ลดค่ากลั่นน้ำมัน เงียบฉี่ บีบโรงกลั่น 2 เดือน ไม่คืบ

โรงกลั่น
แฟ้มภาพ

ลดกำไรส่วนเกินจากค่าการกลั่นน้ำมัน 2 เดือนผ่านไปยังเงียบฉี่ หลัง กบน.รับลูกตั้งคณะทำงานหารือ 6 โรงกลั่นน้ำมันไม่มีอะไรคืบหน้า สุดท้ายโรงแยกก๊าซ ปตท.ยอมเสียสละช่วยชาติควักพิเศษ 3,000 ล้าน ส่วนโรงกลั่นน้ำมันที่เหลือไม่ยอมจ่าย กองทุนน้ำมันเหมือนฟ้ามาโปรด รับอานิสงส์ราคาน้ำมันดิบโลกลดต่ำกว่า 100 เหรียญ/บาร์เรล

หลังจาก สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ยื่นหนังสือถึง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ขอให้รัฐบาลพิจารณา “ทบทวน” ค่าการกลั่น หรือ Gross Refining Mar-GRM ที่เป็นอัตราการทำกำไรขั้นต้นของโรงกลั่นน้ำมันในประเทศจำนวน 6 โรง โดยเฉลี่ยที่ “สูงมาก” หรืออยู่ระหว่าง 5.74 บาท/ลิตร (1-14 มิถุนายน 2565)

โดยทางสหพันธ์เห็นว่าเป็นการฉวยโอกาส (ทำกำไร) และเป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันภายในประเทศสูงขึ้น

ขณะที่นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ออกมาสนับสนุนขอให้รัฐบาล “ลดค่าการกลั่น” ของโรงกลั่นน้ำมันลงด้วยการเรียกเก็บภาษีในลักษณะของ ภาษีลาภลอย (Windfall Tax) และนำเงินที่เก็บได้มาช่วยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการอุดหนุนราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศให้ลดต่ำลง

ล่าสุดถึงปัจจุบันเวลาได้ผ่านไปแล้ว 2 เดือน รัฐบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงพลังงานก็ยังไม่มีความคืบหน้าในการเข้าไปบริหารจัดการ “ค่าการกลั่น” ภายใต้หลักการขอให้โรงกลั่นน้ำมันทั้ง 6 แห่ง นำส่งกำไรส่วนหนึ่งจากค่าการกลั่นเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งกำลังอยู่ในภาวะวิกฤตจากการที่ฐานะสุทธิกองทุนติดลบไปแล้วถึง -115,045 ล้านบาท (ณ วันที่ 24 กรกฎาคม 2565) จากการเข้าไปตรึงราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศไว้ไม่ให้เกิน 35 บาท/ลิตร

และมีแนวโน้มว่าความพยายามที่จะเรียกเก็บเงิน “ส่วนต่าง” จากกำไรที่สูงขึ้นจากค่าการกลั่นนั้นจะถูก “ดึง” ให้ยืดเยื้อต่อไปโดยไม่มีข้อสรุป

เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลงจนไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไป “หักดิบ” รีดค่าการกลั่นจากโรงกลั่นน้ำมันซึ่งเป็นการกระทำที่สุ่มเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมาย-สัญญาการตั้งโรงกลั่นน้ำมันในอดีต และความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อรัฐบาลไทยในอนาคต

เลิกบี้ค่าการกลั่น

มีรายงานข่าวจากผู้เกี่ยวข้องในการหารือเรื่องค่าการกลั่นกับกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เข้ามาว่า รัฐบาลโดยนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี ได้ตอบกระทู้ถามเรื่องแนวทางบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาถึงการ “ลดค่าการกลั่น” ของโรงกลั่นน้ำมันลง

โดยชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงที่ว่า โรงกลั่นน้ำมันมี “กำไร” จากค่าการกลั่นที่ปรับสูงขึ้นในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ไม่ใช่มีกำไรมาอย่างยาวนาน โดยค่าการกลั่นในช่วงโควิด-19 ต่ำกว่า 1 บาท และก่อนหน้าโควิดอยู่ประมาณ 2 บาทถึง 2 บาทกว่า

ดังนั้นหากจะเจรจาเพื่อลดค่าการกลั่นต้องพิจารณาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นด้วย หากโรงกลั่นน้ำมันยุติการกลั่น รัฐบาลจำเป็นต้องนำเข้าน้ำมันเองและอาจทำให้ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้น “ผมเชื่อว่า หากวิกฤตพลังงานมีสูงขึ้น การเจรจาเพื่อขอให้โรงกลั่นน้ำมันลดกำไรน้อยลงอาจทำได้ในอนาคต” นายสุพัฒนพงษ์ตอบกระทู้

