พระกุมารเยซูวิทยา โรงเรียนอาชีวะไทยสไตล์อินเตอร์

“ปากต่อปาก รุ่นพี่บอกต่อรุ่นน้อง ผู้ปกครองแนะนำกันมา” ทำให้ โรงเรียนพระกุมารเยซูวิทยา หรือ CHIJ (The Convent of Holy Infant Jesus School) เป็นที่สนใจและตอบโจทย์นักเรียนที่มีเป้าหมายจะพัฒนาตัวเองด้านภาษาอังกฤษ พร้อมกับมีวิชาชีพติดตัวด้วย

“รัชนิดา อะโรรา” ครูใหญ่โรงเรียนพระกุมารเยซูวิทยา ระบุว่า ความพิเศษของโรงเรียน คือ เป็นสถาบันการศึกษานอกระบบ ประเภทวิชาชีพ เพียงแห่งเดียวในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนการสอน โดยผนวกหลักสูตรวิชาเลขานุการและการบริหารธุรกิจให้กับนักเรียน ก่อนออกสู่ตลาดแรงงานที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน และเตรียมความพร้อมให้นักเรียนก่อนที่จะเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย

กลุ่มเป้าหมายของโรงเรียน คือ นักเรียนหญิงที่มีวุฒิมัธยมศึกษาปีที่ 3 หรือเทียบเท่า โดยใช้เวลาในการเรียนรวม 3 ปี เพื่อให้ได้วุฒิมัธยมศึกษาปีที่ 6 และตลอดระยะเวลาที่เปิดโรงเรียนมากว่า 55 ปี ในแต่ละปีจะมีการอัพเกรดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับงานที่ภาคธุรกิจต้องการในปัจจุบัน ด้วยมาตรฐานระดับสากลและเป็นที่ยอมรับ รวมถึงยังช่วยเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียนที่ต้องการเข้าสอบวัดทักษะภาษาอังกฤษ หรือ TOEIC รวมถึงการสอบ TOFEL อีกด้วย โดยอัตราค่าเล่าเรียนอยู่ที่ประมาณ 80,000 บาท/ปี ซึ่งถือว่าค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับโรงเรียนอินเตอร์ที่มีการเปิดการเรียนการสอนอยู่ในปัจจุบัน

“มีนักเรียนที่เรียนจบจากที่นี่รวมแล้วกว่า 7,000 คน ในช่วงที่ผ่านมา เด็ก ๆ ต่างประสบความสำเร็จในการทำงาน และสร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียน เราให้ความสำคัญกับหลักสูตรที่ต้องมีคุณภาพ ที่สำคัญคือเราเป็นเพียงโรงเรียนเดียวในประเทศที่ใช้หลักสูตรนี้”

นอกจากนี้ “รัชนิดา” ให้รายละเอียดของหลักสูตรว่า นักเรียนจะต้องเข้าเรียนอย่างต่อเนื่อง ไม่มีการ “ข้ามขั้น” เช่น เรียนจากที่อื่นมาก่อน และต้องการมาเริ่มเรียนชั้นปีที่ 2 นั้น “ไม่ได้” เนื่องจากหลักสูตรเน้นความต่อเนื่องที่บังคับให้ต้องเรียนตามลำดับ คือ ปีที่ 1-3 โดยในช่วงปีที่ 1 จะเรียนรวม 7 วิชา ปีที่ 2 เรียน 9 วิชา และในปีที่ 3 เรียนรวม 10 วิชา เมื่อนักเรียนเข้าสู่การเรียนในปีที่ 2 จะกำหนดให้นักเรียนเลือกเรียนภาษาที่ 3 เพิ่มเติมตามความสนใจ เช่น ภาษาญี่ปุ่น หรือภาษาจีน เพื่อนำความรู้ด้านภาษานำไปใช้ในชีวิตจริงได้

เมื่อเรียนเข้าสู่ชั้นปีที่ 3 กำหนดให้นักเรียนต้อง “ฝึกงาน” รวมระยะเวลา 1 เดือน ซึ่งองค์กรธุรกิจที่รับนักเรียนเข้าฝึกงาน เช่น สำนักงานสถานทูต โรงแรมแชงกรี-ลา และโรงแรมพลาซ่า แอทธินี เป็นต้น ทั้งนี้ นโยบายของโรงเรียนต้องการให้นักเรียนฝึกงานในประเทศเท่านั้น เพื่อให้ครูสามารถเดินทางไปเยี่ยมนักเรียน พร้อมทั้งให้ใบประเมินนักเรียนกับองค์กรหรือบริษัทนั้น ๆ

