คะแนนสอบ TCAS ลด กระทบเก้าอี้มหา’ลัยรัฐว่าง

ศ.ดร.รุธิร์ พนมยงค์
ศ.ดร.รุธิร์ พนมยงค์ คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2565 คือ เด็กมีคะแนนสอบเข้ามหาวิทยาลัยลดลง ต่ำกว่าเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนด ทำให้จำนวนนักศึกษาที่รับเข้าในปีนี้ ไม่เต็มตามโควตาเป็นครั้งแรก

วันที่ 28 กันยายน 2565 ศ.ดร.รุธิร์ พนมยงค์ คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การศึกษาปัจจุบันมีความท้าทายในหลายมิติ ทั้งเรื่องงบจากรัฐบาลไม่เพียงพอ เหตุการณ์โควิด-19 ส่งผลต่อประสิทธิภาพการเรียนของเด็ก เป็นต้น

งบจากรัฐบาลไม่เพียงพอ

ศ.ดร.รุธิร์กล่าวว่า ความท้าทายอย่างแรกคือ มหาวิทยาลัยรัฐบาลไม่ได้รับงบจากรัฐบาลที่เพียงพอต่อการให้บริการแก่นักศึกษา หมายความว่า มหาวิทยาลัยรัฐบาลก็ต้องหาเงินเพื่อมาเลี้ยงตัวเองมากยิ่งขึ้น

“ตรงนี้เป็นจุดหนึ่งที่สร้างความท้าทายแก่มหาวิทยาลัยรัฐบาล เพราะโดยปกติแล้ว มหาวิทยาลัยไม่ได้มีหน้าที่ในการทำธุรกิจ และกรอบกฎระเบียบแบบเดิม ๆ ก็ไม่เอื้ออำนวยให้มหาวิทยาลัยนั้นสามารถลงทุนได้ ในการจัดตั้งบริษัท หรือแม้กระทั่งไปมีส่วนร่วมเป็นผู้ถือหุ้นในสตาร์ตอัพใหม่ ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น”

เทรนด์เด็กยุคนี้เลือกไปเรียนไหน

เด็กกลุ่มหนึ่งจะเลือกไปเรียนต่างประเทศเลยตั้งแต่ปริญญาตรี แต่มหาวิทยาลัยของรัฐก็มีความน่าสนใจ ที่อยู่เหนือมหาวิทยาลัยเอกชน อย่างคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็มุ่งเน้นผลิตบุคลากรทางการศึกษาอย่างมีคุณภาพ โดยได้รับการยอมรับไปทั่วโลกผ่านการรับรองมาตรฐานการศึกษาระดับนานาชาติจากสถาบันหลักด้านการบริหารธุรกิจของโลก EQUIS (ปี 2555-ปี 2567) จากสหภาพยุโรป เป็นครั้งที่ 3 และ AMBA (ปี 2561-ปี 2567) จากสหราชอาณาจักร เป็นครั้งที่ 2

“ความยากจริง ๆ นั้นอยู่ตรงที่ว่า นักศึกษาไม่ค่อยรู้เหมือนกันว่าตัวเองต้องการอะไร หรือได้รับคำแนะนำมาจากบุพการีว่าต้องเรียนแบบนู้น แบบนี้ โดยยังไม่มีเวลาในการค้นหาตัวเอง มหาวิทยาลัยรัฐ-มหาวิทยาลัยเอกชน สุดท้ายมันไม่สำคัญเท่ากับว่า มหาวิทยาลัยแห่งนั้น หลักสูตรแห่งนั้นสามารถตอบโจทย์ความต้องการของนักศึกษาได้หรือเปล่า” ศ.ดร.รุธิร์กล่าว

คะแนนสอบลด กระทบเก้าอี้ว่าง

ศ.ดร.รุธิร์กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2565 คือ คะแนนที่ถูกนำมาใช้ในการเข้ามหาวิทยาลัยสำหรับคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี โดยเฉพาะอย่างยิ่งคะแนนในส่วนของคณิตศาสตร์นั้น ต่ำกว่าเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนด

“ทำให้จำนวนนักศึกษาที่รับเข้าในปีนี้ ไม่เต็มตามโควตาเป็นครั้งแรก ซึ่งคณะกรรมการในคณะมองว่า เรามีมาตรฐานของเรา ดังนั้นยังจำเป็นต้องคงเกณฑ์ที่กำหนดเอาไว้ ซึ่งเมื่อเป็นแบบนี้แล้ว มันก็เป็นคำถามที่เกิดขึ้นว่า แล้วทำไมคะแนนของเด็กในปีนี้ถึงต่ำมาก ?”

ม.รัฐ ควรลดมาตรฐาน หรือไม่

“บางที่ก็พร้อมที่จะลดคะแนนตนเอง แต่ในส่วนของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีของเรามองว่า นี่คือมาตรฐานที่เรากำหนดเอาไว้ การที่เรามีมาตรฐานเป็นสิ่งที่สำคัญ การรับเด็กที่ไม่ครบตามจำนวนโควตาก็ไม่ได้เป็นปัญหาอะไร แต่มันสะท้อนกลับมาที่ปัญหาที่ใหญ่กว่านั้น และทำไมคะแนนในภาพรวมในระดับของประเทศ คะแนนเด็กโดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของเลขนั้นตกต่ำขนาดนี้” ศ.ดร.รุธิร์กล่าว

ทำไมคะแนนเด็กถึงน้อยลง

ศ.ดร.รุธิร์อธิบายว่า เหตุผลที่คะแนนเด็กนั้นน้อยลง ประเด็นแรกเลยคือ ความไม่แน่นอนในเรื่องของตัวข้อสอบ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงกันอยู่ตลอดเวลา ในลักษณะของตัวเงื่อนไข ลักษณะของตัวข้อสอบในการเข้ามหาวิทยาลัย

“แต่ผมว่าปัญหาอันใหญ่สุดมาจากการที่เราเจอเหตุการณ์โควิด และนักเรียนเรียนออนไลน์มา 2 ปีแล้ว ซึ่งตรงนี้เป็นการสะท้อนว่าการเรียนออนไลน์โดยที่ไม่มีความพร้อมอย่างแท้จริง เด็กเองก็ไม่สามารถเรียนรู้ได้ และเมื่อมาเจอสถานการณ์ว่า ต้องสอบในห้องกันจริง ๆ ก็เลยไม่มีความคุ้นเคย ไม่มีความเคยชิน การเตรียมความพร้อมมาแค่ไหน ก็ทำให้ในความเป็นจริงแล้ว ไม่พร้อมที่จะสอบ และไม่มีกระบวนการในการสร้างความมั่นใจว่า เขาถึงเกณฑ์แล้วรึยัง”

ควรแก้ปัญหาอย่างไร

ต้องย้อนกลับมามองที่ต้นเหตุของปัญหา ไม่ใช่แก้ที่ปลายทางด้วยวิธีให้ทางฝั่งของมหาวิทยาลัยลดมาตรฐาน เพื่อจะได้รับเด็กได้เต็มโควตา เก้าอี้จะได้เต็ม แต่เราต้องหันไปดูว่า โรงเรียนมัธยมและโรงเรียนประถมสามารถเพิ่มมาตรฐานตัวเองได้หรือไม่

“จริง ๆ แล้วมันต้องมองถึงระบบการศึกษาทั้งระบบ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า ระบบการศึกษาประเทศไทยในภาพรวมนั้น ล้มเหลว ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่เราจะให้ความสำคัญกับการเรียนการสอน กับการสร้างประชาชนชาวไทย ที่มีความรู้มีความสามารถ โดยมาปรับปรุง ปรับเปลี่ยนกระบวนการด้านการศึกษาทั้งหมด ขอให้มีปรัชญาออกมาที่ชัดเจน มหาวิทยาลัยเรารับตอนเขาโตแล้ว มันช้าเกินไป ต้องย้อนกลับไปเลย ที่จุดเริ่มต้น”