BOI ฟื้นลงทุนครึ่งปีหลัง สั่ง 16 สำนักงานจัดทัพโรดโชว์ยุโรป

ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ BOI
ดวงใจ อัศวจินตจิตร์
สัมภาษณ์

เมื่อเป้าหมายและสถานการณ์โลกเปลี่ยนไปเร็วกว่าที่คิด ยุทธศาสตร์เดิม ๆ ที่เคยกำหนดไว้เป็นธงอาจไม่สอดรับกับความเป็นจริงอีกต่อไป เช่นเดียวกับการพัฒนาประเทศไทยเองที่ต้องก้าวไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ด้วยการใช้ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) มาเป็นตัวขับเคลื่อน ดึงเครื่องมือที่ดีที่สุดใช้จูงใจนักลงทุน

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์” เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) หน่วยงานสำคัญที่สร้างกลไก หลักเกณฑ์การส่งเสริมการลงทุนขึ้นมา ทำให้ทุกวันนี้มีบริษัทรายใหญ่ระดับโลกปักหมุดลงทุนที่ไทยจำนวนมาก และการทำยุทธศาสตร์รอบใหม่แทนยุทธศาสตร์เดิม ปี 2558-2564 ต้องเร่งให้เสร็จทันเดือน ก.ย. 2565 ก่อนที่จะเกษียณอายุ

ยุทธศาสตร์เก่า-ใหม่

เดิมยุทธศาสตร์บีโอไอระยะ 7 ปี (2558-2564) แต่ปรับให้ล้อไปกับยุทธศาสตร์ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศค. หรือสภาพัฒน์) คือจะสิ้นสุดในปี 2565 ดังนั้นการทำยุทธศาสตร์ใหม่ของบีโอไอ จึงใช้เวลา

แต่อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์ใหม่ยังคงมุ่งส่งเสริม 6 ด้าน คือ ส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ แน่นอนว่าจะต้องส่งเสริมกิจการเกี่ยวกับงานวิจัย นวัตกรรม กิจการที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคเกษตร อุตสาหกรรม บริการ SMEs

“การให้สิทธิประโยชน์ตามประเภทกิจการ แบ่งเป็น A1-A4 และ B1-B2 คงเดิม แต่หลังจากจัดทำยุทธศาสตร์อาจจะมีการปรับแก้ไขเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังส่งเสริมกิจการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มลงทุน (cluster) ส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ส่งเสริมการลงทุนของไทยในต่างประเทศ ทั้งหมดนี้ในยุทธศาสตร์ใหม่จะยังคงอยู่เป็นหลักเกณฑ์ไว้ แต่จะมีการเปลี่ยนแปลงในรายละเอียดย่อยอีกหลายเรื่อง”

ยกเลิก-เพิ่มบางกิจการ

อย่างบางประเภทกิจการที่เรากำหนดไว้ในแต่ละหมวด เรามานั่งดูบางกิจการไม่เป็นประโยชน์กับเราหรือแทบจะไม่มีการยื่นขอเลย กิจการแบบนี้เราจะคัดออก และ “ยกเลิก” เช่น พวก “ผลิตชิ้นส่วนกันชนหน้ารถ” เขาจัดอยู่ในกลุ่มได้แค่ยกเว้นอากรวัตถุดิบ มันอาจไม่ได้ทำให้เขาใช้สิทธิตรงนี้หรือไม่มีประโยชน์กับเขา จึงไม่มีคนมาขอแม้ว่าเขาจะเป็นกิจการที่เราส่งเสริมก็ตาม เราไม่อยากเปลืองภาษีที่ให้ คือหมายความว่าถ้ามันไม่เป็นประโยชน์ คนไม่ขอ เราก็ยกเลิกไปดีกว่า และปรับแก้เอากิจการที่ปัจจุบันมันเป็นประโยชน์กับนักลงทุนดีกว่า

ส่วนกิจการที่ต้องเพิ่มมีจำนวนมาก ทางทีมงานทำงานทุกวันที่จะดูว่าทุกวันนี้มีอะไรเกิดขึ้นใหม่บ้าง เราพูดเรื่อง BCG (เศรษฐกิจชีวภาพ Bioeconomy เศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy เศรษฐกิจสีเขียว Green Economy) กันมาตลอด มันก็จะมีกิจการที่เราต้องใส่ “เพิ่มเข้าไป”

กิจการที่สนับสนุนภาคการเกษตร หรืออย่างกิจการกรีนไฮโดรเจน (Green Hydrogen) เราพูดถึงกันแต่ Green พลังงานสะอาด แต่ยังไม่มีใครพูดถึงกรีนไฮโดรเจน หรือแม้กระทั่งกิจการพวกอัจฉริยะ Smart ต่าง ๆ ที่ล่าสุดเราให้สิทธิประโยชน์กับ “กิจการนิคมหรือเขตอุตสาหกรรมอัจฉริยะ” จากเดิมที่เราเน้นส่วนที่เป็นเมืองอัจฉริยะเท่านั้น

OECD เก็บภาษีบริษัทข้ามชาติ

อย่างที่รู้กันว่าเมื่อไม่นานมานี้ องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ได้ประกาศเรื่องอัตราการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ หรือ Global Minimum Tax Rate จากบริษัทข้ามชาติทั่วโลก โดยอัตราภาษีดังกล่าวจะถูกกำหนดเอาไว้ที่ 15% ซึ่งตรงนี้เรากำลังศึกษากันว่าจะต้องปรับรูปแบบการให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีกันอย่างไร

