ซาอุฯให้สิทธิถือหุ้น 100% ดึงไทยลงทุนเกษตรกุ้ง-ไก่

ซาอุ

ทูตพาณิชย์ชี้ฟื้นสัมพันธ์ 32 ปี ไทย-ซาอุฯ หนุนธุรกิจสองฝ่ายคึก ทุนซาอุฯเตรียมจัดคณะเยือนไทยสนใจลงทุนพลังงาน-เหมือง-เทรดเดอร์ดึงไทยลงทุนเกษตร ฟาร์มไก่-กุ้ง-ปลา อัดฉีดส่งเสริมลงทุนขยายเช่าที่ดินระยะยาว-ถือหุ้น 100% พร้อมธุรกิจบริการโรงแรม-ร้านอาหาร สมาคมส่งออกข้าวลุ้นฟื้นตลาด 2 ล้านตัน

การกลับมากระชับความสัมพันธ์ของไทยและราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย (ซาอุฯ) ในรอบ 32 ปี สร้างความตื่นตัวให้กับภาคธุรกิจการค้าและการลงทุนอย่างมาก จากปี 2564 ที่ผ่านมาไทย-ซาอุฯ มีการค้าระหว่างกันมูลค่ารวม 2.3 แสนล้านบาท ไทยส่งออก 51,000 ล้านบาท และนำเข้าสินค้าจากซาอุฯ 1.8แสนล้าน ยังคงขาดดุลการค้าจากการนำเข้าสินค้า “น้ำมันดิบ” มาเป็นอันดับ 1

นายอภิชาติ ประเสริฐสุด อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการพาณิชย์) ประจำสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ เจดดาห์ ประเทศซาอุดีอาระเบียและจอร์แดน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากทริปเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทำให้เกิด impact อย่างมาก เพราะว่าเดิมทีเดียวผู้นำเข้าและชาวซาอุฯก็มีความนิยมสินค้าไทยอยู่แล้ว เพียงแต่การจะติดต่อทำการค้าและการลงทุนระหว่างกันยังมีปัญหาอุปสรรค

โดยเฉพาะผู้นำเข้ารายใหม่ ๆ ยังขาดข้อมูลสมควร เพราะอุปสรรคในเรื่องของการติดต่อการเดินทางไม่สะดวก แต่จากการเดินทางมาของท่านนายกรัฐมนตรี ทำให้ชาวซาอุฯทั้งในระดับประชาชนและนักธุรกิจมีความสนใจอย่างมาก และต่อไปจะมีการเปิดเส้นทางการบินตรง (ไดเร็กต์ไฟลต์) ระหว่างกัน และมีการปลดล็อกวีซ่านักท่องเที่ยว ซึ่งทำให้หลาย ๆ อย่างในการทำการค้าและการลงทุนระหว่างการสะดวกมากยิ่งขึ้น

“การมาท่องเที่ยวที่จะเกิดขึ้นจะนำมาสู่การติดต่อการค้าด้วย เพราะว่าระบบเดิมจะยุ่งยากพอสมควร แต่ระบบใหม่จะง่ายขึ้น เพราะใช้ทัวริสต์วีซ่าได้เชื่อว่าจะมีผู้ประกอบการซาอุฯที่ใช้วีซ่านี้เพื่อเข้ามาดูสินค้าในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจำนวนมาก และขณะนี้มีนักธุรกิจซาอุฯสอบถามมาที่สำนักงาน และขอให้มีการจัดคณะเพื่อนัดหมายให้ทำความรู้จักกับผู้ประกอบการไทย”

บูมลงทุนเกษตร-บริการ

นายอภิชาติกล่าวว่า เมื่อสถานการณ์เปิดกว้างทำให้เกิดโอกาสในการขยายการลงทุนทั้งสองฝั่ง โดยซาอุฯต้องการดึงการลงทุนจากไทย เพื่ออาศัยความเชี่ยวชาญจากไทยในหลายด้าน โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และปศุสัตว์ เช่น กุ้ง ปลา ไก่ เพื่อแทนการนำเข้า

ซึ่งตอนนี้มีนักลงทุนติดต่อมาโดยตลอด ทาง สคต.จึงประสานให้พบกับคณะนักลงทุนฟาร์มปลาและฟาร์มกุ้ง คาดว่าโมเดลธุรกิจด้วยการตั้งบริษัทใหม่ร่วมกัน เบื้องต้นนักลงทุนไทยแสดงความสนใจเข้าไปดูพื้นที่

