วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน กระทบอาหารสัตว์ ข้าวสาลีขึ้นราคา 35%

ภาพจาก Pixabay

วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน กระทบอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ข้าวสาลีปรับขึ้นราคาเป็นกิโลกรัมละ 12 บาท 

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวว่า ขณะนี้อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ได้รับผลกระทบอย่างมากจากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน เนื่องจากยูเครนถือเป็นแหล่งนำเข้า “ข้าวสาลี” ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตอาหารสัตว์ ล่าสุดขณะนี้ราคาข้าวสาลีนำเข้าปรับขึ้นไปเป็นกิโลกรัมละ 12 บาท
จากเดิมก่อนที่จะมีวิกฤตในปี 2564 มีราคากิโลกรัมละ 8-9 บาท หรือปรับขึ้นไปกิโลกรัมละ 3 บาท คิดเป็น 34-35%

ส่งผลให้ราคาข้าวสาลีนำเข้า “สูงกว่า” ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ และส่งผลกระทบทางอ้อมถึงต้นทุนวัตถุดิบอื่น ๆ ที่ปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย เพราะหากนำเข้าจากยูเครนไม่ได้ก็ต้องหันไปนำเข้าจากแหล่งอื่น ซึ่งก็จะมีราคาสูงขึ้นเช่นเดียวกัน

“แม้สถานการณ์ความตึงเครียดจะยังไม่กระทบต่อการขนส่ง แต่ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นแรงกดดันจากก่อนหน้านี้ที่มีการปรับขึ้นค่าขนส่ง ค่าระวางเรือไปแล้ว 2-3 เท่า และในส่วนผู้ประกอบการเองไม่ได้มีการสต๊อกวัตถุดิบไว้มากนัก เพราะจะต้องนำเข้าข้าวสาลีตามมาตรการกำหนดสัดส่วนการนำเข้าของกระทรวงพาณิชย์ ที่ให้ซื้อข้าวโพด 3 ส่วน เพื่อนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน

ซึ่งหากเทียบแล้วในแต่ละปี ผู้ประกอบการจะสามารถนำเข้าข้าวสาลีได้ประมาณ 1,000,000 ตัน ซึ่งจะเป็นการนำเข้าแบบปีต่อปี หากถามว่าจะตรึงราคาด้วยสต๊อกเดิมถึงเมื่อไหร่ ก็คงจะตอบไม่ได้” นายพรศิลป์กล่าว

“ทางสมาคมเคยขอปรับขึ้นราคากับกระทรวงพาณิชย์ แต่ไม่ได้รับการพิจารณาและทางสมาคมขอให้กระทรวงพาณิชย์ช่วยลดภาษีนำเข้ากับถั่วเหลือง 2% ก่อนหน้านี้เพื่อเยียวยาผลกระทบเรื่องต้นทุนวัตถุดิบ แต่ก็ไม่ได้รับพิจารณาเช่นกัน จากนี้ผู้ประกอบการแต่ละรายที่ให้ความร่วมมือในการตรึงราคาก็จะพิจารณาตามความเหมาะสมของสายป่านของแต่ละรายว่าจะตรึงราคาได้นานสักเท่าใด” นายพรศิลป์กล่าว

ด้าน นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ประเด็นปัญหารัสเซียกับยูเครน ส่วนใหญ่ในภาคธุรกิจก็ยังให้ความเป็นห่วงและกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และได้มีการหยิบยกประเด็นนี้เข้าไปหารือ ในการประชุมสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปก หรือ APEC Business Advisory Council (ABAC) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

แต่สำหรับประเทศไทยนั้นมองว่าได้รับผลกระทบน้อยและไม่รุนแรง หากเทียบกับประเทศที่มีปัญหาข้อพิพาทกัน โดยรัฐบาลเองก็ได้เข้ามาดูแลในเรื่องของพลังงาน เพื่อไม่ให้กระทบต่อราคาสินค้า อัตราเงินเฟ้อ รวมไปถึงค่าไฟฟ้าหรือก๊าซหุงต้มด้วย