“โอ้กะจู๋” กางแผนผนึก “โออาร์” ลุยขยายอีก 60 สาขา ปี’65

ชลากร เอกชัยพัฒนกุล โอ้กะจู๋
สัมภาษณ์

 

“โอ้กะจู๋” ชื่อร้านที่ผวนมาจาก “อู๋กะโจ้” ชื่อเล่นของ 2 ผู้ก่อตั้งหลัก ร้านอาหารเพื่อสุขภาพแบรนด์ดังแห่งยุค “ประชาชาติธุรกิจ” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ “อู๋” หรือ “นายชลากร เอกชัยพัฒนกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ จำกัด ซึ่งเป็น 1 ใน 2 ผู้ก่อตั้งที่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วด้วยวัยเพียง 35 ปี ถึงแผนต่อยอดธุรกิจหลังจากเข้าอยู่ในเครือข่ายของ “โออาร์” บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) ซึ่งรุกขยายธุรกิจด้านอาหารและเครื่องดื่ม (Food and Beverage : F&B) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564

หลังร่วมกับโออาร์

ถ้านับเวลาจากตอนที่ปลูกผักที่เริ่มจากปี 2010 รวมก็ 12 ปี แต่ถ้านับจากตอนที่เปิดร้านโอ้กะจู๋จนถึงปีนี้ก็เป็นปีที่ 9 แล้ว พอเราได้จอยต์กับโออาร์แล้ว เราก็มีความร่วมมือหลาย ๆ ด้าน เช่น อเมซอน เริ่มโครงการ Pilot มาตั้งแต่ปลายปี 2564 ผลิตภัณฑ์ที่ขายใน Amazon จะเป็นลักษณะพร้อมทาน (ready to eat) มีให้เลือก 3 ขนาด แต่ถ้าเป็นในพีทีทีสเตชั่นพร้อมให้นั่งรับประทานได้ อย่างล่าสุดเปิดที่ ACTIVE Park ที่พีีทีที สเตชั่นสาขาเมืองทอง นอกจากนี้ก็มีการขายผ่านช่องทางออนไลน์ และทำคลาวด์คิทเช่นด้วย

แผนการขยายสาขา

เป้าหมายในปีนี้อยู่ที่ 60 สาขา เราอยู่ระหว่างเจรจากันกับโออาร์ การเลือกทำเลในกรุงเทพฯ หลังจากนำร่องไปแล้วว่าต่อไปจะไปขยายในรูปแบบไหน ซึ่งหลัก ๆ เลย ก็จะมีการเปิดร้านในลักษณะเดียวกับ Active Park ซึ่งที่คุยกันไว้ก็มีอยู่ประมาณ 3-4 ที่ รอทางโออาร์ อาจมีการปรับแลนด์สเคปและรีโนเวต แล้วก็จะมีเราเข้าไปเป็นหนึ่งในนั้นด้วย จากนั้นในปี 2566 จะขยายสาขาในจังหวัดรอบกรุงเทพฯ

โอ้กะจู๋

เงินลงทุนเอง

เรื่องการลงทุนจะเป็นการลงทุนเองของเรา แต่อยู่ระหว่างการเลือกสาขาเพราะสถานีบริการน้ำมันของพีทีทีสเตชั่น มีทั้งที่ดำเนินการโดยดีลเลอร์และของบริษัทดำเนินการเอง หรือ COCO (Company owned Company Operated) ในส่วนของทำเลที่เลือกเราก็จะเลือกในส่วนของโคโค เป็นของโออาร์ทำเอง

โควิดกระทบรายได้ปีที่แล้ว

การรวมกับโออาร์เป็นโอกาสที่ดี แต่ด้วยสถานการณ์โควิดจึงทำให้ภาพรวมของรายได้ในปีที่แล้วก็ไม่ได้ดีขึ้นเท่าไหร่นัก แต่พอมาถึงต้นปีของปีนี้สถานการณ์เริ่มรีบาวนด์กลับมาดีขึ้น และยิ่งพอเรามาเปิดสาขาใหม่ เราก็พบว่ามีลูกค้าสะท้อนว่ารู้สึกดีที่มาเปิดใกล้บ้านไม่ต้องรอคิวแล้ว

