สจล.ชี้เทรนด์หลักสูตร 2 ปริญญามาแรง สร้างโอกาสเติบโตแก่สถาบัน

สจล.หลักสูตร

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ชี้เทรนด์หลักสูตร 2 ปริญญามาแรง สร้างโอกาสการเติบโตด้านวิชาการให้กับสถาบันการศึกษา

วันที่ 31 มกราคม 2567 รองศาสตราจารย์ ดร.อนุวัฒน์ จางวนิชเลิศ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ สจล. กล่าวว่า การบริหารจัดการ หลักสูตร 2 ปริญญา มีความน่าสนใจหลายอย่าง โดยเฉพาะหากสามารถเข้าไปร่วมมือกับหน่วยงานการศึกษาทั้งภายในและภายนอก หรือแม้แต่ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยไทย และในต่างประเทศ ทำให้มีโอกาสการเติบโตทางด้านวิชาการค่อนข้างมาก

ซึ่งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา มีแนวทางในการบริหารจัดการด้านวิชาการอย่างต่อเนื่อง ทั้งการปรับปรุงและสร้างหลักสูตรใหม่ โดยเฉพาะหลักสูตร 2 ปริญญา เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ ด้านการบริหารจัดการด้านวิชาการที่แข็งแกร่ง

ความเติบโตด้านหลักสูตร 2 ปริญญา (Double Degree) ซึ่งเป็นการเรียน 1 หลักสูตร แต่จะได้รับ 2 ปริญญา คือ จาก สจล.เอง และจากสถาบันการศึกษาที่ได้ร่วมมือกันจัดทำหลักสูตร เช่น หลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์ (นานาชาติ) ในระดับปริญญาตรี โดยวิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอินฮา ประเทศเกาหลีใต้

หรือจะเป็นหลักสูตรปริญญาตรีควบปริญญาโท สาขาการจัดการวิศวกรรมและการเป็นผู้ประกอบการ และเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) และจากความร่วมมือของคณะภายใน สจล. ในหลักสูตรวิศวกรรมเกษตรอัจฉริยะ (AGRINOVATOR)

โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะเทคโนโลยีการเกษตร/หลักสูตร International Program คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา (หลักสูตรนานาชาติ) และคณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สาขาวิชาสถาปัตยกรรม (หลักสูตรนานาชาติ)/หลักสูตร AgriBiz-Econ ของคณะเทคโนโลยีการเกษตร และคณะบริหารธุรกิจ

“ความเติบโตด้านหลักสูตรนานาชาติ เป็นหลักสูตรที่จัดทำเพิ่มขึ้นให้มีความสอดคล้องและความเหมาะสมของสถานการณ์โลกอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะเป็นหลักสูตรที่มีการจัดการเรียนการสอนแบบมีความยืดหยุ่นและเหมาะสมของแต่ละคณะ

โดยมีหลักสูตรที่น่าสนใจ เช่น หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (นานาชาติ) คณะแพทยศาสตร์/หลักสูตร Doctor of Dental Surgery คณะทันตแพทยศาสตร์/หลักสูตร Business Information Technology คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ/หลักสูตร Culinary Science and Foodservice Management (International Program) คณะอุตสาหกรรมอาหาร/หลักสูตร Industrial and Engineering Chemistry (International Program) คณะวิทยาศาสตร์/หลักสูตร B.Eng. Chemical Engineering (International Program) คณะวิศวกรรมศาสตร์

ความแข็งแกร่งด้านวิชาการ จากการที่ สจล.ได้รับการยอมรับและเชื่อมั่นจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ทำให้เราได้มีโอกาสได้ร่วมมือกับหน่วยงานชั้นนำระดับโลกในการจัดตั้งสถาบันการศึกษาเฉพาะทางขึ้นมาเพื่อผลิตบัณฑิต ผู้เชี่ยวชาญ รองรับอุตสาหกรรมและโลกอนาคต จึงทำให้ สจล.ได้จัดตั้งหน่วยงานด้านการศึกษาเพิ่มขึ้น แต่ยังคงให้การสนับสนุนด้านต่าง ๆ และกำกับดูแล

1. มหาวิทยาลัย CMKL เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง สจล.กับมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมุ่งเน้นการผลิตบุคลากรยุคใหม่ด้านวิศวกรรมศาสตร์ ส่งเสริมการเรียนรู้และสนับสนุนให้เกิดผลงานวิจัย

2. 42 Bangkok เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง สจล.กับ Ecole 42 Paris ประเทศฝรั่งเศส เป็นสถาบันโปรแกรมเมอร์ระดับโลก ได้จัดตั้งขึ้นด้วยเล็งเห็นถึงโอกาสและแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมดิจิทัลในไทย ผ่านการพัฒนาศักยภาพโปรแกรมเมอร์ ร่วมขับเคลื่อนภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมดิจิทัลไทย
3. โรงเรียนสาธิตนานาชาติพระจอมเกล้า ซึ่งเป็นโรงเรียนนานาชาติแห่งแรกที่มุ่งเน้นการเรียนด้านวิทยาศาสตร์เป็นพิเศษ โดยมีคอร์สเรียน AP ตามหลักสูตรประเทศสหรัฐอเมริกา เน้นการเรียนด้านวิทยาศาสตร์ ตลอดจนคณิตศาสตร์และเทคโนโลยี (STEM)

ดังนั้นบรรยากาศการเรียนจะสนับสนุนให้นักเรียนพยายามเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ และความพิเศษของนักเรียนที่นี่อย่างหนึ่งคือ สามารถใช้สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ของนักศึกษาระดับปริญญาของ สจล.ได้ เช่น ห้องสมุด หอพัก สนามกีฬา ตลอดจนบางวิชาจะเป็นอาจารย์ของ สจล.เองที่เข้าร่วมสอนด้วย นอกจากนี้นักเรียนสามารถเลือกเรียน Track ที่เรียกว่า “Pathway to KMITL” เข้าสู่การเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีที่ สจล.ได้

4. สถาบันโคเซ็นแห่งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KOSEN-KMITL) หรือสถาบันโคเซ็นแห่ง สจล. เป็นสถาบันการศึกษาที่ได้รับการก่อตั้งตามโครงการพัฒนากำลังคนด้านวิศวกรรม เทคโนโลยี และนวัตกรรม สนับสนุนการลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรมในประเทศและภูมิภาค ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลญี่ปุ่น

โดยมีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. เป็นฝ่ายขับเคลื่อนดำเนินการ เปิดสอนในหลักสูตรอนุปริญญาวิศวกรรมศาสตร์ ในหลักสูตรวิศวกรรมเมคาทรอนิกส์ หลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ หลักสูตรวิศวกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และในปี 2567 จะเปิดหลักสูตรปริญญาวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมการผลิต