จินตคณิตสร้างทักษะ เสริมความรู้พัฒนานักเรียนคิดเป็น

แม้หลายคนจะบ่นว่าการศึกษาไทยยังย่ำอยู่กับที่ ไม่พัฒนาไปถึงไหน ทั้งหลักสูตรยังไม่ตอบสนองต่อผู้เรียน และตลาดแรงงาน จึงทำให้นักเรียน-นิสิต-นักศึกษาที่จบการศึกษาออกไป จึงแทบหางานทำไม่ตรงกับที่เรียน หรือบางทีอาจต้องตกงานด้วยซ้ำ เพราะภาคตลาดแรงงานพัฒนาไปไกลมาก แต่ภาคการศึกษายังไม่สามารถพัฒนาผู้เรียนให้สนองตอบต่อธุรกิจของเขาได้โดยเฉพาะภาคการศึกษาขนาดใหญ่

ขณะที่ภาคการศึกษาขนาดเล็กก็ค่อนข้างขาดแคลน ทั้งในส่วนของตัวผู้เรียน เครื่องมือทางเทคโนโลยีการศึกษา ครู-อาจารย์ และอุปกรณ์ต่าง ๆ จนทำให้การเรียนการสอนประสบปัญหาเช่นเดียวกัน เพราะไม่สามารถพัฒนาตามโลกการศึกษาได้ทัน

ผลเช่นนี้ จึงทำให้โรงเรียนขนาดเล็กหลายแห่งจึงพยายามเอาตัวรอด และพยายามหาวิธีการต่าง ๆ มาช่วยเสริมสร้างความรู้ให้กับตัวผู้เรียน เพื่อทำให้นักเรียนมีองค์ความรู้มากพอ เพื่อจะนำไปต่อยอดเข้าศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หรืออุดมศึกษา

ที่สำคัญ โรงเรียนขนาดเล็กหลายแห่งในประเทศไทยมีอยู่เป็นจำนวนมาก บางแห่งก็ถูกนำไปยุบรวมกับโรงเรียนที่มีขนาดใหญ่ใกล้เคียง จนต้องมีการปรับตัวทั้งในเรื่องวิธีการสอน การสร้างเครือข่าย และให้ความร่วมมือกับชุมชนเพื่อการอยู่รอด โดยมีหนึ่งในตัวอย่างที่น่าสนใจสำหรับเรื่องนี้คือ โรงเรียนบ้านกำพี้เหล่ากาเจริญศิลป์ อ.บรบือ จ.มหาสารคาม ที่นำจินตคณิตมาเป็นส่วนหนึ่งในหลักสูตรการเรียนการสอน

ทั้งยังพัฒนาต่อยอดจัดการแข่งขันในระหว่างโรงเรียน สร้างความโดดเด่นจนทางรายการ 1 ในพระราชดำริ สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 Mcot HD และมูลนิธิอานันทมหิดล เกิดความสนใจ และเดินทางมาเยี่ยมชม พร้อมนำแนวคิดมาบอกต่อ เพื่อสร้างการรับรู้ให้เกิดในวงกว้างของสังคม

Advertisment
ดร.สุภาพร ลามะให
ดร.สุภาพร ลามะให

“ดร.สุภาพร ลามะให” ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านกำพี้เหล่ากาเจริญศิลป์ อ.บรบือ จ.มหาสารคาม กล่าวว่า จินตคณิตคือการคิดเลขขั้นพื้นฐาน โดยใช้มือร่วมกับลูกคิด แทนค่าด้วยสัญลักษณ์ พร้อมจินตนาการคณิตศาสตร์ หรือค่าตัวเลขเอาไว้ในใจ เป็นหลักสูตรที่ได้นำเข้าจากต่างประเทศ

เน้นการฝึกวิเคราะห์ที่จะช่วยให้เด็กได้คิดเลขเร็วแม่นยำ มีสมาธิ และสมองได้เรียบเรียงความคิด ซึ่งเป็นโครงการที่ทางโรงเรียนจัดทำมาตั้งแต่ปี 2564 เพื่อเสริมกับหลักสูตรแกนกลาง โดยเรียนสัปดาห์ละ 4 ชั่วโมง ถือเป็นทักษะอาชีพที่เตรียมความพร้อมให้กับนักเรียนก่อนจะไปศึกษาต่อที่อื่น

