ดึงคนประชาธิปัตย์ ขึ้นแท่นประธานบอร์ดการยาง

ยางพารา
Photo by Jonathan KLEIN / AFP)

เปิดประวัติ “กุลเดช” ประธานบอร์ดการยางป้ายแดง เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์สูงทางด้านการเกษตร วิทยาศาสตร์ อุตสาหกรรม หรือการบริหาร และด้านทนายความ เคยรับหน้าที่เลขาธิการ “เฉลิมชัย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตลอดจนเป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส.อุทัยธานี พรรคประชาธิปัตย์

วันที่ 1 ธันวาคม 2564 รายงานข่าวระบุ ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบแต่งตั้งนายกุลเดช พัวพัฒนกุล เป็นประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (บอร์ด กยท.) คนใหม่แทนท่านเก่าที่ครบวาระ (นายประพันธ์ บุณยเกียรติ) ซึ่งแต่งตั้งจากผู้ซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์สูงทางด้านการเกษตร วิทยาศาสตร์ อุตสาหกรรม หรือการบริหาร ด้านประวัติ เกิดเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2501 ปัจจุบันอายุ 63 ปี อาชีพปัจจุบันเป็นทนายความ

กุลเดช พัวพัฒนกุล

ขณะที่ประวัติการศึกษา จบปริญญาโทศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปริญญาตรีนิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง ทั้งนี้ ผลงานเกี่ยวกับการยกระดับเกษตรกรชาวสวนยาง อาทิ ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการและติดตามการแก้ไขปัญหาราคายาง และรักษาเสถียรภาพราคายาง คณะกรรมการโครงการประกันรายได้ เกษตรกรชาวสวนยางระยะที่ 1-2 คณะกรรมการจัดทำประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่มเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง และก่อนหน้านี้ นายกุลเดช ยังรับหน้าที่เป็นเลขาธิการ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเคยเป็นผู้สมัคร ส.ส.เขต 1 จ.อุทัยธานี เบอร์ 6 พรรคประชาธิปัตย์

สำหรับช่วงที่นายประพันธ์ บุณยเกียรติ อดีตประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย ดำรงตำแหน่งนั้นได้มีวิสัยทัศน์ ไว้ว่า กยท.มีบทบาทชัดเจนในเรื่องการส่งเสริมอาชีพเสริมและยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวสวนยาง การสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบกิจการยาง ตลอดจนรักษาเสถียรภาพราคายางรวมทั้งสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางผลิตภัณฑ์ยางพาราของโลก แม้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากวิกฤตการณ์ผลกระทบการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งทำให้เกิดบรรทัดฐานทางสังคมใหม่หรือ new normal กยท.จำเป็นต้องเรียนรู้ เข้าใจและปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยผนวกเอานโยบายของรัฐบาล ยุทธศาสตร์ชาติยุทธศาสตร์ยาง 20 ปี และนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาผสานกับยุทธศาสตร์ของ กยท.อย่างกลมกลืน เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม

พร้อมทั้งมองหาตลาดใหม่หลังพ้นวิกฤตต้องปรับธุรกิจรับ new normal ด้วยการแปรรูปสินค้าให้สอดคล้องการใช้ชีวิตผู้คนปัจจุบันที่เปลี่ยนมาดูแลสุขภาพตัวเองมากขึ้น จะมีความต้องการถุงมือยางทางการแพทย์ หน้ากากอนามัย หรือสินค้าเพื่อสุขภาพมากขึ้น จึงมีโครงการรับเบอร์วัลเลย์ ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้านวัตกรรมเกี่ยวกับยางพาราครบวงจร รองรับสถานการณ์โลกทั้งดิสรัปชั่นและไวรัสโควิด-19 เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของโมเดลธุรกิจใหม่ไปด้วย

และจะเน้นการพัฒนาต้นน้ำใหม่การพัฒนาสินค้าแปรรูปปลายน้ำและต้องการเพิ่มการใช้ยางในประเทศพื้นที่พร้อม 20,000 ไร่ของ กยท. จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งมีศักยภาพทั้งผลผลิตและโลจิสติกส์ที่สะดวก และตั้งมั่นว่าจะผลักดันโครงการนี้ให้เกิดขึ้นขณะที่ยังดำรงตำแหน่ง