ประหยัดพลังงาน วาระแห่งชาติ สู้วิกฤต

พลังงาน น้ำมัน

สงครามรัสเซีย-ยูเครนส่งผลกระทบโดยตรงต่อราคาพลังงาน เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าปีนี้ ราคาค่าไฟ-ก๊าซหุงต้ม จำเป็นต้องทยอยปรับขึ้น กระทบค่าครองชีพประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นับเป็น “โจทย์หินวิกฤตพลังงาน” ที่ท้าทาย ภารกิจกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ที่จะกระตุ้นทุกภาคส่วนให้ตระหนักวิกฤตครั้งนี้อย่างไร เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยกวิกฤตนี้เป็นวาระชาติ

พลังงานรับมือ 3 เดือน

ก่อนหน้านี้ กระทรวงพลังงานประเมินไว้แล้วว่า หากสถานการณ์ยืดเยื้อในอีก 3 เดือน (เมษายน-มิถุนายน) จะใช้งบประมาณเบื้องต้นประมาณ 45,000 ล้าน เพื่อลดภาระที่จะเกิดกับประชาชนและระบบเศรษฐกิจของประเทศให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็น การตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร (กรณีราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 115-135 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล) กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะอุดหนุนอยู่ที่ประมาณลิตรละ 8 บาท

เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน รัฐจะช่วยสนับสนุนการตรึงราคาครึ่งหนึ่ง (50%) ส่วนก๊าซหุงต้ม LPG จะดูแลประชาชนกลุ่มเปราะบาง โดยกลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทั่วไป จะได้รับส่วนลดสำหรับซื้อก๊าซ LPG เพิ่มเติมอีก 55 บาท รวมเป็น 100 บาทต่อ 3 เดือน

สำหรับ “ค่าไฟ” ในรอบเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2565 แม้จะปรับเพิ่มขึ้นอีก 23.38 สตางค์ต่อหน่วย เป็น 24.77 สตางค์ต่อหน่วย แต่เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วย/เดือน ซึ่งคิดเป็นผู้ใช้ไฟฟ้ากว่า 20 ล้านราย หรือคิดเป็นร้อยละ 85 ของครัวเรือน จะมีการให้ส่วนลดโดยคงค่า Ft ไว้ที่ 1.39 บาทต่อหน่วย ในรอบเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2565

วิกฤตพลังงานวาระชาติ

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า จากปัญหาการใช้พลังงานภายในประเทศที่ส่งผลกระทบกับทุกภาคส่วน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศให้การลดใช้พลังงานเป็นวาระแห่งชาติ ให้ทุกภาคส่วนลดการใช้พลังงาน และมอบหมายให้ พพ.ในฐานะหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่ในการพัฒนาและส่งเสริมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน จัดทำมาตรการสนับสนุนการประหยัดพลังงานในภาครัฐ 20%

Advertisment

โดยภาคราชการต้องส่งเอกสารทางระบบ e-Government แทนการพิมพ์เอกสาร การล้างเครื่องปรับอากาศทุก 3 เดือน ใช้ไฟฟ้า 60% ของทั้งหมดในอาคารปิดแอร์ก่อนหมดเวลางาน 30 นาที

ขณะที่ภาคประชาชน ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม ภาคขนส่ง ให้ลดพลังงาน เป็นอย่างน้อย 10% ให้ประชาชนเปิด-ปิดแอร์เป็นเวลา ถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าหลังใช้งาน ถ้าครัวเรือนประหยัดไฟฟ้าได้ 10%

“มาตรการต่าง ๆ นี้จะช่วยประเทศประหยัดได้ 40,000 ล้านบาทต่อปี อีกทั้งหากช่วยกันทุกภาคส่วน รวมภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจ ประเทศจะประหยัดได้ถึง 150,000 ล้านบาทต่อปี ช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่ยังคงมีราคาสูง นำมาผลิตไฟฟ้า”

“ปัจจุบันราคา LNG สูงขึ้นถึง 35 เหรียญ/ล้านบีทียู ทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าจาก LNG สูงขึ้นถึงหน่วยละ 7.50 บาท โดยหากลดการใช้พลังงานได้ก็ลดการนำเข้าได้มากถึง 1,200 ล้านบาท และมีส่วนช่วยราคาค่าไฟฟ้าได้ในอนาคต จึงขอให้ทุกคนช่วยกันประหยัดพลังงาน เพราะเป็นวิธีดีที่สุดในขณะนี้แล้วที่จะต่อสู้กับสถานการณ์วิกฤตพลังงานให้ผ่านพ้นไปได้ เป็นสิ่งที่ทำได้ทันที และเห็นผลได้อย่างรวดเร็ว”

