สวนดุสิตโพลเผย กลุ่มตัวอย่างมอง เงินเดือนครูไทยยังไม่เหมาะสม

สวนดุสิตโพล ครู ครูไทย

สวนดุสิตโพล เผยผลสำรวจ กลุ่มตัวอย่างมองตรงกัน ครูไทย เงินเดือนยังไม่เหมาะสม ชี้ รมว.ศึกษาธิการ ควรเร่งปรับวิธีประเมินวิทยฐานะครู

วันที่ 5 ตุลาคม 2566 “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง “ครูไทยในวันครูโลก 2023” สำรวจระหว่างวันที่ 27 กันยายน-2 ตุลาคม 2566 กลุ่มตัวอย่างแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มประชาชนทั่วไป จำนวน 943 คน ร้อยละ 59.38 และกลุ่มครูจำนวน 645 คน ร้อยละ 40.62 รวม 1,588 คน

นางสาวพรพรรณ บัวทอง นักวิจัย สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สรุปผลการสำรวจ ระบุว่า ความท้าทายของครู ณ วันนี้ กลุ่มประชาชนทั่วไปมองว่าเป็นเรื่องการพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนยุคใหม่ ร้อยละ 65.32 ส่วนกลุ่มครูมองว่าความท้าทาย คือ การมีงานนอกเหนือจากการสอนจำนวนมาก ร้อยละ 80.87

สิ่งที่ครูควรปฏิบัติในยุคของการเปลี่ยนแปลง กลุ่มประชาชนทั่วไปมองว่าครูควรพัฒนาทักษะ ความรู้ความสามารถ คิดสร้างสรรค์ ร้อยละ 58.45 ส่วนกลุ่มครูมองว่าครูควรพัฒนาการจัดการเรียนการสอนให้ดีขึ้น ร้อยละ 71.58

ในเรื่องเงินเดือนค่าตอบแทนของครู ทั้งกลุ่มประชาชนทั่วไปและกลุ่มครูต่างก็มองว่าเงินเดือนของครู ณ วันนี้ยังไม่เหมาะสม โดยเฉพาะกลุ่มครูมองว่าไม่เหมาะสมสูงถึงร้อยละ 81.40 กลุ่มประชาชนทั่วไปมองว่าไม่เหมาะสม ร้อยละ 57.90

หลังจากที่รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการแถลงนโยบายทั้งกลุ่มประชาชนทั่วไปและกลุ่มครูมองตรงกันว่านโยบายที่ควรดำเนินการเร่งด่วนที่สุด คือ การปรับวิธีการประเมินวิทยฐานะครูและบุคลากรทางการศึกษา ลดขั้นตอน เพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา กลุ่มประชาชนทั่วไป ร้อยละ 58.96 และกลุ่มครู ร้อยละ 77.52

สิ่งที่อยากบอกครูไทยในวันครูโลก กลุ่มประชาชนทั่วไปอยากบอกว่าขอบคุณครูที่อบรมสั่งสอน ร้อยละ 25.16 และกลุ่มครูอยากบอกว่า ครูเป็นวิชาชีพที่มีเกียรติ เป็นกำลังใจให้ครูทุกคน ร้อยละ 28.88

ขณะที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีณัฐ สกุลหอม คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ระบุว่า ในยุคที่มีการเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็ว นับเป็นช่วงเวลาสำคัญแห่งการปรับตัวของครูไทย และระบบการศึกษาไทย
ที่ต้องอาศัย “ครู..คุณภาพ” ที่มีประสบการณ์และทักษะบนพื้นฐานความเชี่ยวชาญ พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง

มีศาสตร์และศิลป์ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ และที่สำคัญต้องมีทัศนคติที่ดีต่อวิชาชีพครู เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จในการปฏิบัติหน้าที่ให้บรรลุตามจุดมุ่งหมายที่สำคัญ

สอดคล้องกับผลการสำรวจที่มองว่าความท้าทายของครู คือ การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนให้ดีขึ้นภายใต้บริบทของการสร้างความก้าวหน้าในวิชาชีพ และอีกอุปสรรคหนึ่งที่ทำให้ครูไม่มีเวลาค้นคว้าหาความรู้ หรือการสร้างนวัตกรรมทางการศึกษาใหม่ ๆ ส่งผลให้ครูไม่สามารถจัดการเรียนการสอนที่ตอบสนองต่อผู้เรียนที่มีความถนัดและการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน

ดังนั้น การปฏิรูประบบการศึกษาของประเทศไทย ควรเริ่มจากการเชื่อมั่น เชื่อใจครู และประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ตัวเด็ก ลดภาระการประเมินด้วยเอกสาร รวมถึงการพิจารณาค่าตอบแทน และเพิ่มสวัสดิการเพื่อให้ครูมีแรงจูงใจในการทำงานมากยิ่งขึ้น “ขอเวลาในห้องเรียน…คืนให้ครูได้เรียนรู้เด็ก”