ม.วลัยลักษณ์ผนึกบลิส-เทส+หัวเว่ย เดินหน้าสู่ smart university

ม.วลัยลักษณ์จับมือบริษัท บลิส-เทล จำกัด (มหาชน) และบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกันลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการนวัตกรรมการพัฒนาสถาบันการศึกษาเพื่อก้าวสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัลทางการศึกษาและมหาวิทยาลัยสีเขียว (University of Digital Education & Green University)

“ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์” อธิการบดี ม.วลัยลักษณ์ กล่าวว่า ม.วลัยลักษณ์มีวิสัยทัศน์ในการพัฒนามหาวิทยาลัยสู่การป็นมหาวิทยาลัยแห่งคุณภาพ เน้นให้นักศึกษามีทักษะในการคิดวิเคราะห์ ส่งเสริมการเรียนการสอนในแบบเชิงรุก (Active Learning) และสร้างเสริมกระบวนการเรียนรู้เกี่ยวกับพลังงานทดแทนและสิ่งแวดล้อม เพื่อก้าวสู่มหาวิทยาลัยสีเขียว (Green University) และ Smart University

โดยในส่วนของการลงนามในครั้งนี้ ม.วลัยลักษณ์ได้ร่วมมือกับบริษัท บลิส-เทล จำกัด (มหาชน) และ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัททางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคมขนาดใหญ่ ทั้งภายในและต่างประเทศ เพื่อนำนวัตกรรมทางการศึกษา มาใช้ประโยชน์ทางการเรียนการสอนและสร้างบุคลากรทางการศึกษาให้มีความรู้ความสามารถทัดเทียมและแข่งขันได้ในเวทีระดับโลก

“ภายใต้ขอบเขตความร่วมมือ ประกอบด้วย การจัดให้มีโครงการถ่ายทอดความรู้และเยี่ยมชมงานทางด้านนวัตกรรมดิจิทัลทางการศึกษา การจัดทำพิมพ์เขียวระบบ ระบบโครงข่ายพื้นฐานแบบดิจิทัล ระบบข้อมูลแบบคลาวด์รองรับข้อมูล Big Data ของมหาวิทยาลัย ระบบเทคโนโลยีการสอนผ่านทางไกล ระบบห้องเรียนแบบInteractive Clound Classroom โปรแกรมเพื่อสื่อสารหลัก All in One Messaging : Learning : Communicating ระบบการจัดการพลังงานทดและพลังงานทดแทน”

นอกจากนี้ ยังมีการจัดให้มีการทดสอบระบบที่ออกแบบในลักษณะ Proof of Concept : POC การจัดให้มีคณะทำงานในการกำหนดกรอบในการร่วมลงทุนกับมหาวิทยาลัย โดยทั้ง 3 ฝ่าย จะมีการร่วมลงทุนในโครงการ Digital Dentistry College ของวิทยาลัยทันตแพทย์ศาสตร์ นานาชาติ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นโครงการนำร่อง

“กิตติชัย ลือศักดิ์กชกร” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายเทคโนโลยีสารสนเทศ บริษัท บลิส-เทล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากความร่วมมือดังกล่าวข้างต้น บมจ.บลิส-เทล และทางบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ร่วมกันสรรหานวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศในระดับโลก เพื่อนำมาสนับสนุนการดำเนินงานของทางมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์รวมทั้งหมด 5 ด้าน คือ ด้านนวัตกรรมเครือข่ายสือสารข้อมูล ด้านนวัตกรรมศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านนวัตกรรมการเรียนการสอน ด้านนวัตกรรมการสื่อสารภายในองค์กร และด้านนวัตกรรมทางด้านพลังงาน

“บริษัทฯ และทางบ.หัวเว่ย จะเริ่มนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมดังกล่าว มาใช้ในโครงการ
แรกกับทางวิทยาลัยทันตแพทย์ศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งมีเป้าหมายที่จะพัฒนาให้เป็น วิทยาลัยทันตแพทย์ดิจิทัล หรือ Digital Dentistry College แห่งแรกในประเทศไทย และเป็นวิทยาลัย ทันตแพทย์ศาสตร์นานาชาติ อันดับหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน”

รวมถึงศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศแบบคลาวด์ (Digital Density Cloud Service) ของวิทยาลัยทันตแพทย์ ศาสตร์นานาชาติ จะออกแบบให้สามารถเชื่อมต่อกับศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศแบบคลาวด์ (Cloud WAN) รวมทั้งเชื่อมต่อกับระบบ Digital Library และ Digital Education Platform ของมหาวิทยาลัย เพื่อรองรับการใช้งานของนักศึกษาชั้นปีที่ 1, 2 ที่ศึกษาอยู่ที่ม.วลัยลักษณ์ และรองรับการใช้งานด้านการค้นคว้าและวิจัย กรณีศึกษาของอาจารย์ทันตแพทย์ศาสตร์ ซึ่งในอนาคตทางวิทยาลัยฯ จะใช้เป็นศูนย์กลางในการเก็บข้อมูล ทางทันตแพทย์และการรักษา (Dental Patient Bank) และต่อยอดไปสู่การพัฒนาเครือข่ายคลีนิคทันตกรรม (Satellite Dental Clinic) ให้เข้ามาใช้บริการระบบบริหารจัดการทางด้านทันตกรรมที่จะพัฒนาขึ้นต่อไป