Advertisment

เพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทน

นอกจากนี้ กรมอยู่ระหว่างปรับแผนพลังงานทดแทน 2022 เพื่อให้เห็นภาพพลังงานทดแทนในอนาคตชัดเจนขึ้น โดยตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วน 70% ซึ่งด้วยศักยภาพในประเทศ ประกอบด้วย พลังงานแสงอาทิตย์ ปัจจุบันมีกำลังผลิต 100,000 เมกะวัตต์ (โซลาร์เซลล์) พลังงานลม 10,000 เมกะวัตต์ ขณะที่พลังงานชีวมวล มีกำลังผลิต 3,000 เมกะวัตต์ ถือว่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และยังเปิดกว้างการลงทุน

ทั้งยังเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน เฟส 2 ซึ่งกำลังหารือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสภาอุตสาหกรรมฯ มองหาพืชและพื้นที่เป้าหมายเพื่อเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน ชีวมวล รวมทั้งยังมีไฟฟ้าพลังน้ำ กระเเสการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า EV ทั้งหมดนี้ล้วนอยู่ภายใต้แผนพัฒนาพลังงานทดแทนที่กรมจะเร่งรัดเพิ่มสัดส่วนให้มากขึ้น ให้สอดรับกับมาตรการลดคาร์บอนอีกด้วย

ส่วนโรงไฟฟ้าไหนที่หมดอายุ เสื่อมสภาพ อาจจะต้องซื้อมาแล้วให้พลังงานหมุนเวียนเข้าไปเสียบเเทน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง EV ยานยนต์ไฟฟ้ามาแน่ และเราจะหารือพัฒนาเรือไฟฟ้า สร้างจุดชาร์จให้มากขึ้น

“การเปลี่ยนโหมดรับเทรนด์พลังงานทดแทน กรมจะเดินหน้าผลักดันและจะเป็นอีกประเด็นนำไปสู่เป้าหมายนโยบายคาร์บอน เพราะหากจะรอปัจจัยอื่น ๆ ภายนอกที่ปัจจุบันราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับ 90-100 เหรียญ/บาร์เรล เมื่อกำลังการผลิตไม่เพียงพอต่อเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวก็อาจจะช้าเกินไป”

ลุ้น ธปท.ปล่อยสินเชื่ออาคาร

ส่วนมาตรการเดิมที่มีอยู่ต้องเพิ่มงบประมาณเข้าไปเพื่อดึงดูด กระตุ้นให้เกิดเป็นรูปธรรมให้เร็วขึ้น โดยล่าสุดได้จัดสรรงบฯ กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน 500 ล้านบาท เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรม ภาคเอกชน ปรับเปลี่ยน ปรับปรุงเครื่องจักร อุปกรณ์ในโรงงานและอาคาร

“กรมกำลังหารือกับธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง อาทิ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เพื่อสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน โดยเอกชนสนใจเข้าร่วม ‘อาคารอนุรักษ์พลังงาน’ ถึง 322 อาคาร ภายในเดือนพฤษภาคมนี้”

และประสานธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ปล่อยสินเชื่อผ่านธนาคารพาณิชย์ ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ให้ผู้ประกอบการที่ต้องการเงินทุนไปเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำร้อยละ 2 ในช่วง 2 ปีแรก และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีถัดไป แต่ไม่เกินร้อยละ 5 ทั้งหมดนี้จะมีส่วนช่วยประหยัดพลังงานอย่างมาก

อัดเเคมเปญประหยัดพลังงาน

ขณะที่บริษัทด้านพลังงาน อาทิ ปตท. จัดแคมเปญ “ก๊อดจิชวนใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าและประหยัด” เพื่อสื่อสารรณรงค์ประหยัดพลังงานทุกช่องทาง พร้อมจัดตรวจเช็กสภาพเครื่องยนต์ เพื่อช่วยลดการใช้เชื้อเพลิง โดยบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือโออาร์

ขณะที่บริษัท “บางจาก” จัดทำโครงการ “Bangchak 100x Climate Action : ทุกคนช่วยได้” รณรงค์ประหยัดพลังงาน ลดโลกร้อนในระยะยาว ตลอดปี 2565 ทั้งสนับสนุนการใช้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า Winnonie และรถไฟฟ้า (EV) เพื่อลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง ลดการใช้ไฟฟ้าในอาคารสำนักงานใหญ่บางจากฯ และลดการใช้พลังงานในกระบวนการผลิตของโรงกลั่นน้ำมัน รณรงค์ด้านการคัดแยกขยะและนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี

อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามว่าสถานการณ์ความยืดเยื้อสงครามรัสเซีย-ยูเครน ต่อเศรษฐกิจโลกหลังสิ้นสุดมาตรการ 3 เดือนกระทรวงพลังงานจะเป็นอย่างไร จะกระทบราคาพลังงานไปอีกนานหรือไม่ แต่หากไม่ช่วยกันประหยัดพลังงาน ประเทศไทยจะต้องจ่ายค่าพลังงานมหาศาลจากการใช้น้ำมัน 100 ล้านลิตรต่อวัน มีการใช้ไฟฟ้ากว่า 8 แสนล้านบาทต่อปี จะยิ่งกระทบค่าครองชีพโดยไม่รู้ตัว !?