นอกจากนี้มีอีกกลุ่มที่ได้รับการติดต่อเข้ามาทันที คือ ธุรกิจบริการ ทั้งธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร ซึ่งทางซาอุฯมีความต้องการดึงความเชี่ยวชาญของฝั่งไทย ล่าสุดมีเอกชนไทยสนใจลงธุรกิจแฟรนไชส์ร้านอาหารและเครื่องดื่มแบรนด์ใหญ่ 2-3 ราย คาดว่าจะได้สรุปในปีนี้

ต่างชาติถือหุ้น 100%-เช่ายาว

สำหรับมาตรการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ซาอุฯต้องการดึงดูดการลงทุน โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรม อาทิ ฟาร์มเลี้ยงปศุสัตว์ ทางรัฐบาลซาอุฯได้เปิดกว้างให้นักลงทุนสามารถถือหุ้นได้ถึง 100% รวมทั้งมีมาตรการให้สิทธิพิเศษในการเช่าที่ดินระยะยาวด้วย

“นโยบาย MISSION 2030ซาอุฯต้องการเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจจากอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่น้ำมัน (nonoil) ซึ่งยังมีความอุดสมบูรณ์ทั้งประเทศวัตถุดิบแร่ นอกจากนี้ทรัพยากรธรรมชาติยังเป็นแหล่งผลิตแม่ปุ๋ย เหล็ก และธุรกิจบริการอย่างการท่องเที่ยวและโรงแรม โดยรัฐบาลซาอุฯมีแผนลงทุนเมกะโปรเจ็กต์บริเวณริมทะเลแดง (Red Sea) ซึ่งจะมีการก่อสร้างโรงแรมรีสอร์ต รวมทั้งมีแผนปรับปรุงเมืองเก่าสร้างจุดขายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม”

“ตลาดซาอุฯต้องบอกว่าผู้บริโภคยุคใหม่กำลังตื่นตัวเป็นอย่างมาก สังคมและวัฒนธรรมของเขากำลังถูกปรับเปลี่ยนให้เปิดกว้าง เปิดประเทศ เปิดโอกาสให้ประชาชนได้ใช้ชีวิตเสรีมากขึ้น โอกาสของสตรีในการทำงานมีมากขึ้น คนรุ่นใหม่สนใจวัฒนธรรมตะวันตกและวัฒนธรรมสากลมากขึ้น ชีวิตความเป็นอยู่โน้มเอียงไปทางวิถีตะวันตกค่อนข้างมาก ในขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจที่นี่ปัญหาโควิดไม่ได้รุนแรงมากในปี 2564 ที่ผ่านมา เพราะสามารถควบคุมและป้องกันได้ดี เศรษฐกิจเติบโตได้ดีมาก จีดีพีโตถึง 6.3% เนื่องจากภาวะราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก”

กราฟิกไทย-ซาอุฯ

สนใจพลังงาน-เหมืองในไทย

ขณะเดียวกัน ฝั่งนักลงทุนซาอุฯก็สนใจเรื่องการลงทุนพลังงานและเหมืองแร่ในประเทศไทย ส่วนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีซาอุฯก็สนใจธุรกิจบริการ อาทิ ธุรกิจตัวแทนนายหน้าหรือเทรดเดอร์นำเข้า-ส่งออก เริ่มมีการติดต่อขอให้ช่วยจัดบิสซิเนสทริป เพราะอยากทำความรู้จักกับนักธุรกิจไทย เพื่อ sourcing วัตถุดิบสินค้าในไทย ประเด็นน่าสนใจคือนักธุรกิจซาอุฯไม่ค่อยรู้จักพื้นที่การลงทุนอีอีซีซึ่งประเทศไทยกำลังโปรโมตอยู่ จึงจะเป็นโอกาสให้เข้ามาเยี่ยมชมและมองหาลู่ทางการลงทุนได้มากขึ้น”

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันไทย-ซาอุฯ ยังไม่ได้มีการเจรจาทำความตกลงเปิดเขตการค้าเสรีระหว่างกัน วิธีการที่ผ่านมาใช้ช่องทางหารือผ่านกรอบคณะกรรมการการค้าร่วม (Joint trade committee หรือ JTC) ระหวางไทย-GCC หรือกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ Gulf County เพื่อหยิบยกประเด็นทางการค้าหารือเป็นวาระ ๆ

