“หมอธี” ยันสภาฯ ต้องหาทางออก “9”มทร.ปัดถกถอดอธิการฯ 60ปี ชี้ไม่ถือเป็นสาระ

‘หมอธี’แจงรายละเอียด3แนวทางสกอ. ยันสภาฯ ต้องหาทางออกเอง ย้ำ ‘ไม่ใช้ ม.44- ไม่ออกเกณฑ์กลางสรรหาอธิการบดี’ ขณะที่ปธ.ทปอ.มทร.เผย 9 มทร.ปัดถกถอดอธิการบดีอายุเกิน 60 ปี เหตุไม่ถือเป็นสาระ เผยศาลปกครองสูงสุดเคยวินิจฉัยกรณีมทร. ชี้อธิการฯ-รก.อธิการฯ ต้องเป็น ‘ขรก.-พนักงานมหาลัย’ เท่านั้น

ความคืบหน้ากรณีนายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.) เสนอผลสรุปจากที่ประชุมร่วมระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.)กับนายกสภามหาวิทยาลัยและอุปนายกสภามหาวิทยาลัยจาก 58 มหาวิทยาลัยรัฐทั่วประเทศที่เป็นส่วนราชการ โดยให้เสนอนพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) พิจารณาทางเลือก 4 แนวทางในการแก้ไขปัญหามหาวิทยาลัยที่มีอธิการบดีอายุเกิน 60 ปีหรืออยู่ระหว่างกระบวนการสรรหาแต่งตั้ง จำนวน 23 สถาบัน หลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้เพิกถอนมติสภามหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.)กาญจนบุรีที่แต่งตั้งนายปัญญา การพานิช ซึ่งมีอายุเกิน 60 ปี เป็นผู้รักษาการแทนอธิการบดีมรภ.กาญจนบุรี โดยล่าสุดนพ.ธีระเกียรติ ระบุว่าสกอ.ได้เสนอ 3 ทางเลือกมาให้พิจารณาและนพ.ธีระเกียรติยืนยันว่าสภามหาวิทยาลัยจะต้องพิจารณาหาทางออกเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาฟ้องร้องเหมือนกับมรภ.กาญจนบุรี ขณะที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยที่มีอายุเกิน 60 ปี เช่น นายจรูญ ถาวรจักร์ อายุ 76 ปี อธิการบดีมรภ.อุดรธานี นายไวกูณฑ์ ทองอร่าม อายุ 67 ปี อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี(มรรพ.) ยืนยันว่าจะไม่ลาออกนั้น

เมื่อวันที่ 20 กันยายน นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า เท่าที่ดูรายงานผลการหารือร่วมระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) กับนายกสภาฯ และอุปนายกสภาฯ จาก 58 มหาวิทยาลัยรัฐทั่วประเทศที่เป็นส่วนราชการ สกอ.เสนอ 3 แนวทาง แท้จริงแล้วไม่ใช่แนวทางแต่เป็นการเสนอข้อกฎหมายให้พิจารณามากกว่า ประกอบด้วย 1.คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ผูกพันเฉพาะกรณี มรภ.กาญจบุรีเท่านั้น ที่มีปัญหาอธิการบดีที่อายุเกิน 60 ปี และยังปฏิบัติหน้าที่อยู่ในปัจจุบัน จึงไม่สามารถเป็นเกณฑ์กลางได้ 2.กรณีที่เกิดขึ้นกับ มรภ.กาญจนบุรี จะไม่เป็นผลผูกพันกับหน่วยงานมหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบ แต่มีผลผูกพันกับมหาวิทยาลัยรัฐที่เป็นส่วนราชการเท่านั้น และ3.กรณีที่เกิดขึ้นเป็นหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยไปหาวิธีการแก้ไขปัญหากันเอง สภาฯ ต้องไปพิจารณาว่าในเมื่อศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษากรณี มรภ.กาญจนบุรี เป็นตัวอย่างแล้วจะดำเนินการ แก้ไขปัญหาอย่างไร