เพราะในอนาคตแน่นอนว่าบริษัทที่มาขอรับการส่งเสริมจากบีโอไอจะต้องโดนสิ่งนี้ เขากำหนดไว้กับบริษัทที่มีรายได้รวมตั้งแต่ 750 ล้านยูโรขึ้นไป หรือประมาณ 30,000 ล้านบาท ซึ่งก็มีลูกค้าของบีโอไอแน่นอนอยู่แล้ว

การลงทุนครึ่งปีหลัง

“ไทยยังเป็นประเทศที่น่าสนใจอยู่ การลงทุนหลังจากที่อั้นมาระยะหนึ่ง จากนี้เมื่อเราเปิดประเทศไม่เพียงที่เราจะออกไปชักจูงมา แต่นักลงทุนที่เราติดต่อคุยกันมาตลอด เขาก็จะสามารถเดินทางเข้ามาได้แล้ว แนวโน้มการลงทุนยังมีมาตลอด อุตสาหกรรมเป้าหมายทั้ง 12 ตัวของเราอย่างที่เห็น มีหลายอุตสาหกรรมที่เติบโตมาก อย่างอุตสาหกรรมการแพทย์ เทคโนโลยีชีวภาพ พัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการศึกษา”

จากตัวเลขขอรับส่งเสริมการลงทุนไตรมาส 1 (ม.ค.-มี.ค. 2565) ที่มียอดขอรับการส่งเสริม 378 โครงการ เพิ่มขึ้น 1% มีมูลค่าเงินลงทุน 110,730 ล้านบาท แม้จะลดลง 6% แต่เราได้อุตสาหกรรมที่เราต้องการ S-curve ถึง 174 โครงการ คิดเป็น 46% ของจำนวนทั้งหมด มูลค่าลงทุน 78,210 ล้านบาท คิดเป็น 71% ของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมทั้งหมด โดยอุตสาหกรรมการเกษตรและแปรรูปอาหารมีจำนวนโครงการสูงที่สุด ส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนมีมูลค่าเงินลงทุนสูงที่สุด

ส่วนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศที่ไม่มีตัวเลขการยื่นขอรับส่งเสริมเลยนั้น ต้องยอมรับว่ามันเป็นอุตสาหกรรมที่มีผู้เล่นน้อยมาก และบางกิจการ เช่น ดาวเทียม เขาก็ไปยื่นขอไปในประเภทกิจการอื่นที่ได้

รายที่มีผลิตอาวุธจริง ๆ อย่างพวกกระสุนปืนก็มี แต่อย่างที่บอกคือผู้เล่นน้อย เขาไม่ได้ลงทุนใหม่ก็ไม่ได้ยื่นขอ เลยทำให้เห็นว่าตัวเลขของอุตสาหกรรมนี้ไม่มีเลย แต่เราก็ยังต้องสนับสนุนต่อไป เพราะในอนาคตเราไม่รู้ว่าจะมีกิจการอะไรที่อยู่ในกลุ่มนี้เพิ่มเข้ามาอีก อย่างน้อยเราก็จะยังส่งเสริมผู้ผลิตในประเทศได้

16 สนง.ต่างประเทศลุยโรดโชว์

ตอนนี้สำนักงานที่อยู่ในต่างประเทศ 16 แห่ง เราสั่งให้ลุยออกไปพบไปเจอลูกค้าได้เลย ก่อนนี้ช่วงที่มีโควิด-19 กิจกรรมจะเน้นในรูปแบบออนไลน์เท่านั้น ในหลายประเทศจัดกิจกรรมแบบพบปะกันได้แล้ว เริ่มทยอยจัดกิจกรรมมากขึ้น อย่างล่าสุดที่เราเดินทางไปญี่ปุ่นพร้อมกับรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ได้หารือกับเอกชนหลายราย ซึ่งยังมองไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนเหมือนเดิม

โดยเฉพาะเรื่องยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เพราะมีมาตรการออกมาจนครบแล้ว หากดูเฉพาะในส่วนการส่งเสริมการลงทุนยานยนต์ไฟฟ้าด้วยแบตเตอรี่ (BEV) เราออกมาตรการทั้งที่เป็นการประกอบ 44,000 ล้านบาท แบตเตอรี่ 4,800 ล้านบาท สถานีชาร์จ 3,000 ล้านบาท ชิ้นส่วนอีกรวมแล้วลงทุน BEV ทั้งหมด 60,000 ล้านบาท นับว่าเป็นตัวเลขที่สูง เป็นแนวโน้มที่ดี บวกกับรัฐมีมาตรการกระตุ้นส่วนอื่นมาช่วยอีก ทั้งส่วนลดราคาทำให้คนตัดสินใจซื้อรถใช้รถ EV มากขึ้น เชื่อว่ามันจะมีการลงทุนเรื่อย ๆ

“เร็ว ๆ นี้เราเตรียมจะไปโรดโชว์อีกครั้งที่ยุโรป โดยมีเป้าหมายชัดเจนอย่าง อุตสาหกรรม BCG อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ กลุ่มพวกนี้เรายังต้องการอยู่ และยังมีกลุ่มที่เป็นพวกสารสกัดจากพืชท้องถิ่น เพราะกลุ่มนี้จะเป็นประโยชน์มาก ๆ กับประเทศไทย เพราะจะพ่วงเรื่องของนวัตกรรมเข้ามาด้วย”