ปีที่ 21 “คุมอง” ในไทย ปักธง 500 ศูนย์-โฟกัสเด็กเล็ก

โนโบรุ ทาคาฮิระ

ย้อนไปช่วง 20 ปีก่อนหน้านี้ ใครอยากเก่งคณิตศาสตร์ต้องไปเรียนกับ “คุมอง” ระบบการเรียนจากประเทศญี่ปุ่นที่มีจุดเริ่มต้นจากพ่อที่ต้องการให้ลูกใช้เวลาทำแบบการบ้านให้น้อยที่สุด เพื่อใช้เวลาที่เหลือไปเรียนรู้เรื่องอื่น ๆ เพิ่มเติม จนถึงวันนี้ บริษัท คุมอง ไทยแลนด์ จำกัด กำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 21 ในประเทศไทย “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “โนโบรุ ทาคาฮิระ” ประธานกรรมการ ถึงทิศทางธุรกิจการศึกษาในไทยของคุมอง ท่ามกลางการแข่งขันที่เต็มไปด้วยความท้าทาย

“การแข่งขันสูงมาก เพราะมีโรงเรียนกวดวิชาใหม่ ๆ เพิ่มเข้ามาในระบบจำนวนมาก ในขณะที่จำนวนนักเรียนลดลง”

คำกล่าวเบื้องต้นเป็นคำพูดของ “โนโบรุ ทาคาฮิระ” เริ่มต้นฉายภาพให้เห็นว่า ระบบการเรียนแบบคุมองกำลังเผชิญกับอะไรอยู่ โดยเขาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า แม้การแข่งขันจะสูงมาก แต่ยังมองว่าตลาดการศึกษาในไทยค่อนข้างมีศักยภาพ ฉะนั้น อย่างแรกที่ต้องทำคือการขยายเครือข่ายของศูนย์คุมองเพิ่มขึ้น เพราะเมื่อเครือข่ายเพิ่มขึ้น นั่นหมายถึงว่าจำนวนนักเรียนจะเพิ่มมากขึ้นด้วย

ตั้งเป้าขยายศูนย์เพิ่ม 24 แห่ง

ในอดีตนั้นระบบการเรียนรู้แบบคุมองถูกสร้างขึ้นโดย “โทรุ คุมอง” ที่มีจุดเด่นคือให้เด็กเรียนรู้ด้วยตัวเอง ดึงศักยภาพที่มีอยู่ออกมาใช้ คิด และทำอย่างเป็นระบบ และ “โทรุ คุมอง” ยังมีความฝันที่จะขยายศูนย์คุมองไปทั่วโลกด้วยรูปแบบ “แฟรนไชส์” ที่เปิดสอนใน 3 วิชา คือ คณิตศาสตร์, ภาษาอังกฤษ และภาษาไทย โดยปัจจุบันคุมองมีศูนย์ในไทยรวมทั้งสิ้น 474 แห่ง ขณะที่ศูนย์คุมองในญี่ปุ่นมีถึง 16,000 แห่ง

ทั้งนี้ ตามแผนปี”61 คุมองจะขยายศูนย์เพิ่มอีก 2 แห่ง รวมเป็น 476 แห่ง และในปี”62 จะขยายศูนย์เพิ่มอีก 24 แห่ง รวมจำนวนศูนย์ทั้งสิ้น 500 แห่งทั่วประเทศ โดยผู้ที่สนใจซื้อแฟรนไชส์คุมอง จะต้องมีความพร้อมและมีความสามารถทางวิชาการ นอกเหนือจากนี้ ยังต้องผ่านขั้นตอนการสัมภาษณ์เพื่อให้เห็นถึงมุมมองความคิดว่าสอดคล้องกับแนวคิดของคุมองหรือไม่

“หากคิดว่าอยากสร้างกำไรมาเป็นอันดับแรก เราจะปฏิเสธทันที แม้จะเข้าใจว่าการทำรายได้ และกำไรเป็นสิ่งสำคัญ แต่ไม่ควรให้น้ำหนักมากเกินไป แต่เราให้ความสำคัญกับเด็กมาเป็นอันดับแรก พูดง่าย ๆ คือจะต้องมีความเป็นคนรักเด็ก ซึ่งก่อนหน้านี้มีผู้สนใจที่เราปฏิเสธไปก็มีบ้าง เพราะงานของคุมองไม่ใช่งานง่าย และเป็นการบริหารไม่ได้ทำเพื่อเป็นธุรกิจเพียงอย่างเดียว ต้องดูแลเด็ก รวมถึงต้องสื่อสารกับผู้ปกครองของเด็กด้วย” โนโบรุทาคาฮิระ กล่าวเน้นย้ำในเรื่องนี้

หันเจาะตลาดเด็กเล็ก

สำหรับคุมองในไทยอยู่ภายใต้สังกัดคุมองในภูมิภาคเอเชียที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่สิงคโปร์ จะมีการประชุมผู้บริหารในทุกไตรมาสอย่างต่อเนื่อง เพื่อกำหนดทิศทางแผนดำเนินการของแต่ละประเทศ โดยในปีนี้คุมองในไทยจะเน้นไปที่ “ตลาดเด็กเล็ก” มากขึ้น ส่วนตลาดเด็กโตยังให้ความสำคัญเหมือนเดิม แค่เปลี่ยนมาโฟกัสตลาดเด็กเล็กมากขึ้นเท่านั้นเนื่องจากแนวโน้มเด็กเล็กทั่วโลกเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างเช่นในไทย มีเด็กเล็กรวมอยู่ประมาณ 14% โดยในส่วนนี้จะมีทั้งที่เข้าเรียนแล้ว และยังไม่ได้เข้าเรียน ซึ่งมองว่าเป็นโอกาสที่จะเข้มข้นในตลาดนี้ รวมถึงทำให้เด็กที่เรียนอยู่แล้วตัดสินใจเรียนต่อ พัฒนาการเรียนการสอนให้คุมองกลายเป็นเสมือนสินค้าที่ต้องซื้อทุกเดือน