ทางร้านไม่ได้ทำเมนูพิเศษสำหรับโออาร์ หัวใจสำคัญของการทำธุรกิจร้านอาหารในเรื่องของการทำเมนูนั้นจะมีการทบทวนลิสต์เมนูทุก 3 เดือน เพื่อให้สอดคล้องกับการเลือกใช้วัตถุดิบ พืชผักและผลไม้ที่ผลิตตามฤดูกาลเป็นหลัก

ปุ๋ย-น้ำมันแพง ต้นทุนขึ้น

ในส่วนของเราก็กระทบมาตั้งแต่ปีที่แล้ว เพราะว่าราคาวัตถุดิบปรับสูงขึ้น อย่างเช่น ราคาเนื้อหมู ปรับขึ้น และต้นทุนค่าขนส่งก็สูงขึ้น เพราะหลักแล้ววัตถุดิบผักของเรามีสวนอยู่ที่เชียงใหม่จะต้องใช้ระบบขนส่งลงมากระจายมายังสาขาในกรุงเทพฯ เราก็ต้องเจอเรื่องค่าโลจิสติกส์อยู่แล้ว จนถึงตอนนี้ภาพรวมต้นทุนปรับสูงขึ้นประมาณ 20% แต่เรายังไม่มีการปรับราคาคงจะรอจนถึงกลางปีนี้ เพื่อพิจารณาดูว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร จากนั้นก็จะดูเรื่องราคาอีกครั้ง ถ้าสถานการณ์ดีขึ้นก็ไปต่อได้ แต่ถ้าต้นทุนยังสูงก็ต้องมาพิจารณาว่าจะอย่างไร

ขยายสวนสู่พื้นที่อื่น

ตอนนี้เตรียมลงทุนขยายพื้นที่ทำสวนผักเพิ่มอีก 140 ไร่ ซึ่งจะเป็นพื้นที่เดิมที่ ต.ฟ้าฮ่าม อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เรามีสวนเฉพาะที่เชียงใหม่ เมื่อปลูกเสร็จแล้วก็ส่งมาทางกรุงเทพฯเข้าสู่ศูนย์กระจายสินค้าของเราที่กรุงเทพฯ ก่อนที่จะกระจายไปยังสาขาต่าง ๆ

“แต่เดิมก็เคยมองถึงโอกาสในการขยายสวนผักมาที่กรุงเทพฯ ตอนที่เปิดสาขาแรกที่กรุงเทพฯ เราเคยทดลองทำสวนที่นี่แล้ว เหตุที่ผักสลัดเป็นผักเมืองหนาวอุณหภูมิที่ปลูกจะต้องเย็น แต่สภาพภูมิอากาศของกรุงเทพฯที่มีอุณหภูมิที่ร้อนกว่า 40 องศาเซลเซียส ก็เลยไม่สามารถจะปลูกได้ แต่หากเป็นสาขาในโซนพื้นที่ อย่างปากช่อง เขาใหญ่ ที่มีอุณหภูมิต่ำก็อาจจะมีความเป็นไปได้ที่จะดูเรื่องการขยายสวนในอนาคต ซึ่งต้องไปศึกษาหาทำเลที่เหมาะสมเพื่อที่จะเช่าปลูก”

ส่วนแนวโน้มเรื่องการลงทุนพัฒนาโอ้กระจู๋เป็นธุรกิจแฟรนไชส์นั้น เรายังมองว่ามีความเป็นไปได้น้อย เพราะยังห่วงในเรื่องของการรักษาคุณภาพของอาหาร ถ้าให้ผู้อื่นมาปลูกแทนเราก็ไม่มั่นใจว่าการปลูกจะเป็นออร์แกนิกจริงหรือไม่