วิทย์ จุฬาฯ ปรับทิศหลักสูตร ผลักดันเรียนรู้ข้ามศาสตร์ ปั้นนิสิตพันธุ์ใหม่รับโลกเปลี่ยน

ศ.ดร.พลกฤษณ์ แสงวณิช คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ทำให้ความต้องการ “คน” มีความแตกต่างจากเมื่อก่อน ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอต่อการทำงานอีกแล้ว องค์กรต่าง ๆ ล้วนต้องการคนที่มีทักษะที่หลากหลาย เพื่อพร้อมรับมือกับความท้าทายของโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

ในแง่ของสถาบันการศึกษาจึงต้องเร่งปรับตัว และเสริมทักษะที่หลากหลายให้กับนิสิตนักศึกษาที่จะออกไปเผชิญหน้ากับโลกแห่งอนาคต ซึ่งแผนการดำเนินงานที่ตามมา คือ หลายคณะและหลายมหาวิทยาลัยได้พลิกรูปแบบการเรียนการสอน พร้อมเสริมวิชาใหม่ ๆ เพื่อเติมเต็มความสามารถของเด็กรุ่นใหม่ให้รอบด้านมากขึ้น อันรวมถึงคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เพิ่งมีแผนงานด้านนี้ด้วย

“ศ.ดร.พลกฤษณ์ แสงวณิช” คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฉายภาพถึงภาพรวมความต้องการคนด้านวิทยาศาสตร์ว่าไม่ได้ลดลง แต่ต้องการคนที่มีความรู้เฉพาะเจาะจงมากขึ้น และต้องมีความรู้มากกว่า 1 ศาสตร์ ที่สามารถผสมผสานกับศาสตร์เฉพาะทางได้ ดังนั้น องค์ความรู้ของนิสิตในปัจจุบันต้องมีความหลากหลาย และสามารถบูรณาการข้ามสายได้ เพื่อปรับตัวให้เข้ากับอาชีพสมัยใหม่

“เรามองว่าต้องเร่งติดอาวุธให้กับนิสิตแล้ว จึงปรับจำนวนวิชาแกนลดลง และให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น จากเดิมที่เรากำหนดวิชาเรียนให้เขาเลยทั้งหมด 100% ก็ต้องมาจัดสรรกันใหม่ เอื้ออำนวยให้นิสิตได้สัมผัสกับสาขาวิชาอื่นมากกว่าเดิม เป็นวิชาที่เขาชอบและอยากเรียน ทั้งวิชาบัญชี บริหารธุรกิจ หรืออื่น ๆ”

“เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้พูดคุยกับคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และนิติศาสตร์ ว่าให้มีการเปิดวิชาโทเพิ่มเติม ซึ่งเขาก็ต้องออกแบบหลักสูตร หรือเนื้อหาวิชาที่เหมาะสมกับนิสิตของคณะวิทยาศาสตร์ด้วย เพราะรูปแบบการสอน และเนื้อหาจะไม่เข้มข้นเท่ากับการสอนนิสิตคณะของเขาเอง ขณะเดียวกัน ภาควิชาต่าง ๆ ของคณะวิทยาศาสตร์ก็ต้องปรับการเรียนการสอนให้ได้ภายใต้เวลาเรียนที่ลดลง”

“ศ.ดร.พลกฤษณ์” ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สาขาด้านวิทยาศาสตร์ที่ได้รับความนิยมจากนิสิตจะเป็นสาขาที่รู้ว่ามีรูปแบบการทำงานที่ชัดเจนรออยู่ปลายทาง ซึ่งเป็นด้าน applied science ทั้งสาขาวัสดุศาสตร์, เทคโนโลยีอาหาร, ธรณีวิทยา เป็นต้น ส่วน pure science เช่น ชีววิทยา พฤกษศาสตร์ จะไม่ได้รับความนิยมเท่า

“ส่วนใหญ่แล้วหน่วยงานต่าง ๆ จะมีทุนการศึกษามาให้นิสิต แต่มีปัญหาคือไม่มีงานรองรับหลังจากที่พวกเขาเรียนจบ อีกทั้งบางตำแหน่งงานก็รับคนน้อยลง อย่างนักวิจัยที่หน่วยงานภาครัฐก็ไม่รับคนเพิ่ม ขณะเดียวกัน ศูนย์วิจัยและพัฒนาของไทยก็ยังมีไม่มาก ทำให้เด็กไม่อยากเรียนด้านวิทยาศาสตร์ เพราะไม่เห็นตลาดงานที่ชัดเจน”

ไม่เพียงเท่านั้น นักศึกษาบัณฑิตศึกษาก็ลดจำนวนลงเช่นกัน คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ จึงเน้นหลักสูตรที่บูรณาการข้ามศาสตร์มากขึ้น ด้วยการเปิดหลักสูตรธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม ที่เน้นการนำแนวคิดด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปบูรณาการกับการบริหารจัดการ เพื่อต่อยอดเป็นนวัตกรรมและนำไปสู่ตลาดเพื่อการพาณิชย์

“ภาครัฐกำลังอยู่ระหว่างการ identify ปัญหาการขาดแคลนนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งผมมองว่าเมื่อตลาดไม่มีตัวเลขความต้องการที่ชัดเจน ทำให้ซัพพลายลดลงโดยธรรมชาติ หากไม่มีงานรองรับก็ไปเรียนสาขาวิชาอื่นแทน ดังนั้น ภาครัฐต้องหางานให้ ส่วนสถาบันการศึกษาก็ต้องผลิตคนให้ทันกับสถานการณ์ และความต้องการทักษะในปัจจุบันมากกว่าเดิม”

การปรับหลักสูตรของคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ในครั้งนี้จึงเป็นการขยับครั้งสำคัญ เพื่อให้ได้นิสิตที่มีคุณภาพ และสอดรับกับความต้องการนักวิทยาศาสตร์รูปแบบใหม่ ไปพร้อมกับการสร้างงานวิจัยที่ตอบสนองต่อสภาวการณ์ในปัจจุบันและอนาคตมากขึ้นด้วย