บริดจสโตนย้ายโรงงานฮ่องกงลงอีอีซี สวนยางรับอานิสงส์ยางเครื่องบิน

ยางเครื่องบิน

ชาวสวนยาง-ผู้ประกอบการรับอานิสงส์ “บริดจสโตน” ย้ายฐานผลิตโรงงานหล่อดอกยางเครื่องบินจากฮ่องกงเข้าไทย ขยายไลน์ขึ้นโรงงานใหม่ในนิคมอมตะซิตี้ ชลบุรี ด้าน “นอร์ทอีสรับเบอร์” ซัพพลายเออร์ยางบริดจสโตนมั่นใจช่วยบูมลงทุนอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและการบิน ให้จับตาผู้ผลิตยางรายอื่นแห่ตามเข้าไทย

จากกรณีที่ นิกเคอิ เอเชีย รายงาน บริษัทบริดจสโตน ผู้ผลิตยางล้อรายใหญ่ที่ญี่ปุ่น ประกาศ (11 ก.ค. 2565) จะปิดโรงงานหล่อดอกยางเครื่องบินที่ฮ่องกงและย้ายมาตั้งที่ จ.ชลบุรี ภายในเดือน มิ.ย. 2566 ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อความได้เปรียบจากที่ตั้งที่ใกล้กับลูกค้ารายสำคัญของบริษัท

โดยการย้ายโรงงานมาไทยจะช่วยเรื่องประสิทธิภาพการผลิตและส่งมอบสินค้า ขณะที่โรงงานบริดจสโตนในประเทศไทยได้ตั้งขึ้นในปี 2560 มีพนักงาน 94 คน ต่อไปโรงงานแห่งนี้จะทำหน้าที่เป็นแหล่งจัดจำหน่ายให้ฮ่องกง

การปิดโรงงานหล่อดอกยางที่ฮ่องกงจะส่งผลให้บริดจสโตนเหลือโรงงานหล่อดอกยางสำหรับเครื่องบิน 5 แห่ง ได้แก่ ญี่ปุ่น เมืองชิงเต่า จีน นอร์ทแคโรไลนา สหรัฐอเมริกา และเมืองเฟรมรี เบลเยียม ขณะที่บริดจสโตนประกอบธุรกิจการผลิตในโรงงาน 160 แห่งทั่วโลก (ข้อมูล ณ ปี 2562)

นอกจากนี้ ERJ ยังรายงานว่า บริดจสโตน คอร์ป กำลังรวมกิจการผลิตยางล้อสำหรับเครื่องบินในเอเชีย ระหว่างบริษัทบริดจสโตน แอร์คราฟต์ ไทร์ โค เอเชีย (BAA) ฮ่องกง กับบริษัทบริดจสโตน แอร์คราฟต์ ไทร์ แมนูแฟคเจอริ่ง ไทยแลนด์ หรือ BAMT มาเป็นบริษัทเดียวกันและนำไปตั้งที่บริษัทในเครือในที่ จ.ชลบุรีทั้งหมด

รายงานข่าวจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ระบุที่ผ่านมา กลุ่มบริษัทในเครือบริดจสโตนมีการลงทุนในประเทศไทยทั้งในชื่อของ “บริดจสโตน” เองและใช้ชื่ออื่น แต่ถือหุ้น 100% จากบริดจสโตน โดยมีการยื่นขอส่งเสริมการลงทุนในหลายประเภทกิจการ

อาทิ การผลิต Steel tyre Cord ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ลวดเหล็กใช้เสริมหน้ายางรถยนต์ ประเภทยางเรเดียล, กิจการผลิตคาร์บอนแบล็ค ที่ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตยางรถยนต์การผลิตยางแผ่นและยางแท่ง, การผลิตผลิตภัณฑ์ยาง, การผลิตผลิตภัณฑ์โพลียูรีเทนเพื่อผลิตเป็นเบาะรองนั่ง รวมถึงรับจ้างผลิตยางหล่อดอกสำหรับอากาศยาน โดยมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 17,000 ล้านบาท

ลุ้นรายอื่นขยายฐานตาม

นายชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทนอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) ซัพพลายเออร์ยางให้กับบริษัทบริดจสโตน กล่าวว่า การย้ายฐานการผลิตครั้งนี้ถือเป็นแผนการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนของบริดจสโตน ซึ่งเดิมทีมีโรงงานอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะอยู่แล้ว