“องค์กรธุรกิจต่าง ๆ ที่นักเรียนของเราไปฝึกงานได้ติดต่อขอให้เด็กมาช่วยทำงานแบบฟูลไทม์ เพราะเด็ก ๆ มีคุณภาพ และทำงานได้ดีเทียบเคียงกับพนักงานที่จบปริญญาตรีด้วยซ้ำไป นับเป็นเครดิตที่ดีมาก ซึ่งเมื่อนักเรียนฝึกงานจบแล้วกลับมาเรียนก็จะมาเล่าถึงประสบการณ์การทำงานให้ครูและรุ่นน้องด้วย”

สำหรับโรงเรียนพระกุมารเยซูวิทยาไม่ได้มีเพียงหลักสูตรเรียน 3 ปีเท่านั้น ยังได้เปิดหลักสูตรรูปแบบของการศึกษานอกโรงเรียน ของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) โดยร่วมกับสำนักงานเขตพระโขนง ในการสอนหลักสูตรดังกล่าวทุกวันอาทิตย์ ที่สำคัญ หลักสูตรนี้รับเฉพาะนักเรียนของโรงเรียนเท่านั้น ไม่รับบุคคลภายนอก ซึ่งในหลักสูตรของ กศน.จะใช้เวลาเรียนเพียง 4 เทอม ในขณะที่การเรียนในภาคปกติจะใช้เวลาเรียนรวม 6 เทอม

“เรียกได้ว่าเป็นสิทธิพิเศษของนักเรียน CHIJ เท่านั้น คือจะได้วุฒิ 2 ต่อ จากทั้งหลักสูตรของเราเองและของกศน. ถามว่าทำไมต้องจัดหลักสูตร กศน.เพราะโรงเรียนของเรามองว่าหากนักเรียนต้องไปเรียน กศน.เองอาจจะมีปัญหาในแง่ของการปรับตัวเมื่อต้องเจอกับเพื่อนร่วมชั้นเรียนที่ต่างวัย โดยโรงเรียนของเราจะมีการให้ทุนการศึกษาด้วย แต่จะมีการทดสอบ และการสัมภาษณ์ เพื่อคัดเลือกนักเรียนที่มีความหมาะสมที่ควรได้รับทุน”

“รัชนิดา” ยังให้ข้อมูลเพิ่มอีกว่า สิทธิพิเศษของนักเรียนไม่ได้มีเพียงแค่หลักสูตร กศน.เท่านั้น แต่ CHIJ ยังมีข้อตกลงกับมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) ว่า นักเรียนที่จบการศึกษาจากโรงเรียนพระกุมารเยซูวิทยาสามารถสมัครเข้าเรียนได้ทันที โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการสอบเข้า และขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างขยายความร่วมมือดังกล่าวไปยังมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงอีกหลายแห่ง ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็ว ๆ นี้

อย่างไรก็ตาม จากแวดวงการศึกษาปัจจุบันทั้งในระบบและนอกระบบต่างแข่งขันกันอย่างรุนแรง สถานศึกษาแต่ละแห่งต้องชูจุดแข็งที่มีว่าตอบโจทย์ความสนใจของเด็กนักเรียนในยุคนี้อย่างไร ต่อเรื่องนี้ “ซิสเตอร์เจน สินประยูร” อธิการโรงเรียนพระกุมารเยซูวิทยา เล่าว่าโรงเรียนมีนักเรียนรวม 200 คน ถือว่าลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับในอดีตที่เคยมีจำนวนนักเรียนรวมกว่า 300 คน เนื่องจากมีตัวแปรหลายอย่าง โดยเฉพาะการแข่งขันของสถาบันการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบที่มีจำนวนมากขึ้น

อย่างไรก็ดี สิ่งที่โรงเรียนพระกุมารเยซูวิทยายึดมั่นมาตลอด คือ “คุณภาพ” และ “หลักสูตร” ที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์ พร้อมแสดงให้เห็นถึงความโดดเด่นจากโรงเรียนอาชีวศึกษาแห่งอื่น

โดยเป้าหมายต่อไปของโรงเรียนแห่งนี้ คือ รักษาคุณภาพหลักสูตรการเรียนการสอนที่มีอยู่ให้พัฒนายิ่งขึ้นไป รวมถึงจะเทรนนิ่งให้กับครูอย่างสม่ำเสมอ เพื่อคงคุณภาพการสอนไม่ให้ลดลง ตลอดจนเพิ่มเครื่องมือที่ทันสมัย ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ หรือห้องซาวนด์แล็บต่าง ๆ ให้ตอบโจทย์กับความต้องการของนักเรียนที่สนใจในภาษาอังกฤษอย่างแท้จริง