นพ.ธีระเกียรติ กล่าวต่อว่า สำหรับการสรรหาอธิการบดี เป็นอำนาจหน้าที่ตน ในการเสนอทูลเกล้าฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ซึ่งต้องพิจารณาใหม่อย่างระมัดระวัง โดยดูจากคำตัดสินของศาลเป็นแนวทาง กังวลว่าเมื่อเสนอทูลเกล้าฯ รายชื่อไป จะรบกวนเบื้องยุคลบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือไม่ หากโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอธิการบดีแล้ว มีคนลุกขึ้นมาฟ้องร้อง ทั้งนี้ต้องสอบถามอาจารย์ในมหาวิทยาลัยด้วย ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐหรือมหาวิทยาลัยรัฐที่เป็นส่วนราชการว่าอยากได้อธิการบดีเป็นคนหนุ่มสาวหรือเป็นคนสูงวัย อย่าให้รัฐมนตรีต้องตอบหรือตัดสินใจคนเดียว เพราะตนมีความคิดส่วนตัวของตน ดังนั้นทุกสภามหาวิทยาลัยต้องคิด แก้ไขปัญหาในเชิงบริหารให้ดี ทุกอย่างมีกฎหมายควบคุมอยู่แล้ว ไม่ว่าคิดอะไรต้องทำตามกฎหมาย ไม่ใช่มาเสนอแนวทางและข้อกฎหมายให้ตนทำ เช่น เสนอให้แก้ปัญหาโดยใช้ มาตรา 44 ไม่ใช่เรื่องง่าย หรือจะให้ออกเกณฑ์กลางตัดเสื้อตัวเดียวมาควบคุมการสรรหาอธิการบดี ไม่ได้ เพราะถ้าไม่ถูกใจ ไม่พอใจ มาด่าตนอีก ดังนั้นทุกมหาวิทยาลัยต้องไปคิดหาทางออกเอง

นายรัฐกรณ์ คิดการ ประธานที่ปรึกษาที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) กล่าวว่า กรณีที่เลขาธิการกกอ..และนายกสภาฯ พยายามบอกว่าแม้มีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดว่าไม่สามารถแต่งตั้งคนอายุเกิน 60 ปีให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีหรือรักษาราชการแทนอธิการบดีได้ แต่ไม่สามารถถอดถอนอธิการบดีที่อายุเกิน 60 ปีได้เพราะเรื่องคุณสมบัติอายุ ไม่ได้กำหนดอยู่ในพ.ร.บ.มรภ.และพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.) จึงไม่สามารถถอดถอนคนที่อายุเกิน 60 ปีได้นั้น ขอชี้แจงว่าการสรรหาแต่งตั้งและการบริหารงานบุคคลผู้บริหารมหาวิทยาลัยรัฐที่เป็นส่วนราชการทั้งตำแหน่งอธิการบดี รองอธิการบดี คณบดี หัวหน้าสำนักเทียบเท่าคณะ เป็นต้น จะใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องหลักๆ 3 ฉบับคือ พ.ร.บ.มรภ. หรือ พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.) พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา(ก.พ.อ.) และพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งแม้พ.ร.บ.มรภ./พ.ร.บ.มทร. ไม่ได้กำหนดคุณสมบัติเรื่องอายุ แต่การบริหารมหาวิทยาลัยรัฐที่เป็นส่วนราชการ กำหนดให้เป็นไปตามพ.ร.บ.ก.พ.อ.และพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ ส่งผลให้คุณสมบัติเรื่องอายุ 60 ปีสำหรับตำแหน่งผู้บริหาร จึงเป็นสิ่งที่อธิการบดี รองอธิการบดี คณบดี เป็นต้น จำเป็นต้องมี

นายรัฐกรณ์ กล่าวต่อว่า ส่วนที่คุยกันว่าเลขาธิการ กกอ.ไม่มีอำนาจในการสั่งการให้สภามหาวิทยาลัยถอดถอนอธิการบดีที่อายุเกิน 60 ปีนั้น ชี้แจงว่าเลขาธิการกกอ.เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาตามพ.ร.บ.ก.พ.อ. ฉะนั้นเลขาธิการกกอ.สามารถใช้อำนาจตามพ.ร.บ.ก.พ.อ แต่ถ้าติดขัดในการใช้อำนาจ ก็สามารถเสนอผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไปคือรัฐมนตรีว่าการศธ.และรัฐมนตรีว่าการศธ.สามารถใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 39/2559 เรื่อง การจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา ข้อ 2 ในกรณีที่ปรากฏว่าการดําเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ดํารงตําแหน่งนายกสภาสถาบันอุดมศึกษา กรรมการสภาสถาบันอุดมศึกษา หรืออธิการบดี ก่อให้เกิดความขัดแย้ง ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ให้รัฐมนตรีว่าการศธ. มีอํานาจยับยั้งการแต่งตั้งหรือการดําเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ที่จะดํารงตําแหน่งดังกล่าว

