กสศ. ระดมความเห็น ปชช. ร่วมสร้างการศึกษาเท่าเทียม

สำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับจังหวัดสุรินทร์ โดยสมัชชาการศึกษาจังหวัดสุรินทร์ และภาคีเครือข่าย จัดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นการกำหนดนโยบาย เป้าหมาย และแนวทางการดำเนินงานตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561

“วลัยรัตน์ ศรีอรุณ” รองประธานกรรมการบริหาร กสศ. กล่าวว่า หนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของ กสศ. คือ สนับสนุนให้ภารกิจสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาประสบความสำเร็จ ด้วยการสร้างกลไกภาคประชาชนมีส่วนร่วม ในการออกแบบวิธีการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำตามบริบทของพื้นที่ตนเอง

เช่นเดียวกับการเติบโตของภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษาที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2558 ที่มีความเข้มแข็งและนำไปสู่การจัดตั้งกองทุนปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ หรือกองทุน 10 บาท โดยระดมความร่วมมือและงบประมาณจากคนเชียงใหม่ เพื่อสนับสนุนเด็กเยาวชนยากจนและด้อยโอกาสให้มีโอกาสทางการศึกษาโดยไม่รอคอยความช่วยเหลือจากภาครัฐ ซึ่งนี่คือต้นแบบที่ กสศ.จะสนับสนุนให้เติบโตขึ้นทั่วประเทศ

“กระบวนการรับฟังความคิดเห็นเป็นเวทีระดมความร่วมมือเพื่อต่อยอด ขยายผลข้อเสนอ แนวทางใหม่ ๆ จากทุกภาคส่วน เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทั้งระบบ ซึ่งครั้งแรกจัดขึ้นที่ จ.เชียงใหม่ หลังจากนั้น เป็นจ.สุรินทร์ สุราษฎร์ธานี และกรุงเทพฯ โดย กสศ.ยังเปิดช่องทางรับฟังความคิดเห็นที่ www.eef.or.th เพื่อให้ประชาชนและหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม มากำหนดทิศทางการดำเนินงานในอนาคตให้เกิดประโยชน์สูงสุดร่วมกัน”


ภายหลังขั้นตอนรับฟังความคิดเห็น สำนักงาน กสศ.จะนำทุกประเด็นความเห็นเสนอต่อคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เพื่อกำหนดนโยบาย หลักเกณฑ์ ระเบียบต่าง ๆ ต่อไป โดย กสศ.มีแผนการดำเนินงานใน 3 เรื่องสำคัญ คือ 1.ขจัดอุปสรรคต่อความเสมอภาคทางการศึกษาของนักเรียนยากจนพิเศษประมาณ 620,000 คนทั่วประเทศ ผ่านเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไข และการดูแลต่อเนื่องโดยครูและสถานศึกษา

2.นำร่องสำรวจพื้นที่ 15 จังหวัด ค้นหาเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาอายุ 3-18 ปี จำนวน 100,000 คนแรกเพื่อส่งต่อสู่ระบบการศึกษาและการพัฒนาทักษะอาชีพที่สอดคล้องกับศักยภาพของเด็ก และสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในแต่ละพื้นที่ และ 3.สนับสนุนทุนการศึกษาสายอาชีพสำหรับนักเรียนยากจนระดับ ม.3 ที่มีศักยภาพสูง 12,000 ทุน โดยเมื่อสำเร็จการศึกษาจะมีงานทำได้ทันที

ทั้งนี้ นอกจากจะมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายและการดำเนินงานของ กสศ. ที่คณะครุศาสตร์ ม.ราชภัฏสุรินทร์แล้ว ยังมีการลงพื้นที่เพื่อนำเสนอกรณีศึกษาระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (Information System for Equitable Education : iSEE) ที่สามารถค้นหาและช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสและกลุ่มเสี่ยง พร้อมติดตามช่วยเหลือเยาวชนที่ออกกลางคัน ให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาหรือฝึกทักษะอาชีพตามความถนัด

“ในปีแรกของ กสศ.จะมุ่งให้ความช่วยเหลือนักเรียนกลุ่มที่ยากจนเป็นพิเศษจำนวน 5.7 แสนคนในระบบการศึกษา ควบคู่ไปกับการวิจัยและพัฒนาฐานข้อมูล เพื่อสนับสนุนการค้นหาและคัดกรอง รวมทั้งติดตามกลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์กว่า 4 ล้านคนทั่วประเทศ โดยจะเชื่อมโยงฐานข้อมูลร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ เพื่อร่วมกันสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาให้เกิดขึ้นในสังคมไทย”