ดังนั้นการย้ายฐานการผลิตครั้งนี้น่าจะเป็นการขยายไลน์การผลิตเพิ่มขึ้น เพื่อเข้าใกล้กับแหล่งวัตถุดิบที่ใช้ ซึ่งในส่วนของยางล้อเครื่องบินจะใช้ยางแผ่น RSS เบอร์ 1 กับ เบอร์ 2 ซึ่งไทยเป็นฐานการผลิตยางแผ่นรมควันอันดับ 1 ของโลกอยู่แล้ว

ดังนั้นการย้ายฐานผลิตเข้ามาจะทำให้บริดจสโตนได้เปรียบในแง่ของต้นทุนการขนส่งจากแหล่งวัตถุดิบก็จะลดลง ได้เปรียบในแง่ความสามารถในการแข่งขัน ถือเป็นการเตรียมการเพื่อรองรับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบิน การท่องเที่ยวมีความต้องการใช้ยางเพิ่มขึ้น

เพราะเครื่องบินจอดทิ้งไว้ในช่วงโควิด-19 กว่า 2 ปี ยางล้อจะเสื่อมคุณภาพต้องเปลี่ยนยาง ซึ่งลำหนึ่งใช้ยางล้อ 4 ด้าน และล้อหน้า 1 ด้าน แต่ถ้าเป็นเครื่องไซซ์ใหญ่ ๆ A380 ก็ใช้มากกว่า 8 เส้น ตามขนาดเครื่องบิน ดังนั้นต้องมองไปถึงผลดีในอนาคตที่จะตามมาอย่างมาก

“เบื้องต้นการเข้ามาตั้งโรงงานอาจจะยังไม่ได้ทำให้ปริมาณการซื้อยางเพิ่มขึ้นมากในทันที หรืออาจจะเพียงแค่หลัก 1,000 ตัน ซึ่งไม่ได้ดันให้ราคายางสูงขึ้นทันที แต่การเข้ามาครั้งนี้จะกระตุ้นความสนใจการลงทุนจากอุตสาหกรรมชิ้นส่วนเครื่องบิน บริษัทยางเครื่องบินรายอื่น ๆ ซึ่งปัจจุบันมีเจ้าใหญ่ ๆ อยู่ประมาณ 5 ราย เช่น กู๊ดเยียร์ มิชลิน เป็นต้น ก็คงตื่นตัวกับการเข้ามาไทย อนาคตอาจจะมีขยับขยายฐานตามเข้ามาไทยในอนาคตเพิ่มก็เป็นไปได้”

ตั้งโรงงานที่อมตะซิตี้

ขณะที่ นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) คาดการณ์ว่า บริดจสโตนจะตั้งโรงงานที่ “นิคมอมตะซิตี้” จ.ชลบุรี และจะเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมยางพาราของไทยอย่างมาก รวมถึง เกษตรกรชาวสวนยาง เพราะโดยปกติยางล้อส่วนใหญ่ใช้ยางธรรมชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับเกรดยางประเภทนี้

เบื้องต้นทราบว่า บริษัทนอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER จะเป็นผู้ดีลซื้อขายยางโดยตรงให้กับบริดจสโตน ขณะที่ กยท.เองก็ได้รับการติดต่อจากบริษัทยางดังกล่าวแล้วด้วย ในอนาคตอาจจะมีแผนการดำเนินการร่วมกัน

“ส่วนสถานการณ์ราคายางขณะนี้ (2 วันที่ผ่านมา) ราคาน้ำยางสด ยางแผ่นดิบ และยางแผ่นรมควันชั้น 3 ‘ลดลงเล็กน้อย’ แต่ก็ยังมองว่า ตลาดยางมีปัจจัยบวกจากการที่หลายประเทศกลับมาเป็นปกติ เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ทำให้ความต้องการใช้ยางเพิ่มขึ้น ประกอบกับสต๊อกยางจีนลดลง

ในขณะที่ปริมาณยางผู้ผลิตมีจำนวนจำกัดบวกกับปัจจัยบวกค่าเงินบาทอ่อนค่าแตะที่ประมาณ 36 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งส่งผลดีต่อการส่งออก เพราะประเทศไทยส่งออกยางมากกว่า 80% หากผลผลิตที่ออกสู่ตลาด
ไม่เพียงพอกับความต้องการก็จะช่วยดันราคา ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยที่ทำให้ราคายางยังอยู่ในระดับดี

คาดว่าตลอดทั้งปี ส่วนโครงการประกันรายได้ยางเฟส 4 ของรัฐบาลควรจะต้องมีต่อไป เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และเป็นการช่วยให้เสถียรภาพราคายางพาราในประเทศเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งล่าสุดได้เสนอ
ไปยัง คณะกรรมการบอร์ดการยางฯพิจารณาเเล้ว” นายณกรณ์กล่าว