ด้านนายวิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดีมทร.อีสาน ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ.มทร.) กล่าวว่า กลุ่มมทร.ทั้ง 9 แห่ง ไม่ได้มีการพูดคุยกันเรื่องนี้ และไม่ได้ถือเป็นสาระ ส่วนตัวจะเกษียณอายุราชการวันที่ 30 กันยายน 2561 ส่วนจะเป็นอธิการบดีต่อหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับสภาฯ รวมถึงรอแนวทางการดำเนินการที่ชัดเจนจากรัฐมนตรีว่าการศธ.ซึ่งไม่ใช่เรื่องของสปิริต ว่าจะให้ลาออก หรือไม่ลาออก แต่เป็นเรื่องที่ต้องมีแนวทางดำเนินการที่ชัดเจน

รายงานข่าวแจ้งว่า ในส่วนของมทร.อีสาน เคยมีคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในลักษณะคล้ายกับมรภ.กาญจนบุรี โดยศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2559 ให้ยืนตามคำตัดสินของศาลปกครองชั้นต้น ที่ให้เพิกถอนคำสั่งสภา มทร.อีสาน ที่แต่งตั้ง นายวินิจ โชติสว่าง ซึ่งอายุเกิน 60 ปี ดำรงตำแหน่งรักษาการอธิการบดี โดยศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะไม่มีสถานภาพเป็นข้าราชการหรือพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา นอกจากนี้ศาลปกครองชั้นต้นได้เคยพิพากษากรณีของมทร.ศรีวิชัย เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2555 โดยให้เพิกถอนคำสั่งสภามทร. ศรีวิชัย ที่แต่งตั้งนายประชีพ ชูพันธ์ ซึ่งอายุเกิน 60 ปี ดำรงตำแหน่งรักษาการอธิการบดี โดยศาลวินิจฉัยว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะรักษาการอธิการบดีต้องเป็นข้าราชการพลเรือนหรือพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา หรือต้องไม่เกิน 60 ปี อย่างไรก็ตามในชั้นศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำสั่งให้จำหน่ายคดี เนื่องจากนายประชีพ ได้ลาออกจากตำแหน่งรักษาการอธิการบดีก่อน

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ขณะที่มรภ.กาญจนบุรี ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2561 ว่าแม้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ 37/2560 เรื่องการแก้ไขปัญหาการบริหารงานของสถาบันอุดมศึกษา ในข้อ 2 ที่กำหนดให้สถาบันอุดมศึกษามีอำนาจแต่งตั้งบุคคลใดที่มิได้เป็นข้าราชพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาหรือเป็นพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา มาดำรงตำแหน่งอธิการบดีได้ แต่คำสั่ง คสช.ไม่ได้ยกเว้นเรื่องคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามในเรื่องอายุ จึงเป็นเพียงการรองรับให้ผู้ที่ไม่ได้เป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาหรือพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา สามารถเป็นอธิการบดีได้เท่านั้น แต่คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ยังต้องเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาและกฎหมายจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษานั้นๆ และแม้พ.ร.บ.มรภ.และพ.ร.บ.ก.พ.อ.ไม่ได้กำหนดคุณสมบัติเรื่องอายุไว้ชัดเจน แต่พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการซึ่งข้าราชการพลเรือนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายนี้  กำหนดหลักเกณฑ์เรื่องอายุไว้ว่าข้าราชการที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์แล้วเป็นอันพ้นจากราชการ จึงถือว่าคุณสมบัติเรื่องอายุที่ต้องไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ เป็นคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการบดีและรักษาการอธิการบดี ที่จำเป็นต้องมี

 

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์