ การขนส่งทางราง ระบบขนส่งมวลชน ที่เชื่อมโยงระดับภูมิภาคไม่ใช่แค่ EEC ซึ่งจะเห็นภาพความสำเร็จนับจากนี้ไปถึง 5 ปี และมันยังสะท้อนภาคการขนส่ง การค้าขาย เศรษฐกิจไทย ขณะที่เอกชนก็ต้องเตรียมพร้อมที่จะเดินหน้าต่อ

ไม่เพียงเท่านั้นไทยยังเร่งพัฒนาประเทศ ด้วยประกาศในเวที COP 26 ครั้งล่าสุด เพื่อมุ่งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เนื่องจากไทยเองเป็นประเทศอุตสาหกรรมมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 300 ล้านตัน/ปี อัตราคาร์บอนเครดิตสูงถึง 700,000 ล้านบาท และหากไทยยังปล่อยให้เป็นไปแบบนี้จะถูกกีดกันทางการค้า ด้วยการตั้งกำแพงห้ามนำเข้าสินค้าที่ปล่อยคาร์บอนสูง

ดังนั้นนับจากนี้ไทยจะต้องปรับตัวจากผู้ปล่อยเป็นผู้ลด มุ่งสู่พลังงานสะอาด ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเรื่องของการประกยัดพลังงานมากขึ้น แน่นอนว่าจะทำให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่เป็นสิ่งที่ภาคเอกชนจะต้องเตรียมปรับตัว ส่วนรัฐจะสนับสนุนส่งเสริมทั้งสิทธิประโยชน์และมาตรการอื่น ๆ เข้ามาช่วยผู้ประกอบการ

นอกจากนี้การพัฒนาประเทศและจะเร่งให้เศรษฐกิจฟื้นตัวในระยะยาว ไทยเองจะต้องดึงผู้เชี่ยวชาญ คนรุ่นใหม่ รวมถึงบุคลากรที่เกษียณอายุแต่เก่งในด้านต่าง ๆ เป้า 1 ล้านคน ดึงเข้ามาพำนักในประเทศให้ได้ เพื่อดึงมาช่วยสร้างเทคโนโลยีดิจิทัล นวัตกรรมที่ปัจจุบันมี EECi รองรับไว้แล้ว ซึ่งมันจะสร้างรายได้ทั้งภาคบริการ อสังหาริมทรัพย์ และอื่น ๆ ตามมา

“รัฐเตรียมโครงสร้างพื้นฐานไว้ให้หลายอย่างในเชิงระบบนิเวศ เพื่อรองรับการเปิดประเทศ แต่คนทำให้เกิดคือภาคเอกชน ดังนั้นหอการค้าไทยควรใช้โอกาสนี้และประโยชน์จากตรงนี้ต่อยอด สร้างเศรษฐกิจใหม่ ๆ ผมจึงอยากให้แต่ละกลุ่มจังหวัดเริ่มจัดทำโครงการจะ 3-5 โครงการก็ทำมา เพื่อเสนอเข้ามาในเวที ครม. สัญจร ในครั้งต่อ ๆ ไป จะเสนอผ่านทางหอการค้าใหญ่มาก่อนก็ได้ ผ่านสภาพัฒน์ฯก็ได้ เพื่อที่เราจะได้หยิบมาพิจารณาอนุมัติโครงการให้ได้เลย

เพราะเชื่อว่ามันผ่านการกลั่นกรองจากเอกชนแต่ละพื้นที่จังหวัดแล้วว่าเหมาะสม เอกชนทำแผนระยะสั้น กลาง ยาว มาให้พร้อม ประโยชน์ที่จะเกิดและสิ่งที่อยากให้รัฐช่วย เหมือนที่เราไปกระบี่ล่าสุด จังหวัดฝั่งอันดามันเขาชัดเจนที่จะมุ่งไปสู่ BCG พลังงานสะอาด เมืองท่องเที่ยวน่าอยู่ มันเป็นโมเมนตั้มที่ดี”

ซึ่งหากหอการค้าฯได้เสนอโครงการเข้ามา รัฐจะได้รับทราบว่าขาดเหลืออะไร จะช่วยด้านใดได้บ้าง เช่นโมเดลภูเก็ตแซนด์บอกซ์ถือเป็นตัวอย่างต้นแบบที่ดี มีระบบการบริหารจัดการรองรับการแพร่ระบาดโควิด-19 ทุกอย่าง ดังนั้นการเปิดประเทศครั้งนี้ทุกภาคส่วนจะต้องรักษามันไว้ ทำให้ต่อเนื่อง เพื่อเศรษฐกิจประเทศจะได้เข้มแข็ง โดยรัฐจะรับฟังเอกชนเพื่อให้ทุกส่วนอยู่รอดไปด้วยกันทั้งซัพพลายเชน