จุฬาฯ ประกาศนโยบายนำการศึกษารุดหน้าด้วย Generative AI

จุฬาฯ ประกาศนโยบายนำการศึกษารุดหน้าด้วย Generative AI

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกนโยบาย “จุฬาฯ มุ่งหน้าด้วย GENERATIVE AI” สนับสนุนให้มีการนำ AI มาใช้ในกระบวนการเรียนการสอน และการทำงานในรั้วมหาวิทยาลัย เริ่มจากศึกษา Chat GPT พร้อมออกแนวปฏิบัติต้องมีจริยธรรมในการใช้งาน 

วันที่ 17 กรกฎาคม 2566 ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีในปัจจุบัน ส่งผลให้เครื่องมือปัญญาประดิษฐ์กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในการจัดการศึกษาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น จุฬาฯจึงได้สนับสนุนการนำปัญญาประดิษฐ์ในรูปแบบ Generative AI เข้ามาใช้ในในการเรียนการสอนของคณาจารย์ และนิสิตอย่างเต็มรูปแบบผ่านแพลตฟอร์มและเครื่องมือต่าง ๆ ซึ่งภาพรวมและนโยบายการใช้ Generative AI ของจุฬาฯ จะมุ่งเน้น 2 หลักการคือ Embrace และ Understanding โดยจุฬาฯจะสนับสนุนการใช้งานอย่างเต็มที่ด้วยความเข้าใจและรับผิดชอบ

“ซึ่งเราก็คอยศึกษาเรื่องเทคโนโลยีอยู่มาเป็นระยะเวลาหนึ่ง และได้เห็นว่ามีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงมุ่งหน้าสนับสนุนการใช้ Generative AI โดยขับเคลื่อนสนับสนุนให้นิสิต คณาจารย์ และบุคลากรใช้ AI อย่างเต็มที่ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยในส่วนของผู้เรียนจะต้องปรับใช้ AI เพื่อพัฒนาการเรียนรู้อย่างเต็มที่ และเข้าใจว่า AI มีความสามารถและข้อจำกัดอะไร พร้อมทั้งอ้างอิงการใช้งาน AI ให้ชัดเจน ถูกต้อง ระมัดระวังไม่นำข้อมูลลับเข้าระบบปัญญาประดิษฐ์ ในส่วนของผู้สอนจะต้องปรับใช้ AI ในการเรียนการสอน เข้าใจถึงความสามารถและข้อจำกัดของ AI ออกแบบ กระบวนการเรียนการสอนและการประเมินผลที่เหมาะสม และระบุขอบเขตและแนวทางการใช้ AI ในประมวลรายวิชา”

ด้าน รศ.ดร.โปรดปราน บุณยพุกกณะ Chief Learning Innovation Officer จุฬาฯ เปิดเผยว่า จุดเริ่มต้นการนำเอา AI มาใช้ เราจะเตรียมความพร้อมให้นิสิต คณาจารย์ บุคลากร และบุคคลที่สนใจมีความรู้ความเข้าใจและสามารถใช้เครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ ผ่านกิจกรรม Chula lunch talk : AI Series ซึ่งจัดขึ้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2566 โดยจัดต่อเนื่องทุกสัปดาห์ เพื่อเสริมพลังการเรียนการสอนและสร้างความแข็งแกร่งในการออกแบบการเรียนการสอนด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าทันยุคสมัย ถ่ายทอดประสบการณ์โดยอาจารย์จุฬาฯ และผู้เชี่ยวชาญภายนอก ในหัวข้อหรือประเด็นที่กำลังเป็นที่สนใจในแวดวงการศึกษาแบบฟังเข้าใจง่าย

ทั้งนี้ ในการนำเอา Generetive AI มาใช้ ยกตัวอย่างเรื่องของ Chat GPT ซึ่งถือเป็นตัวช่วยที่ชาญฉลาด เนื่องจากเป็นศูนย์รวมข้อมูลมหาศาล โดยคุณภาพของคำตอบจะขึ้นอยู่กับคำถามและรายละเอียดเฉพาะเจาะจง ที่เราเป็นผู้ป้อนคำสั่ง ถ้าคำถามยิ่งละเอียดมาก Chat GPT ก็จะยิ่งตอบคำถามละเอียดและตรงคำถามมากขึ้น คำตอบอาจไม่ถูกต้องเสมอไป เพราะ Chat GPT ถูกฝึกให้ตอบคำถามที่คิดว่าถูกต้องตามความรู้สึกของมนุษย์ ซึ่งตัวนี้ถือเป็นเครื่องมือเบื้องต้นที่สามารถเป็นตัวช่วยในการทำงานได้หลาย ๆ อย่าง

ดังนั้น เราจึงสนับสนุนคณาจารย์ผู้สนใจ ซึ่งคิดว่าน่าจะมีจำนวนมาก ได้ไปศึกษาวิจัยเกี่ยวกับ Chat GPT ว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง จึงได้มีทุนสนับสนุนจำนวน 100 ทุน ประมาณ 70 เหรียญ หรือราว 700 บาท แก่คณาจารย์ในการ Subscribe Chat GPT Plus เพื่อนำไปใช้ในการเรียนการสอนและการวิจัย เป็นเวลา 5 เดือน ตลอดทั้งภาคการศึกษาต้น ปีการศึกษา 2566 (สิงหาคม-ธันวาคม 2566) ซึ่งหลังจากนั้นก็ต้องหาบทสรุปว่า Chat GPT สามารถนำมาปรับใช้อย่างไรได้บ้าง ทั้งในแง่การเรียนการสอน หรือเป็นเครื่องมือช่วยในการทำงานได้อย่างไร

รศ.ดร.วิโรจน์ อรุณมานะกุล ผู้อำนวยการสถาบันภาษาไทยสิรินธร จุฬาฯ กล่าวว่า หลักการในการใช้เครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือสนับสนุนให้นิสิตและบุคลากรมีความรู้ความเข้าใจและสามารถใช้เครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ได้อย่างเหมาะสม ให้มีการปรับกระบวนการเรียนการสอนและการประเมินผลตลอดจนการทำงานให้เหมาะสมกับการใช้เครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์อย่างสร้างสรรค์และถูกหลักจริยธรรม และให้ความสำคัญและเข้มงวดกับเรื่องจริยธรรมทางวิชาการ เนื่องจาก Chat GPT ค่อนข้างฉลาดมีข้อมูลมหาศาลที่เราสามารถสั่งให้ค้นหาได้ ซึ่งอาจารย์ นิสิต หรือผู้ใช้งานจะต้องให้เครดิตจากข้อมูลที่ได้มาจาก Chat GPT ไม่ควรบอกว่าเป็นผลงานของตนเอง เป็นต้น

สำหรับแนวปฏิบัติในการใช้เครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีดังนี้

ด้านการเรียนการสอนและการประเมินผล

  • ผู้สอนควรเข้าใจถึงความสามารถ และข้อจำกัดของเครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ที่เลือกใช้ และออกแบบกระบวนการเรียนการสอนและการประเมินผลที่เหมาะสมกับเครื่องมือนั้น
  • ผู้สอนควรระบุในประมวลรายวิชาให้ชัดเจนถึงขอบเขตและแนวทางการใช้เครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ เช่น Chat GPT, Google Bard ในรายวิชานั้น พร้อมทั้งอธิบายเหตุผลให้ผู้เรียนทราบ
  • หากรายวิชาใดอนุญาตให้นิสิตใช้เครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ ผู้สอนควรปรับวิธีการวัดประเมินผล ให้เหมาะสม ไม่ควรประเมินผลโดยตรงจากงานที่นิสิตสามารถใช้เครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ตอบได้

การใช้งานเครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์

  • ปัญญาประดิษฐ์เป็นเพียงเครื่องมือ ผู้ใช้เป็นผู้รับผิดชอบความถูกต้องของข้อมูลและผลงานที่ได้
  • หากมีการใช้เครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ในงานใด ให้อ้างอิงและระบุให้ชัดเจนถึงขอบเขตการใช้ ในงานนั้น การปกปิดไม่แจ้งข้อมูลการใช้เครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ถือเป็นการละเมิดหลักจริยธรรมซึ่งอาจถูกลงโทษตามระเบียบหรือข้อบังคับที่เกี่ยวข้องได้

การปกปิดความลับและข้อมูลส่วนบุคคล

  • ห้ามนำข้อมูลใด ๆ ที่เป็นความลับของหน่วยงานหรือเป็นข้อมูลส่วนบุคคลโหลดเข้าไปในระบบงานปัญญาประดิษฐ์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เกี่ยวข้อง