แห่ยกเลิก 552 หลักสูตรคอร์สคูปองพัฒนาครู เหตุแม่พิมพ์เมินอบรม-หน่วยจัดไม่พร้อม

แฟ้มภาพ

เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม นางเกศทิพย์ ศุภวานิช ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพค.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดเผยความคืบหน้าโครงการคูปองพัฒนาครู ว่า กรณีที่นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) มอบหมายให้ สพค.ดูแลโครงการนั้น ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 29 กันยายน มีครูลงทะเบียนในระบบ 314,191 คน ลงทะเบียนอบรม 637,216 ที่นั่ง ในจำนวนดังกล่าวลงทะเบียนสำเร็จ 214,154 ที่นั่ง อยู่ระหว่างรออนุมัติ 3,095 ที่นั่ง อนุมัติงบประมาณแล้ว 1,618,430,184 บาท รอการอนุมัติในปีนี้อีก 3,682,297,340 บาท และยกเลิกการจองหลักสูตร 418,149 ที่นั่ง

นางเกศทิพย์กล่าวต่อว่า โดย 3 เขตพื้นที่การศึกษาที่มีการลงทะเบียนมากที่สุด ได้แก่ สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ 8,162 ราย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 2 กรุงเทพมหานคร (สพม.2 กทม.) 7,868 ราย และ สพม.เขต 36 (เชียงราย-พะเยา) 7,499 ราย ส่วน 3 เขตพื้นที่ฯ ที่มีการลงทะเบียนน้อยที่สุด ได้แก่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ยะลา เขต 3 จำนวน 560 ราย สพป.เพชรบุรี เขต 2 จำนวน 717 ราย และ สพป.เลย เขต 3 จำนวน 732 ราย และ 3 จังหวัดจัดอบรมที่มีการลงทะเบียนอบรมมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพฯ 76,429 ราย อุบลราชธานี 35,415 ราย และเชียงใหม่ 28,066 ราย ส่วน 3 จังหวัดจัดอบรมที่มีการลงทะเบียนอบรมน้อยที่สุด ได้แก่ นราธิวาส 20 คน ระนอง 103 คน และสตูล 234 คน

นางเกศทิพย์กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ได้เริ่มอบรมเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม – 29 กันยายน จำนวน 2,961 รุ่น จำนวน 207,672 ที่นั่ง จาก 171,853 คน ซึ่งจำนวนดังกล่าวได้ประเมินความพึงพอใจ 79,067 ครั้ง ผลปรากฏว่า โดยรวมพึงพอใจ 4.22 จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 84.40 โดยหลักสูตรที่ได้รับคะแนนในการประเมินมากที่สุด คือ หลักสูตรเอแม็ท และซูโดกุ เพื่อการเรียนการสอนสำหรับครู รุ่นที่ 4 ได้คะแนน 4.21 ส่วนหลักสูตรที่ได้รับคะแนนประเมินต่ำที่สุด คือ สอนอย่างไรให้การศึกษาไทยก้าวทันนานาชาติ รุ่นที่ 6 ได้คะแนน 2.44