สะท้อนให้เห็นว่า จากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เริ่มปรับตัวลดลงในระดับ “ต่ำกว่า” หรือ “ใกล้เคียง” กับราคา 100 เหรียญ/บาร์เรล โดย น้ำมันดิบเวสต์เทกซัสอยู่ที่ 96.70 เหรียญ/บาร์เรล, เบรนต์ 105.15 เหรียญ/บาร์เรล, ดูไบ 101.07 เหรียญ/บาร์เรล และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว 123.69 เหรียญ

ได้ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันภายในประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยราคาน้ำมันดีเซลล่าสุด ณ วันที่ 26 ก.ค.อยู่ที่ 34.94 บาท/ลิตร, แก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 36.78 บาท/ลิตร และแก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ที่ 37.05 บาท/ลิตร

ถือเป็นแรงกดดันต่อกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ผ่อนคลายลงจนทำให้กองทุนสามารถบริหารจัดการเพื่อคงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ลิตรละ 34.94 บาทได้ต่อไป จากราคาน้ำมันดีเซล ณ วันที่ 15 ก.ค.ที่ 134.14 เหรียญ/บาร์เรล ได้ลดลงมาเหลือ 128.51 เหรียญ/บาร์เรล ในวันที่ 22 ก.ค.ที่ผ่านมา

ค่าการกลั่นลดฮวบ

จากสภาวการณ์ที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลงต่อเนื่อง มีผลอย่างยิ่งต่อความเข้มข้นในการเจรจาเรื่อง “ค่าการกลั่น” กับกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมทั้ง 6 โรง (TOP-PTTGC-IRPC-BCP-SPRC-ESSO)

ประกอบกับการ “ส่งสัญญาณ” จากรัฐบาลในแง่ความถูกต้องของกฎหมายที่ขอความร่วมมือโรงกลั่นน้ำมันให้นำส่ง “กำไรส่วนเกินผิดปกติ” ของค่าการกลั่นก็ยังไม่ได้ข้อยุติและอยู่ในขั้นตอนส่งเรื่องให้ คณะกรรมการกฤษฎีกา ไปดูในรายละเอียดว่า สามารถทำได้หรือไม่อย่างไร

ทำให้การเจรจากับโรงกลั่นน้ำมันทั้ง 6 โรงถูก “ลดระดับ” ความสำคัญลงมาเหลือแค่ขั้นตอนของคณะทำงานในระดับเจ้าหน้าที่เท่านั้นและให้อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งจะมีส่วนได้ส่วนเสียในการรับเงินกำไรส่วนเกินจากค่าการกลั่นเป็นหน่วยงานหลัก

“เท่าที่ทราบคณะทำงานชุดใหม่ของคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ได้หารือกับกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันใน 2 ประเด็นคือ ขอความร่วมมือจากโรงกลั่นน้ำมันนำส่งกำไรส่วนเกินจากค่าการกลั่นให้กับกองทุนน้ำมันกับขอความร่วมมือบริษัท ปตท.นำส่งกำไรส่วนหนึ่งจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติเข้ากองทุนน้ำมันฯ ทั้ง 2 ประเด็นนี้มีความคืบหน้าเฉพาะการนำส่งกำไรจากโรงแยกก๊าซของ ปตท.เท่านั้น

โดยล่าสุด (12 ก.ค.) ปตท.แจ้งมาว่า คณะกรรมการ ปตท.มีมติอนุมัติสนับสนุนเงินเข้ากองทุนน้ำมันเป็นกรณีพิเศษเพื่อช่วยเหลือประชาชนเป็นการเร่งด่วนเป็นจำนวนเงินเดือนละ 1,000 ล้านบาท รวมระยะเวลา 3 เดือน หรือรวมทั้งสิ้น 3,000 ล้านบาท

แต่เงินจำนวนนี้ทางกองทุนก็ยังไม่ได้รับ เนื่องจากจะต้องไปดูว่า ทำอย่างไรให้การนำส่งเงินเป็นกรณีพิเศษจาก ปตท.ถูกต้องตาม พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง”

