เช็กลิสต์โปรฯมหา”ลัยเอกชน งัดกลยุทธ์แจกทุนดึงนักศึกษาใหม่

ใกล้เข้าสู่โค้งสุดท้ายของการรับสมัครนักศึกษาใหม่ของปีการศึกษา 2561 ซึ่งเป็นช่วงเวลาของการรับตรงอิสระของการสอบระบบ TCAS ที่เปิดให้สถาบันอุดมศึกษารับตรงด้วยวิธีการของสถาบันเอง จึงเห็นมหาวิทยาลัยรัฐออกมาประกาศว่าสถาบันของตนเปิดรับนักศึกษาสาขาใดบ้าง และรับจำนวนกี่คน โดยบางแห่งประกาศรายละเอียดทันทีหลังประกาศผลแอดมิสชั่น และจำกัดระยะเวลารับสมัครเพียง 1 สัปดาห์ ขณะที่บางแห่งกำหนดระยะเวลาในการรับสมัครยาวถึง 2-3 สัปดาห์

ถ้ามองนอกเหนือจากประเด็นการบริหารจัดการข้อมูลอย่างรวดเร็ว เพื่อสะดวกต่อการวางแผนการทำงานของมหาวิทยาลัย อาจมองได้ว่าช่วงวันที่ออกประกาศ และระยะเวลาของการรับสมัครนั้น แสดงให้เห็นถึงความต้องการของมหาวิทยาลัยในการ “ดึงดูด” เด็กให้เข้ามาสมัครกับสถาบันของตัวเองว่ามีมากน้อยแค่ไหน

ขณะเดียวกัน เมื่อมองมายังฝั่งของมหาวิทยาลัยเอกชนก็อยู่ในช่วงของการออกทุนการศึกษาต่าง ๆ ซึ่งเป็น “ส่วนลด” ค่าเรียนให้กับเด็ก โดยหลายมหาวิทยาลัยออกทุนมาเพื่อ “เก็บ” เด็กชั้น ม.6 ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และออกทุนการศึกษาต่าง ๆ ต่อเนื่องมาจนถึงตอนนี้

“ประชาชาติธุรกิจ” สำรวจทุนการศึกษาของมหาวิทยาลัยเอกชนที่ออกมาเฉพาะสำหรับเป็น “แม็กเนต” ในการดึงนักศึกษาใหม่ นอกจากทุนการศึกษาที่ให้เป็นปกติ หรือเป็นทุนการศึกษาประจำที่มีอยู่แล้ว โดยมีทั้งทุนการศึกษาของปีนี้และของปีการศึกษา 2562

เริ่มจาก ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ที่เปิดช่องให้สามารถใช้ผลคะแนนสอบติดแอดมิสชั่นมายื่นรับทุนสูงสุด 15,050 บาท หรือนำคะแนน GAT/PAT, 9 วิชาสามัญ, O-NET/V-NET มายื่นรับทุน 11,050 บาท รวมถึงมีการเจาะลงไปในหลักสูตรบูรณาการสุขภาพและความงามของวิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ ซึ่งจะได้รับส่วนลดตลอดหลักสูตร 60,000 บาท จากค่าเทอมตลอดหลักสูตรอยู่ที่ 400,000 บาท พร้อมรับไอแพดฟรี ขณะเดียวกัน มีการปล่อยทุนสำหรับเด็กปีการศึกษา 2562 ซึ่งหากสมัครหลักสูตรพันธุ์ใหม่ภายในวันที่ 30 ก.ย. 2562 จะได้รับทุน 15,000 บาท

ขณะที่ ม.ศรีปทุมมีทุนให้ 5,000 บาท ไม่ว่าจะสมัครเรียนสาขาวิชาใดก็ตาม ส่วนผู้สมัครที่เป็นบุตรและญาติที่มีนามสกุลเดียวกันกับบุคลากร ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน สามารถยื่นขอรับทุน 10,000 บาท นอกจากนี้ เพื่อให้มั่นใจว่าเด็กจะไม่เปลี่ยนใจกลางทาง ม.ศรีปทุมจึงออกทุน SPU-Admissions จำนวน 20,000 บาท สำหรับผู้ผ่านการคัดเลือก TCAS รอบที่ 4 ซึ่งเลือก ม.ศรีปทุมที่เข้าสู่รอบสัมภาษณ์ และลงทะเบียนรับสิทธิ์ภายในวันที่ 31 ก.ค. 2561

นอกจากนี้ ยังมีทุนการศึกษาสำหรับเด็กปี 2562 ออกมาหลากหลายทุน ยกตัวอย่างทุน SPU โควตา ซึ่งเป็นโควตารอบพิเศษที่มอบทุน 20,000 บาท ไม่ว่าจะเป็นผู้เรียนที่ลงทะเบียนปกติ หรือเป็นผู้กู้ กยศ. หรือ กรอ.

