ถอดบทเรียน TCAS66 ปัญหา ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นกับระบบเข้ามหา’ลัย

สหพัฒน์แอดมิชชั่น

ผู้เชี่ยวชาญระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัย ถอดบทเรียน TCAS66 ปัญหาและความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการสอบ TGAT/TPAT และ A-LEVEL พร้อมแนะการเตรียมความพร้อม วิธีป้องกันไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดซ้ำรอยสำหรับ TCAS67 

วันที่ 28 สิงหาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังยกเครื่องระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในปี 2565 ที่ผ่านมา ทำให้นอกจากการเตรียมตัวของบรรดานักเรียน DEK67 ที่กำลังจะเข้าสนามสอบในปีนี้แล้ว เหล่าติวเตอร์ทั่วประเทศต่างก็ต้องทำการบ้าน ยกเครื่องรูปแบบการสอนกันใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบการสอบที่ปรับเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน

โครงการ “สหพัฒน์แอดมิชชั่น ครั้งที่ 26” ยังได้จัดเสวนา “ถอดบทเรียน TCAS66 เตรียมสู้เต็มขั้น TCAS67” เมื่อไม่นานที่ผ่านมา โดยมี ดร.ธีระยุทธ บุญมา และปณต หาญชัยยุทธกร สองผู้เชี่ยวชาญระบบสอบ TCAS จาก TCASter ได้วิเคราะห์ 4 ปัญหาหลักของ DEK66 เพื่อเตือนสติ DEK67 ให้ระมัดระวัง พร้อมแนะวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดซ้ำรอยขึ้นอีกในปีนี้ ดังนี้

  1. ยื่นสมัครรอบแอดมิชชั่นแล้วหลุด เพราะการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการสอบในปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดการเทียบคะแนนผิดพลาด แนวทางการแก้ไขนอกจากจะใช้คะแนนต่ำสุดของปีที่ผ่านมาเป็นเกณฑ์เทียบแล้ว ให้เปรียบเทียบหลักเกณฑ์อื่นของคณะ/สาขาวิชา/มหาวิทยาลัย ที่เลือกด้วยว่ายังเหมือนเดิมหรือไม่ หากมีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์ต้องดูศักยภาพของตัวเองประกอบว่าสามารถไปต่อในสายหรือสาขานั้นได้หรือไม่
  2. วิชา TGAT, TPAT ได้คะแนนน้อย แต่ภาพรวมคะแนนยังเฟ้อ เพราะปัญหาใหญ่ของนักเรียนคือ ทำข้อสอบ TGAT, TPAT ไม่ทันตามเวลาที่กำหนด ทางแก้ไขคือต้องฝึกฝนบ่อย ๆ ให้เกิดความชำนาญเพราะแนวข้อสอบสองวิชานี้ไม่ได้ซับซ้อน แต่จะเน้นความรวดเร็วในการทำข้อสอบเป็นหลัก
  3. ไม่ได้ยื่นสมัครรอบพอร์ตและโควต้า เพราะไม่ทราบกำหนดการรับสมัคร ทางแก้ไขคือให้ติดตามข่าวสารจากแต่ละมหาวิทยาลัยหรือติดตามจากแอป TCASter โดยรอบพอร์ตจะเปิดรับช่วงประมาณเดือน ต.ค.-ม.ค. และรอบโควตาจะเปิดรับช่วงเดือน พ.ย.-เม.ย.
  4. ลืมสมัครสอบ TGAT, TPAT, A-Level เมื่อไม่ได้สมัคร จึงไม่มีคะแนนยื่นสมัคร ทางแก้ไขคือ หากยังไม่แน่ใจว่าจะต้องใช้ผลคะแนนหรือไม่ ให้ยื่นสมัครไว้ก่อน และควรทำลิสต์วันรับสมัคร วันจ่ายเงิน วันสอบ เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้น

ทำความเข้าใจ 3 สถานะ

นอกจากนี้ ควรต้องทำความเข้าใจกับความหมายของสถานะทั้ง 3 สถานะให้ชัดเจน เพราะจะมีผลกระทบต่อสิทธิ์ของนักเรียนในรอบถัดไป โดยสถานะมีดังต่อไปนี้

  • ยืนยันสิทธิ คือการยืนยันที่เรียนที่ได้แล้ว เมื่อใช้สิทธินี้จะไม่สามารถไปสมัครรอบอื่นได้อีก
  • ไม่ใช้สิทธิ คือการสอบติดรอบแรกแล้ว แต่ไม่ต้องการใช้สิทธิ เพราะต้องการไปรอบต่อไป ต้องเลือกสถานะนี้
  • สละสิทธิ สำหรับนักเรียนที่เคยยืนยันสิทธิมาแล้ว ต่อมาเกิดเปลี่ยนใจอยากไปรอบอื่น ต้องสละสิทธิเสียก่อนจึงจะไปรอบอื่นได้ และการสละสิทธิจะทำได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น

เทคนิคเตรียมสอบ TGAT/TPAT และ A-Level

นอกจากนี้จากการเสวนา “ถอดบทเรียน TCAS66 เตรียมสู้เต็มขั้น TCAS67” ยังได้แนะนำเคล็ดลับเกี่ยวกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัย TGAT/TPAT และ A-Level ดังนี้

