“โควิด” ถึงรถไฟจีน-ลาว ความสุข…ที่อาจหายไป

ด่านจีน
ชั้น 5 ประชาชาติ
กฤษณา ไพฑูรย์

 

“โอไมครอน” ได้ดึง “ความสุข” ช่วงส่งท้ายปีเก่า ให้จางหายไป

การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยที่บรรดาแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ ทั่วโลกต่างไม่กล้าฟันธงว่า การกลายพันธุ์ของไวรัสจะก่อความรุนแรงหรือไม่ ส่งผลให้ทุกประเทศดำเนินมาตรการเข้มข้นเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาด

โดยเฉพาะ “จีน” หนึ่งในประเทศคู่ค้าหลัก ที่นอกจากไม่ให้คนออกนอกประเทศมากว่า 2 ปีแล้ว ยังงัดกฎเหล็กมาทำให้ผู้ส่งออกสินค้า “เกษตรและประมงไทย” หัวหมุนไปตามกัน จากการที่รัฐบาลจีนประกาศนโยบายควบคุมตัวเลขผู้ติดโควิด-19 รายใหม่ภายในประเทศให้เป็นศูนย์ หรือ ZERO Tolerance

ส่งผลให้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 รถบรรทุกจากประเทศต่าง ๆ ไปติดขัดหน้าด่านที่จะเข้าสู่จีนนับ 1,000 คัน เนื่องจากจีนใช้วิธี RT-PCR ตรวจหาเชื้อโควิดกับสินค้านำเข้าจากทุกประเทศทั้งการขนส่งทางบก และทางเรือ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 64 ทางการจีนได้แจ้งอย่างเป็นทางการว่า ด่านโมฮานมีการตรวจสอบที่เข้มงวดมากจะกลับมาเปิดนำเข้าสินค้าได้หลังวันที่ 26 ธ.ค. 64 ส่วนด่านโหย่วอี้กวน ให้รถผ่านด่านวันละ 100 คัน ขณะที่ด่านตงซิงปิดไม่มีกำหนด เนื่องจากพบการระบาดมาก

ขณะที่ไทยส่งออกลำไยไปจีนวันละ 100 กว่าตู้จึงเกิดการสะสม เพราะจีนใช้เวลาตรวจจาก 3-4 วันเพิ่มเป็น 15 วัน ความล่าช้าส่งผลให้ลำไยได้รับความเสียหาย ส่งผลให้ราคาหน้าสวนจาก 30-35 บาท/กก. ดิ่งลงเหลือ 3-5 บาท

ทำให้ผู้ประกอบการส่งออกผลไม้กังวลว่า หากถึงฤดูกาลส่งออกทุเรียนของภาคตะวันออกช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2565 ที่ผลผลิตออกมากมีการส่งออก 1,000 ตู้/วัน มูลค่า 100,000 ล้านบาท จะกระทบรุนแรง

ด้านการส่งออกอาหารแช่แข็งจากไทย ทั้งผลไม้ อาหารทะเล ไก่ ถูกจีนงัดมาตรการเข้มในการตรวจโควิดมาใช้เช่นเดียวกัน โดยจีนมีเงื่อนไขให้ทุกโรงงานส่งออกต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR กับพนักงานทุกคนทุก 14 วัน ค่าตรวจ RT-PCR โรงพยาบาลเอกชนครั้งละ 2,800 บาท 1 เดือนต้องตรวจ 2 ครั้งเท่ากับคนงาน 1 คนมีค่าใช้จ่ายประมาณ 6,000 บาท หรือเฉลี่ยวันละ 200 บาท

ขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาทเท่ากับแต่ละบริษัทต้องแบกต้นทุนแรงงานประมาณ 500 บาทต่อคนต่อวัน โดยทางการจีนไม่ยอมให้ตรวจด้วย ATK ซึ่งมีค่าใช้จ่ายถูกกว่า

นอกจากนี้ จีนเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ทางเรือเช่นเดียวกับทางบก โดยเฉพาะสินค้าอาหารแช่เยือกแข็ง ทางเจ้าหน้าที่จีน ให้เปิดกล่องบรรจุสินค้าออกมาและใช้อุปกรณ์ป้ายไปที่ใต้กล่องทุกใบ 100% เพื่อนำไปตรวจด้วยวิธี RT-PCR ทำให้ตู้คอนเทนเนอร์สินค้าที่ส่งไปต้องรอการตรวจนานมาก บางท่าเรือกว่าสินค้าจะผ่านพิธีการศุลกากรออกของได้เป็นเดือน ทำให้ผู้ส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งต้องเสียบปลั๊กไฟตลอดเดือน เพื่อให้ควบคุมความเย็น ซึ่งมีค่าไฟเพิ่ม และความล่าช้าทำให้ตู้คอนเทนเนอร์ไม่สามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ได้

มาตรการของจีนที่นำออกมาใช้ หากมองว่าเป็นมาตรการด้านสาธารณสุขในการดูแลคุณภาพชีวิตของประชากรชาวจีนที่ดีมาก ๆ เพื่อไม่ให้เชื้อไวรัสโควิดทุกสายพันธุ์เล็ดลอดเข้าไปสู่ประเทศจีนที่มีประชากรจีนจำนวนมหาศาล

แต่ในมุมมองด้านการค้าระหว่างประเทศ ผู้ประกอบการบางคนมองว่า จีนถือโอกาสฉวยจังหวะนี้อ้างเรื่องโควิด-19 มาเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าด้วยหรือไม่

หากเป็นเช่นนั้น ! เหตุใด ? ประเทศไทยไม่อาศัยจังหวะนี้ สกัดกั้นตรวจเข้มงวดกับสินค้าด้อยคุณภาพของจีน รวมถึง “ผักและผลไม้” บางส่วนที่ปนเปื้อนสารเคมีที่ไหลทะลักเข้าสู่ไทยอย่างง่ายดายนานนับ 10 ปี เฉลี่ยกว่า 1 ล้านตันต่อปี มูลค่ากว่า 5 พันล้านบาท

ยิ่งเมื่อจีนเปิดหวูดรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว แม้ยังไม่มีการสร้างทางรถไฟจากไทยไปต่อเชื่อม แต่มีรถบรรทุกมากมายพร้อมเข้าไปรับสินค้าวิ่งข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาวเข้าสู่ทุกจังหวัดของประเทศไทย ด้วยเวลาอันรวดเร็ว เพราะเส้นทางรถไฟช่วยย่นระยะเวลาการเดินทางจากจีนถึงลาวได้ภายใน 24 ชม.เทียบกับการขนส่งทางรถบรรทุกต้องใช้เวลา 2-3 วัน การขนส่งทางเรือใช้เวลา 10-15 วัน

เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2564 ทางการจีนได้ทดลองขนส่งผักสด 33 ตู้คอนเทนเนอร์มาลงสถานีปลายทางที่เวียงจันทน์ และนำขึ้นรถบรรทุกวิ่งตรงมาถึงตลาดไท จังหวัดปทุมธานี แหล่งค้าส่งผักใหญ่สุดของไทยภายในวันเดียว

ในแง่ผู้บริโภคได้ซื้อสินค้าราคาถูก แต่อนาคตโรงงาน เกษตรกรไทยผู้ปลูกคงอยู่ไม่ได้ เพราะต้นทุนสินค้าจีนที่เข้ามาต่ำกว่าของไทย จึงหวังให้ภาครัฐเร่งแก้ไข ก่อนที่ “ความสุข” ของคนไทยจะหายไปตลอดกาล เพราะถึงวันนี้ทุกอย่างสาย…มากแล้ว