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจการศึกษาในไทยยังมีอุปสรรค จากกฎหมายที่กำหนดว่าห้องเรียนจะสอนได้แค่วิชาเดียวเท่านั้น แต่ว่าญี่ปุ่นจะไม่มีห้องกั้น สามารถสอน 3 วิชารวมกันได้ แต่ไทยต้องแบ่งห้อง ฉะนั้น จึงเป็นอุปสรรคของคุณครูในศูนย์ที่ต้องไปสอนหลายห้อง ในแต่ละประเทศที่มีศูนย์คุมองจะมีปัญหาที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ ในบางประเทศที่กฎหมายกำหนดห้ามเปิดแฟรนไชส์ เป็นต้น

เพิ่มวิชาเรียน-ทำ E-Learning

ทั้งนี้ “โนโบรุ ทาคาฮิระ” ยังบอกอีกว่า ขณะนี้บริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาว่าอาจจะขยายหลักสูตรเพิ่ม คือ ภาษาฝรั่งเศส และเยอรมัน ซึ่งหากทดลองเปิดแล้วได้รับความนิยมก็มีโอกาสที่จะเพิ่มการเรียนใน 2 ภาษา สำหรับศูนย์ในไทยด้วย รวมถึงหลักสูตร E-Learning ที่ยังอยู่ในระหว่างพัฒนา เนื่องจากเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาขึ้นมาก และส่วนใหญ่จะใช้สมาร์ทโฟน หรือแท็บเลตกันอยู่แล้ว จึงเริ่มพัฒนาจากวิชาภาษาอังกฤษก่อน รวมถึงภาษาไทยก็จะทำตามมาด้วยเช่นกัน

“โดยเราเริ่มเก็บข้อมูลของนักเรียนคุมองมาก่อนหน้านี้ว่าสนใจหรือไม่ด้วย และคิดว่าน่าจะไปได้สำหรับ E-Learning สำหรับสาขาที่ญี่ปุ่นน่าจะเริ่มใช้หลักสูตร E-Learning ได้ภายในปี 2564 หลังจากนั้นอาจจะนำเข้ามาเป็นหลักสูตรในไทยด้วยเช่นกัน”

สำหรับตลาดในเอเชีย คุมอง ประเทศไทย ถือว่าอยู่ในอันดับ 3 ที่ทำรายได้สูงสุด และถ้าขยายสาขาได้ตามแผนที่วางไว้ คุมองน่าจะขยายตัวได้อีกมาก แต่ในกรณีบางพื้นที่ที่มีผู้สนใจขอตั้งศูนย์ในพื้นที่ใกล้เคียงกันมากจนเกินไป ทางคุมองจะต้องแจ้งศูนย์เดิมในพื้นที่ก่อน รวมถึงจะต้องมีการกำหนดระยะห่างของสาขาให้ชัดเจนมากขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาแย่งนักเรียนในพื้นที่เดียวกัน

ตั้งเป้า 500 แห่ง

คุมองจะโฟกัสที่จำนวนเด็กนักเรียนมากกว่า ตอนนี้ตั้งเป้าว่าจะเพิ่มจำนวนนักเรียนให้มากขึ้น คาดว่าในปีนี้จำนวนนักเรียนจะเพิ่มขึ้นระดับ 105% หลังจากที่ปีก่อนจำนวนนักเรียนลดลง และหลังจากเปิดสาขาเพิ่มเป็น 500 แห่ง สำหรับค่าเฉลี่ยต่อสาขาต้องมีนักเรียนประมาณ 200 คน และปีหน้าจะมีสาขาใหม่อีก 20 แห่ง แต่ด้วยความที่เป็นสาขาใหม่ อาจจะยังมีนักเรียนไม่มากนัก ต้องพยายามรักษานักเรียนสาขาในปัจจุบันให้เรียนกับคุมองต่อเนื่องเมื่อ 10 ปีก่อน คุมอง สำนักงานใหญ่มีวิสัยทัศน์ที่จะขยายศูนย์คุมองให้ครอบคลุมทั่วโลก แต่ตอนนี้ภารกิจนั้นถูกลบออกไปแล้ว โดยเปลี่ยนมามุ่งพัฒนาสาขาที่มีอยู่ให้ดีขึ้นไปอีก ไม่ใช่ว่าจะเอาแต่เปิดสาขาอย่างเดียว นโยบายเปลี่ยนคงอยู่ที่ 50 ประเทศทั่วโลกไปก่อน มองถึงคุณภาพมากกว่าปริมาณ ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับคุมองต้องเติบโตไปพร้อมกันกับธุรกิจของคุมองด้วย

“โนโบรุ ทาคาฮิระ” ย้ำในตอนท้ายว่า คุมองให้ความสำคัญในการ “ค้นหาศักยภาพ” ของนักเรียนไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาหลักสูตร และครูผู้สอนให้ดีขึ้นตลอดเวลา ท่ามกลางการแข่งขันในตลาด ทั้งหมดนี้คือความท้าทายของคุมองในไทย