เปิดลิสต์สินค้านำเข้าซาอุฯ

ในภาคการค้าปี 2565 นี้ มีโอกาสพลิกกลับมาขยายตัวบวกได้ดีขึ้นกว่าปี 2564 ซึ่งสถานการณ์การค้าไทย-ซาอุฯ ชะลอตัวลงเล็กน้อยจากสถานการณ์โควิด ทำให้ลูกค้าหลักที่บริโภคข้าวไทยในชุมชนอาเซียนลดลง โดยเฉพาะชาวอินโดนีเซียที่ไม่สามารถเดินทางมาแสวงบุญได้ ขณะที่คนฟิลิปปินส์ที่ทำงานในซาอุฯอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องตัดสินใจกลับประเทศค่อนข้างมาก ตลาดข้าวไทยจึงหายไปพอสมควร

รายการสินค้าอีกประเภทที่ได้รับความนิยมสูงสุด คือ ปลาทูน่ากระป๋องของไทย แต่ก็เริ่มมีปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิตสูง ทำให้ราคาสินค้าค่อนข้างสูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่ง ทำให้ผู้นำเข้าในซาอุฯหลายรายหันไปนำเข้าปลาทูน่ากระป๋องจากประเทศคู่แข่งของไทยแทน

“สินค้าหลักที่ซาอุฯมีดีมานด์สูง มีการนำเข้าสินค้ากลุ่มเดิม คือ ข้าว น้ำตาลทราย อาหารทะเลกระป๋อง แอร์ เครื่องทำความเย็น พบว่ายังมีความสนใจนำเข้าต่อเนื่องทั้งรายเก่าและผู้นำเข้ารายใหม่ ส่วนสินค้าอีกกลุ่มหนึ่งที่เริ่มมีความสนใจมากขึ้นจากผู้นำเข้ารายใหม่ และมีแนวโน้มอนาคตสดใส คือ อาหารแปรรูป, อาหารที่เป็น functional food ขนมขบเคี้ยว ซอสปรุงรส เครื่องดื่มที่เป็น functional drink โดยเฉพาะน้ำผลไม้ผสมได้รับความนิยมมาก”

โอกาสทางธุรกิจสำหรับนักลงทุนไทยยังรวมถึงการเปิดร้านอาหารไทย มีผลทำให้สินค้าวัตถุดิบที่ต่อเนื่องกับร้านอาหารไทยจะเติบโตมากขึ้น ปัจจุบันร้านอาหารไทยเปิดบริการในซาอุฯไม่มากนัก เช่น ในเจดดาห์มีแค่ 4-5 ร้าน เพราะติดปัญหาการนำเข้าวัตถุดิบค่อนข้างยุ่งยาก โดยนักลงทุนซาอุฯต้องการลงทุนเปิดร้านอาหารไทย จึงมีความต้องการจ้างเชฟอาหารไทย

สำหรับขั้นตอนพิธีการนำเข้าสินค้าทั่วไปนั้น ในด้านกฎระเบียบซาอุฯไม่แตกต่างจากประเทศอื่น ๆ อัตราภาษีนำเข้าส่วนใหญ่อยู่ที่ 5% ที่ผ่านมามีสินค้าเฉพาะด้านบางตัว เช่น อาหารและยามีกฎระเบียบการนำเข้าเข้มงวดบ้าง ยกตัวอย่างอาหารแปรรูป การผลิต manufacturing ต้องขึ้นทะเบียนและตรวจสอบสถานประกอบการฝั่งไทย สินค้าต้องปฏิบัติตามระบบฮาลาลเป็นพื้นฐาน และมีรายละเอียดของการจัดการด้านอื่นเพิ่มเติมเข้ามาด้วย

ฟื้นส่งออกข้าว 2 ล้านตัน

ขณะที่ ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวเพิ่มเติมกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากที่มีการฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ซาอุฯ คาดว่าเป็นตัวช่วยส่งเสริมการฟื้นตลาดส่งออกข้าวได้มากขึ้น เพราะในอดีตซาอุฯเคยเป็นตลาดส่งออกข้าวที่สำคัญ มีการนำเข้าข้าวปีละ 2 ล้านตัน โดยเฉพาะข้าวคุณภาพสูงราคาแพงอย่างข้าวขาว 100% หลังจากนี้ต้องติดตามว่าจะมีการขยายตลาดอย่างไรได้บ้าง