“จากหลักสูตรที่ได้รับการรับรองจากสถาบันคุรุพัฒนา สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา จำนวน 1,460 หลักสูตรนั้น ปรากฏว่ามีการจัดอบรมจริงแค่ 908 หลักสูตร ที่เหลือยกเลิก 552 หลักสูตร โดยจำแนกตามสาเหตุ ดังนี้ หน่วยจัดอบรมขอยกเลิก 63 หลักสูตร หลักสูตรที่ไม่มีครูลงทะเบียน 356 หลักสูตร หลักสูตรที่ไม่ถูกโอนเข้าช็อปปิ้งลิสต์เนื่องจากข้อมูลของหน่วยจัดอบรมไม่สมบูรณ์ 133 หลักสูตร เฉพาะในส่วนของหน่วยจัดอบรมยกเลิก มีสาเหตุมาจากหน่วยจัดขอยกเลิกเนื่องจากการจัดไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของการรับรอง กลุ่มเป้าหมายน้อย หรือกลุ่มเป้าหมายมาก ขณะที่วิทยากรไม่พอ เกรงว่าจะติดตามผลได้ไม่ทั่วถึง โดยบางหน่วยจัดถึง 95 รุ่น 4,000 กว่าคน” นางเกศทิพย์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีครูยกเลิกการจองหลักสูตรถึง 4 แสนกว่าที่นั่งนั้น นางเกศทิพย์ กล่าวว่า สาเหตุที่ยกเลิกจำนวนมาก เนื่องจากเป็นการลงทะเบียนเผื่อเลือก จาก 314,183 คน ลงทะเบียนเผื่อเลือกรวม 637,207 ที่นั่ง สาเหตุที่ครูยกเลิก ไม่ใช่เกิดจากการไม่สนใจที่จะพัฒนาตนเอง แต่เกิดจากการที่ครูเลือกตามความต้องการที่จะนำไปใช้จริงๆ มากกว่าที่จะคำนึงถึงว่าจะต้องใช้สิทธิภายในปีงบฯ นั้นๆ ประกอบกับการเข้าอบรมของครู ขึ้นอยู่กับการพิจารณา และอนุมัติของผู้อำนวยการโรงเรียนด้วย อีกทั้ง จากข้อมูลที่ได้รับพบว่าครูกระตืนรือร้นที่จะเข้าอบรมจริงๆ บางคนยอมใช้เงินของตัวเองทดลองจ่ายไปก่อน เพราะรอขั้นตอนการยืมเงินจากเขตพื้นที่ฯ ไม่ไหว ทั้งนี้ หน่วยจัดอบรมจะดำเนินการอบรมต่อไปจนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2560 ยกเว้นหน่วยจัดที่ได้รับการอนุมัติก่อนหน้านั้นจากคณะกรรมการสถาบันคุรุพัฒนา จะดำเนินการจัดอบรมต่อไปตามกำหนดเดิม

นางเกศทิพย์กล่าวด้วยว่า สำหรับการดำเนินการโครงการคูปองพัฒนาครู ประจำปีงบฯ 2561 นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างเปิดให้หน่วยจัดลงทะเบียนรับรหัส ก่อนจัดประชุมเลือกหน่วยจัดในเดือนตุลาคม และการนำเสนอหลักสูตรให้สถาบันคุรุพัฒนาพิจารณารับรองในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งการจัดสรรงบฯ จะเป็นลักษณะรายไตรมาส

“คูปองพัฒนาครูในปีงบฯ 2561 จะปรับปรุงในส่วนที่มีปัญหาหน่วยจัดอบรมเลื่อน หรือยกเลิกแล้วไม่แจ้งครู หรือเลื่อนไปในวันที่ครูไม่ว่าง ทำให้ครูไม่สามารถเดินทางไปอบรมได้ ขณะเดียวกันหน่วยจัดอบรมสะท้อนว่าครูอบรมไม่จริงจัง ฉะนั้น จะปรับปรุงโดยต่อไปสถาบันคุรุพัฒนาจะรับรองเฉพาะเนื้อหาหลักสูตรทางวิชาการ ส่วนการบริหารจัดการ สถานที่ วันที่ หรือรุ่น ให้เป็นหน้าที่ของเขตพื้นที่ฯ เพื่อลดงบฯ ในการเดินทาง เพื่อแก้ไขปัญหาที่ครูไม่ตั้งใจอบรมกับหน่วยจัด เพราะจะมีผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่ฯ ควบคุม อีกทั้ง ช่วยแก้ไขปัญหาการโอนงบฯ ที่ต่อไปจะเป็นการโอนรายไตรมาส ที่สำคัญในระยะยาวเขตพื้นที่ฯ จะมีข้อมูลการอบรมของครูเพื่อใช้ในการวางแผนปฏิรูปการศึกษาต่อไป

 

ที่มา มติชนออนไลน์