ในส่วนของ ม.รังสิต ปีนี้นับเป็นครั้งแรกของการขยับมาทำการตลาดแบบเต็มตัว หลังจากที่มีการแจกไอแพดให้กับนักศึกษาใหม่ทุกคน โดยมีสิทธิพิเศษ “RSU Family” ให้แก่บุคคลในครอบครัว ศิษย์เก่า และนักศึกษาปัจจุบัน มอบส่วนลด 10% ของค่าหน่วยกิตและค่าบำรุงการศึกษาตลอดหลักสูตร แต่ไม่ครอบคลุมบางคณะ เช่น วิทยาลัยแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ วิทยาลัยดนตรี สถาบันการบิน เป็นต้น

ขณะที่ ม.หอการค้าไทย นอกจากจะมีทุนนักศึกษาปัจจุบันชวนรุ่นน้องมาเรียน หรือเพื่อนชวนเพื่อนมาเรียนด้วยกัน แล้วรับทุนคนละ 5,000 บาท ยังมีทุนใหม่ที่น่าสนใจ คือ ทุน social stars สำหรับเด็กที่มียอดผู้ติดตามผ่านเฟซบุ๊ก, อินสตาแกรม, ทวิตเตอร์ และยูทูบจำนวนมาก โดยจำนวนทุนที่ให้ขึ้นอยู่กับยอดผู้ติดตาม เช่น หากในเฟซบุ๊กมีผู้ติดตาม 5,000 คน รับทุนปีละ 5,000 บาท มีผู้ติดตาม 10,000 คน รับทุนปีละ 10,000 บาท และผู้ติดตาม 15,000 คน รับทุนปีละ 30% แต่ผู้ที่จะได้รับทุนนี้ต้องผ่านการคัดเลือกอย่างเข้มข้น ซึ่งจะพิจารณาจากความสามารถในการทำคอนเทนต์หรือการทำวิดีโอประกอบกันด้วย

สำหรับ ม.กรุงเทพ เพิ่งปิดรับสมัครทุนก้าวใหม่ไปเมื่อเดือนที่ผ่านมา โดยให้ทุนกับนักศึกษาใหม่คนละ 5,000 บาท กระนั้น ได้เปิดรับสมัครทุน BU Best Choice แล้วสำหรับนักศึกษาของปี 2562 ซึ่งจะได้รับทุนทันที 10,000 บาท หากสมัครเรียนภายในวันที่ 16 ม.ค. 2562

“ผศ.มานา ปัจฉิมนันท์” รองอธิการบดีฝ่ายสื่อสารการตลาดและวิเทศสัมพันธ์ ม.หอการค้าไทย สะท้อนภาพการรับนักศึกษาใหม่ของมหาวิทยาลัยเอกชนว่า มีการเปิดรับตั้งแต่เด็กเพิ่งขึ้นชั้น ม.6 เพราะเขาเริ่มหาที่เรียนในระดับอุดมศึกษาแล้ว โดยมีบางกลุ่มที่ไม่ได้สนใจการสอบ TCAS หรือมีเป้าหมายที่ไม่ได้เข้ามหาวิทยาลัยรัฐอยู่แล้ว รวมถึงต้องการเรียนมหาวิทยาลัยเอกชนเพราะมีสาขาที่มหาวิทยาลัยรัฐไม่ได้เปิดสอน

“การแข่งขันของมหาวิทยาลัยเอกชนคล้ายกับปีที่ผ่านมา คือ มีทุนการศึกษาให้เป็นรอบ ๆ และอาจมีทุนใหม่ ๆ ออกมาบ้าง เพื่อกระตุ้นความสนใจ อย่างไรก็ตาม ทุนการศึกษาเป็นเพียงน้ำจิ้ม คุณภาพและหลักสูตรเป็นเรื่องสำคัญมากกว่า หากมหาวิทยาลัยไม่มีหลักสูตรที่ดี เด็กก็ไม่สนใจ”

“word of mouth ก็เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะรุ่นพี่บอกต่อรุ่นน้อง ทำให้เด็กสนใจและเลือกมหาวิทยาลัยนั้น ๆ ซึ่งส่วนตัวมองว่าการที่มหาวิทยาลัยมาจับเรื่องทุนการศึกษากันเยอะ ไม่ได้เกิดผลดีต่อใคร เพราะทำให้ทุกแห่งมีรายได้ลดลง ดังนั้น มองว่าการทำ CRM (customer relationship management) จะทำให้ได้ผลระยะยาวมากกว่า”

“ผศ.มานา” ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ปีนี้มหาวิทยาลัยรัฐขยับมาทำการประชาสัมพันธ์และการโฆษณามากขึ้น เพราะเจอกับสถานการณ์จำนวนเด็กลดลงไม่ต่างกัน ดังนั้น โจทย์คือจะทำอย่างไรให้คนนึกถึง เพราะมหาวิทยาลัยรัฐมีหลายหลักสูตร ทำให้ต้องเพิ่มการพีอาร์มากกว่าเดิม

“ถือว่าเป็นความท้าทายของมหาวิทยาลัยรัฐ เพราะเขาไม่เคยทำการตลาดมาก่อน แต่ต้องมาจับเรื่องนี้เยอะขึ้น แตกต่างจากมหาวิทยาลัยเอกชนที่ทำมานานแล้ว มีประสบการณ์ในการเลือกสื่อให้ตรงตามเป้าหมาย โดยคาดว่าในอนาคตจะเห็นภาพการตลาดของมหาวิทยาลัยรัฐออกมามากกว่าเดิมอย่างแน่นอน”