ส่วนกรณีของ “ค่าการกลั่น” นั้นดูเหมือนว่าคณะทำงานของ กบน. กำลังเริ่มต้นกันใหม่ เพราะประเด็นยังวนเวียนอยู่กับข้อกฎหมายของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงปัจจุบัน ว่าสามารถดำเนินการเรียกเก็บเงิน “กำไรส่วนเกินจากปกติ” จากค่าการกลั่นได้หรือไม่ ยังไม่ได้ลงไปถึงขั้นว่า จะเรียกเก็บเข้ากองทุนเท่าไหร่

แต่ดูเหมือนว่าเริ่มมีประเด็นที่ว่า จะเก็บจาก “เงินปันผลกำไร” ของโรงกลั่นน้ำมันได้หรือไม่ แต่ทั้งหมดนี้ยังไม่มีความชัดเจนอะไรทั้งสิ้น เพราะหารืออยู่ในขั้นของคณะทำงานที่ยังไม่ได้ข้อสรุป

“เมื่อยังไม่ได้ข้อสรุปก็หารือกันไปเรื่อย ๆ ค่าการกลั่นจึงยังไม่ถูกนำเข้าสู่การพิจารณาคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ส่งผลให้สถานะการเรียกเก็บกำไรจากค่าการกลั่นยังคงถูกดองอยู่ในขั้นขอความร่วมมือตามมติ ครม.เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 เท่านั้น ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงและคืบหน้ามากกว่านี้

“อาจเรียกได้ว่าเป็นการหารือเพื่อหารือกันต่อไป โดยตอนนี้ไม่จำเป็นต้องไปกดดันโรงกลั่นน้ำมันมาก เพราะราคาน้ำมันดิบโลกเริ่มลดลง ค่าการกลั่นเฉลี่ยของโรงกลั่นก็ลดลงมาอยู่ที่ 3.93 บาท/ลิตร (1-26 ก.ค. 2565) จากเดิมที่อยู่ในระดับ 5.24 บาท/ลิตร ในช่วงเดือนพฤษภาคม” แหล่งข่าวกล่าว

ค่าการตลาดทะลุ 3 บาท/ลิตร

อย่างไรก็ตามมีข้อน่าสังเกตว่า “ค่าการตลาด หรือ Marketing Margin” ของบริษัทผู้ค้าน้ำมันได้กลับมาพุ่งขึ้นสูงอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าการตลาดในกลุ่มของน้ำมันแก๊สโซฮอล์ ล่าสุด ณ วันที่ 26 ก.ค. 2565 แก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 2.9471 บาท/ลิตร, แก๊สโซฮอล์ 95 E20 อยู่ที่ 3.4911 บาท/ลิตร, แก๊สโซฮอล์ 95 E85 อยู่ที่ 3.0136 บาท/ลิตร และ น้ำมันดีเซลอยู่ที่ 2.2485 บาท/ลิตร โดยค่าการตลาดดังกล่าวที่ได้ปรับพุ่งสูงกว่า 3 บาท/ลิตร ในกลุ่มแก๊สโซฮอล์เป็นการปรับขึ้นท่ามกลางสภาวะราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ลดลง

“กรณ์” ชี้สะท้อนรัฐบาลไร้เครดิต

ด้านนายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หัวหน้าพรรคกล้า ให้ความเห็นว่า การที่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเคยประกาศว่า จะนำเงินจากโรงกลั่นเข้ามาช่วยเหลือแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชน แต่สุดท้าย “ทำไม่ได้” สะท้อนว่ารัฐบาลไม่มีเครดิต พูดเอาตัวรอดไปวัน ๆ ทำตามที่พูดไว้ไม่ได้ และไม่จริงใจที่จะทำตั้งแต่ต้น

นายกรณ์กล่าวด้วยว่า รัฐบาลปล่อยให้ผู้ประกอบการค้ากำไรเกินควร บนความทุกข์ร้อนของประชาชน ในขณะที่หนี้ของกองทุนน้ำมันเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ มากกว่า 1.2 แสนล้านบาทแล้ว “พรรคกล้าขอให้ลดราคาน้ำมันลงได้ทันที 4 บาท/ลิตร หากโรงกลั่นลดกำไรลง และรัฐบาลขอให้โรงกลั่น ช่วยจ่ายเงินบริจาคชดเชยกองทุนน้ำมัน ทุกวันนี้ยังเงียบฉี่ ไม่มีการเคลื่อนไหว แต่อาศัยข้อเท็จจริงราคาน้ำมันดิบโลกที่ลดลง สามารถมาลดราคาน้ำมันหน้าปั๊มลงได้ แต่ความจริง ค่าการกลั่นน้ำมันควรถูกลงกว่านี้ได้” นายกรณ์กล่าว