“สำหรับล่าสุดจัดให้มีการแข่งขันชิงแชมป์จินตคณิตครั้งที่ 2 เป็นการแข่งขันระหว่างโรงเรียน จัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษามหาสารคาม เขต 1, สมาคมผู้บริหารสถานศึกษา อ.บรบือ และสถาบันจินตคณิต โดยบริษัท เบรนเทรนนิ่ง จำกัด จ.ขอนแก่น โดยมีนักเรียนระดับชั้นอนุบาล 3-ประถมศึกษาปีที่ 6 ที่อาศัยอยู่ใน อ.บรบือ มาเข้าร่วมจำนวน 15 โรงเรียน ซึ่งผลตอบรับดีมาก ทำให้เด็กมีประสบการณ์, สนุกกับการเรียน, คิดคำนวณเลขได้เร็วขึ้น และไม่กลัวคณิตศาสตร์”

นอกจากนี้ ทางโรงเรียนยังมีโครงการรับครูอาสาสมัครต่างชาติเข้ามาสอน โดยเสนอ Portfolio ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในต่างประเทศ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ทำให้ในปี 2566 มีครูจากประเทศอังกฤษจำนวน 3 คน มาร่วมสอน และให้ความรู้กับนักเรียน

Advertisment

ส่วนด้านกีฬามีการส่งนักเรียนไปเข้าแข่งในรายการต่าง ๆ จนได้แชมป์ในหลายรายการ โดยใช้เวลาฝึกซ้อมช่วงหลังเลิกเรียน ทั้งยังมีการสอนทักษะด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านศิลปะ โครงงาน และอาชีพต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นพื้นฐานความรู้ในอนาคต

ขณะที่ “ดร.รัตนา แซ่เล้า” ผู้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดล แผนกธรรมศาสตร์ ประจำปี 2549 กล่าวว่า ทุกวันนี้เราจะได้ยินแต่เรื่องการปิดยุบ, ควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก หรือทรัพยากรไม่เพียงพอ การที่โรงเรียนบ้านกำพี้เหล่ากาเจริญศิลป์ ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็กจัดให้มีการแข่งขันชิงแชมป์จินตคณิตนั้นถือเป็นกิจกรรมที่ดี เพราะเป็นการสอนให้นักเรียนรู้จักคิด วิเคราะห์ และตกผลึกด้วยตนเอง

โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ซึ่งเป็นพื้นฐานของการศึกษา สามารถนำไปต่อยอดในการเรียนระดับมัธยม และอุดมศึกษา หรือจะนำไปประกอบอาชีพค้าขาย ทำบัญชี, สถิติ หรือในด้านเศรษฐศาสตร์ต่าง ๆ ที่สำคัญ ยังทำให้มองเห็นพลังบวกที่มาจากวิสัยทัศน์ของการมีผู้นำทางวิชาการที่เข้มแข็ง ซึ่งได้นำองค์ความรู้ของเอกชนมาปรับใช้กับเด็กนักเรียน ภายใต้การดูแลอย่างเข้าถึง และเท่าทัน

“สำหรับการสร้างเครือข่ายจับมือกับ 15 โรงเรียนภายในชุมชน และการทำงานร่วมกับ ‘สุพิชญ์ พรอยู่ศรี’ รองผู้อำนวยการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษามหาสารคาม เขต 1 ทำให้เห็นการรวมพลังนำพาให้โรงเรียนขนาดเล็กอยู่รอดได้

เราควรร่วมมือกันคิดหาทางออกที่สร้างสรรค์ มากกว่าโยนภาระไปให้ผู้ปกครองในเรื่องการเดินทาง ปัจจุบันเรามีโรงเรียนอยู่แล้ว ขาดแค่ทรัพยากรบางส่วนที่จะมาเติมเต็มในเรื่องดังกล่าว ดังนั้น เราควรจะหันหน้ามาจับมือ ร่วมแรงร่วมใจกัน และทุกคนก็จะรอด”

ซึ่งเหมือนกับโรงเรียนบ้านกำพี้เหล่ากาเจริญศิลป์ที่ไม่เพียงจะเป็นโรงเรียนต้นแบบสำหรับโรงเรียนอื่น ๆ ให้หันมาสนใจเกี่ยวกับเรื่องจินตคณิต หากยังนำไปต่อยอดเพื่อสร้างองค์ความรู้เรื่องอื่น ๆ ต่อไปด้วย เพราะกระบวนการเรียนรู้ในหลักสูตรต่าง ๆ ของสถาบันการศึกษามีอยู่หลายวิชาด้วยกัน

หากสามารถจัดกระบวนการเรียนการสอนอย่างรู้เท่าทันโลก ก็เชื่อแน่ว่าจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับวิชาอื่น ๆ และบริหารจัดการคุณภาพชีวิตของผู้เรียนได้อีกทางหนึ่งด้วย