  • วิชา TGAT ควรต้องรู้น้ำหนักแต่ละ part ว่าเน้นมากน้อยแค่ไหน โดยดูจากรายละเอียดของคณะ/สาขาวิชาที่ต้องการยื่นสมัคร ให้ความสำคัญกับ part ที่คณะ/สาขาวิชานั้นมุ่งเน้น
  • นอกจากนี้การทำข้อสอบเก่า ๆ ก็จะช่วยให้เห็นแนวของข้อสอบได้มาก และแม้จะผ่านตาข้อสอบเก่ามาแล้ว แต่ก็ต้องระวังคำสั่งในข้อสอบด้วยการอ่านให้รอบคอบเสมอ
  • วิชาภาษาอังกฤษ ในส่วน TGAT1 จะเหลือ 4 choice และในส่วน A-Level ตัวชี้วัดจะยากขึ้นแต่ไม่ว่าแนวข้อสอบจะเปลี่ยนไปอย่างไร ตัวชี้วัดก็ยังคงเดิม การฝึกฝนทำข้อสอบแนวต่าง ๆ ทั้ง conversation, cloze test, grammar, structure, vocabulary, reading จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด
  • วิชาภาษาไทย ในส่วน TGAT2 เน้นเทคนิคคล้าย A-Level ภาษาไทย และบางข้ออาจจะต้องใช้เวลาคิดพอสมควร ควรฝึกฝนทำข้อสอบเก่าให้คุ้นชิน และบางข้ออาจต้องใช้เวลาในการตีความ
  • วิชา TPAT1 ความถนัดทางแพทย์ ข้อสอบจะเป็นการถามตัวเองว่าเหมาะสมกับการเป็นหมอหรือไม่ มี 3 part คือจริยธรรม เชาว์ปัญญาและเชื่อมโยง part ที่ยากสุดคือจริยธรรม ที่เป็นเรื่องของทัศนคติ สอนกันไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของความรู้สึก สำหรับเทคนิคการยื่นสมัคร หากเป็นน้อง ๆ นักเรียนต่างจังหวัดแนะนำให้ยื่นรอบโควตาด้วย และทุกคนที่มีความสามารถพิเศษ ไม่ควรพลาดยื่นรอบพอร์ตด้วยเช่นกัน
  • วิชา TPAT3 ความถนัดทางวิศวะ คะแนนเฉลี่ยปีที่ผ่านมาสูงมากขึ้น เพราะมีการเปลี่ยนแนวข้อสอบ เน้นวิทย์ + เทคโนโลยี + วิศวกรรมศาสตร์ วัดทักษะความแม่นยำและความเร็ว เปลี่ยนจากความจำเป็นความเข้าใจ เน้นหาผลลัพธ์มากกว่าเน้นกระบวนการคิด เน้นทดสอบความถนัด วัดความรู้ความคิดความสนใจว่าเหมาะที่จะเป็นวิศวกรได้หรือไม่ ควรฝึกทำข้อสอบเก่า แต่ไม่ควรเก่ากว่าปีที่ผ่านมา
  • วิชาคณิตศาสตร์ เป็นข้อสอบที่เน้นวัดความเร็ว หากเตรียมตัวด้วยการซ้อมทำโจทย์บ่อย ๆ จะช่วยได้ เพราะจะเกิดความเคยชิน เทคนิคการทำข้อสอบให้ทันเวลาคือให้เลือกทำข้อที่มั่นใจไว้ก่อน จะได้ไม่เสียเวลา
  • วิชาชีววิทยา หากทำคะแนนวิชานี้ได้สูง บวกกับวิชาท่องอื่น ๆ เช่น อังกฤษ ก็มีโอกาสติดคณะแพทย์ ได้ ต่างจากสมัยก่อนที่เน้นคะแนนในส่วนเลข ฟิสิกส์มากกว่า เทคนิคแนะนำคนที่อยากสอบติดคณะแพทย์ ที่ปัจจุบันติดได้ง่ายกว่าสมัยก่อน คือ หากเป็นสายคำนวณให้เน้นทำคะแนนวิชาคำนวณ หากเป็นสายท่อง ให้เน้นทำคะแนนวิชาสายท่องกับอังกฤษ สำหรับแนวข้อสอบวิชาชีววิทยา ให้เน้นตามหนังสือกระทรวงปี 2560 และเฉลี่ยการออกข้อสอบทุกเรื่องเท่า ๆ กัน
  • วิชาฟิสิกส์ ความยากของวิชานี้ยังคงเส้นคงวา เพราะแม้ว่าจะเปลี่ยนคนออกข้อสอบมาเป็น สสวท. ตั้งแต่ปี 2565 แต่คะแนนเฉลี่ยก็ไม่ได้สูงขึ้นจากเดิม เนื้อหาวิชาให้เน้นตามของเดิม ออกครบทุกบท และเน้นความเข้าใจในเนื้อหาเป็นหลัก
  • วิชาสังคมศึกษา แนวข้อสอบสังคมจะถามใน 5 กลุ่มสาระ คือ ศาสนา หน้าที่พลเมือง เศรษฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และภูมิศาสตร์ เทคนิคการทำข้อสอบให้เก็บในส่วนหลักธรรม ศาสนาก่อน ส่วนของประวัติศาสตร์จะค่อนข้างยากและถามกว้าง ๆ ควรทำเป็น part สุดท้าย

สหพัฒน์แอดมิชชั่น